อีดิลเฆาะดีร

จาก wikishia

อีดิลเฆาะดีร (ภาษาอาหรับ: عيد الغدير) ตรงกับวันที่ 18 ซุลฮิจญะฮ์ ถือเป็นวันอีดที่ยิ่งใหญ่ของ ชีอะฮ์ ซึ่งเป็นวันที่อิมาม อะลี(อ.) ถูกแต่งตั้งเป็น ตัวแทนศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) และเป็นผู้สืบทอดเจตนารมณ์ของเขา หลังจาก ศาสดา มีริวายัต(คำรายงาน) ยืนยันจากศาสดา ผู้ทรงเกียรติ (ศ็อลฯ) และ บรรดาอิมาม ผู้บริสุทธิ์ (อ.) เกี่ยวกับความประเสริฐของวันนี้ และเช่นเดียวกันในวันนี้ ยังมี การกระทำอะมั้ล ต่างๆ ที่ควรปฏิบัติ ดังนี้ เช่น การถือศีลอด การให้อาหารแก่ผู้ศรัทธา การอ่าน บทซิยาเราะฮ์เฆาะดะรียะฮ์ การทำนมาซวันอีดเฆาะดีร เป็นต้น ขณะที่บรรดาชีอะฮ์ต่างจัดงานเฉลิมฉลองในวันนี้และวันนี้ยังเป็นวันหยุดราชการในประเทศ อิหร่าน อีกทั้งประชาชนในประเทศนี้ จะเดินทางไปเยี่ยมเยียน บรรดาซัยยิด อีกด้วย

เหตุการณ์เฆาะดีร

ในเดือน ซุลเกาะฮ์ดะฮ์ ปีที่ 10 แห่งฮิจเราะฮ์ศักราช ศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ ) พร้อมทั้งผู้ร่วมเดินทางหลายแสนคน ได้เดินทางออกจาก เมืองมะดีนะฮ์ ไปยัง มักกะฮ์ เพื่อประกอบพิธีฮัจญ์(1)และถือว่านี่เป็นการทำ ฮัจญ์ ครั้งสุดท้ายในชีวิตของศาสดา ซึ่งเป็นที่รู้จักกันว่า ฮัจญะตุลวิดาอ์ (2)หลังจากเสร็จสิ้นจากการทำอะมั้ลของฮัจญ์ ศาสดามุฮัมมัด(ศ็อลฯ)พร้อมทั้งบรรดามุสลิม กำลังจะเดินทางไปยังเมืองมะดีนะฮ์ เมื่อวันที่ 18 ซุลฮิจญะฮ์ กองคาราวานได้เดินทางถึงยัง เฆาะดีรคุม(3) ญิบรออีล เทวทูตแห่งพระเจ้า ได้ลงมายังศาสดา(ศ็อลฯ) และนำคำบัญชาจาก อัลลอฮ์ ลงมาด้วย เพื่อให้ศาสนทูตแห่งพระองค์ประกาศว่า อะลี คือ ตัวแทนของเขา(4) และศาสนทูตของพระเจ้าก็ได้เรียกให้บรรดาฮุจญาจมารวมตัวกันเพื่อประกาศว่า อะลี คือ ตัวแทนของเขา(5)

ความประเสริฐของวันเฆาะดีร

มีฮะดีษต่างๆจำนวนมากมายจาก บรรดามะอ์ศูม (อ.)ที่รายงานเกี่ยวกับความประเสริฐของวันเฆาะดีร เช่น:

  • ศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) กล่าวว่า "วันเฆาะดีรคุม เป็นวันอีดที่มีความสูงส่งมากที่สุดของประชาชาติของฉัน ซึ่งเป็นวันที่อัลลอฮ์ (ซ.บ.)ทรงบัญชาให้ฉันประกาศแต่งตั้ง อะลี บินอะบีฏอลิบ(อ.) เป็นตัวแทนของฉัน สำหรับประชาชาติของฉัน ซึ่งพวกเขาจะได้รับทางนำด้วยการชี้นำของเขา หลังจากฉัน และเป็นวันซึ่งพระองค์ทรงทำให้ศาสนาและความโปรดปรานของพระองค์นั้นสมบูรณ์และทรงพอพระทัยที่อิสลามนั้นเป็นศาสนาของพวกเขา(6)"
  • อิมามศอดิก (อ.) กล่าวว่า "วันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและมีความประเสริฐมากที่สุด คือ วันที่ 18 ของเดือนซุลฮิจญะฮ์ ซึ่งเป็นวันที่ศาสนทูตของอัลลอฮ์ได้ประกาศแต่งตั้งอะมีรุลมุอ์มินีน อะลี(อ.) เป็นตัวแทนของเขาแก่มนุษยชาติ"
  • รอวีย์(ผู้รายงาน) ได้ถามอิมามว่า "แล้วอะไรคือสิ่งที่จะต้องปฏิบัติในวันนี้?"

อิมามศอดิก(อ.) ได้ตอบว่า "พวกท่าน จงขอบคุณต่ออัลลอฮ์ด้วยการถือศีลอดและการสรรเสริญต่อพระองค์ในทุกชั่วโมงและผู้ใดก็ตามที่ถือศีลอดในวันนี้ ผลบุญที่เขาจะได้รับเท่ากับการทำอะมั้ลในตลอด 60 ปี ด้วยกัน(7)"

  • รายงานจาก อะลี บินฮุซัยน์ อัลอับดี กล่าวว่า ฉันได้ยิน อะบาอับดิลลาฮ์ อัศศอดิก กล่าวว่า การถือศีลอดในวันเฆาะดีรคุม ผลบุญเท่ากับการถือศีลอดในตลอดชีวิต (จนกระทั่งถึงคำกล่าวที่ว่า) วันนี้เป็นวันอีดที่ยิ่งใหญ่ของอัลลอฮ์และพระองค์ไม่ทรงส่งนะบี(ศาสดา) อื่นใด เว้นแต่พวกเขาได้ถือวันนี้เป็นวันอีดและรู้จักในความศักดิ์สิทธิ์ของมันและชื่อของมันในชั้นฟ้า คือ วันแห่งพันธสัญญา ในแผ่นดิน คือ วันแห่งการมอบพันธสัญญาอันมั่นคง
  • อิมามริฎอ (อ.) กล่าวว่า แท้จริงวันเฆาะดีรในชั้นฟ้านั้นเป็นที่รู้จักยิ่งกว่าในแผ่นดิน ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ หากมาตรแม้นว่า มนุษยชาติรู้จักถึงแก่นแท้ของความประเสริฐของวันนี้ มวลมะลาอิกะฮ์จะอยู่ร่วมกับพวกเขา สิบครั้ง ในทุกๆวัน(9)

ประวัติศาสตร์การเฉลิมฉลองในวันอีดเฆาะดีร

ภาพวาดเกี่ยวกับเฆาะดีรคุม โดยอาจารย์ฟัรชิยอน

ฮัซซาน บินษาบิต คือ บุคคลแรกที่ร่วมแสดงความยินดีต่อหน้าศาสดา ผู้ทรงเกียรติ(ศ็อลฯ) ใน วันเฆาะดีร ท่ามกลางบรรดามุสลิมเป็นจำนวนมากและเขาได้ลุกขึ้นอ่านบทกวีเกี่ยวกับเหตุการณ์เฆาะดีรคุม โดยได้รับการอนุญาตจากศาสดา(11) ในหนังสือ บิฮารุลอันวาร อัลลามะฮ์มัจญ์ลิซี เขียนว่า ฟัยยาฏ บินมุฮัมมัด บินอุมัร ฏูซี รายงานว่า อิมามริฎอ (อ.) ได้จัดงานเฉลิมฉลองในวันเฆาะดีร โดยเขา(ผู้รายงาน)กล่าวว่า ฉันได้เข้าร่วมกับอิมามริฎอ (อ) ในวันเฆาะดีร ขณะที่กลุ่มชนจำนวนหนึ่งได้ร่วมละ ศีลอด กับอิมามและอิมามยังได้ส่งอาหารและของขวัญให้กับพวกเขา(12) มัซอูดี นักรายงานประวัติศาสตร์ ในศตวรรษที่ 4 ฮิจเราะฮ์ศักราช ได้เขียนในหนังสือ อัตตันบีฮ์วัลอัชรอฟ ว่า บรรดาบุตรและชีอะฮ์ของ อิมามอะลี ได้ถือวันนี้เป็นวันที่ยิ่งใหญ่(13) เชคกุลัยนี (มรณะ 328 ฮ.ศ.) ผู้รายงานฮะดีษ ในศตวรรษที่ 4 ได้รายงานด้วยเช่นกันว่า บรรดาชีอะฮ์ได้จัดงานเฉลิมฉลองในวันเฆาะดีร(14) ในยุคสมัยการปกครองของราชวงศ์ อาลิบูเยะห์ เพื่อแสดงถึงสถานภาพอันสูงส่งของวันอีดนี้ ได้ประกาศเป็นวันหยุดราชการและมีการเฉลิมฉลองในวันดังกล่าว ทั้งมีการเชิญชวนให้หน่วยงานภาครัฐและภาคประชาชนจัดงานเฉลิมฉลองตามเมืองต่างๆ(15)โดยมีการตีกลองและเป่าแตร และยังมีการซิยาเราะฮ์สถานฝังศพของบรรดาชะฮีดและการนมาซอีดร่วมกัน และมีการเชือดพลีอูฐ และในยามกลางคืนมีการจุดไฟเพื่้อเฉลิมฉลองและแสดงความดีใจ(16) กุรดีซี ได้ถือวันเฆาะดีร เป็นวันที่ยิ่้งใหญ่ของอิสลามและเป็นวันอีดของชีอะฮ์ (17) ใน อียิปต์ ยุคสมัยคอลีฟะฮ์ ฟาฏิมีย์ วันเฆาะดีร เป็นวันอีดอย่างเป็นทางการค และใน อิหร่าน ปีที่ 907 แห่งฮิจเราะฮ์ศักราช กษัตริย์ชาห์อิสมาอีล ซอฟาวีย์ เข้ามามีอำนาจ ได้ประกาศวันเฆาะดีร เป็นวันอีดอย่างเป็นทางการ และในปี 487 ฮ.ศ. การให้สัตยาบันกับมุสตะอ์ลา บิน มุสตันศิร (จากผู้ปกครองอียิปต์) เกิดขึ้นในวันอีดิลเฆาะดีร(18)

นักวิชาการชาว อะฮ์ลิซซุนนะฮ์ ก็ยอมรับในวันอีดเฆาะดีรคุมเช่นกัน เช่น นะศีบี ชาฟิอี ในหนังสือมะฏอลิบุซซุอูล เขียนว่า เวลาที่ศาสนทูตของ อัลลอฮ์ (ศ็อลฯ) กลับจากการประกอบพิธีฮัจญ์ครั้งสุดท้าย ในวันที่ 18 ซุลฮิจญะฮ์ ณ สถานที่หนึ่ง (เฆาะดีร /แอ่งน้ำ) ระหว่างมักกะฮ์กับมะดีนะฮ์ เรียกกันว่า คุม (ด้วยเหตุนี้ เหตุการณ์นี้จึงเรียกว่า เฆาะดีรคุม) โดยศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) กล่าวว่า ผู้ใดก็ตามที่ฉันเป็นนายของเขา ดังนั้นอะลีก็เป็นนายของเขาเช่นกัน และอะมีรุลมุอ์มินีน อะลี (อ.) ได้อ่านบทกวีซึ่งมีชื่อว่า เฆาะดีรคุม และวันนี้ได้กลายเป็นวันอีด เป็นประเพณีสืบมารและเป็นสถานที่รวมตัวของประชาชน เพราะว่า ศาสนทูตของอัลลอฮ์ได้ยกฐานภาพอันสูงส่งให้กับ อะลี (อ.) และไม่มีผู้ใดที่จะมีฐานภาพเหมือนเขา(19) อิบนุค็อลกาน เขียนในหนังสือ วะฟะยาตุลอะอ์ยาน ในประวัติศาสตร์การให้สัตยาบันกับมุสตะอ์ลา บิน มัสตันศิร ว่า การให้บัยอะฮ์(สัตยาบัน) กับเขาเกิดขึ้นในวันที่ 18 เดือนซุลฮิจญะฮ์ ซึ่งตรงกับวันอีดเฆาะดีร(20) ในประเทศอิหร่าน วันอีดเฆาะดีร เป็นวันหยุดราชการ (21)และในบางจังหวัดของประเทศ อิรัก เช่น เมือง กัรบะลา นะญัฟ และ ซีกอร ประกาศวันอีดเฆาะดีร เป็นวันหยุดอย่างเป็นทางการ(22) และบรรดาชีอะฮ์ถือว่า คืนอีดเฆาะดีร มีความยิ่งใหญ่และยังมีการไม่นอนหลับในยามค่ำคืนอีกด้วย(23)

อะมั้ลในวันอีดเฆาะดีร

  • การถือศีลอด มีรายงานจาก ศาสดามุฮัมมัด(ศ็อลฯ) ในหนังสืออะฮ์ลิซซุนนะฮ์ กล่าวไว้ว่า ผู้ใดก็ตามที่ถือศีลอดในวันที่ 18 ซุลฮิจญะฮ์ อัลลอฮ์(ซ.บ.) จะทรงประทานรางวัลให้กับเขาเท่ากับเขานั้นได้ถือศีลอด 6 วันด้วยกัน(24)
  • การกล่าวแสดงความยินดีในเวลาที่พบปะกับผู้ศรัทธาว่า
"اَلحمدُ لِلهِ الّذی جَعَلَنا مِنَ المُتَمَسّکینَ بِولایةِ اَمیرِالمؤمنینَ و الائمةِ المَعصومینَ علیهم السلام"
คำอ่าน: อัลฮัมดุลิลลาฮิลละซี ญะอัลนา มินัลมุตะมัซซิกีนะ บิวิลายะติอะมีริลมุอ์มินีน วัลอะอิมมะติลมะอ์ศูมีน อะลัยฮิมุสสะลาม

คำแปล : ٌการสรรเสริญทั้งมวลเป็นสิทธิแด่อัลลอฮ์ พระผู้ทรงกำหนดให้พวกเราได้ยึดถือในวิลายะฮ์(ฐานะความเป็นผู้นำ)ของอะมีรุลมุอ์มินีน อะลีและบรรดาอิมาม ผู้บริสุทธิ์ٌ

การนมาซวันอีดเฆาะดีร เวลาที่ทำนมาซวันอีด ช่วงเวลาก่อนเที่ยง วิธีการทำนมาซนี้ รายงานจากอิมามศอดิก(อ.) กล่าวว่า นมาซวันอีดเฆาะดีร มีสองรอกะอัต ในทุกรอกะอัตหลังจากซูเราะฮ์ฟาติฮะฮ์ ให้อ่าน ซูเราะฮ์อัตเตาฮีด 10 ครั้ง อายะตุลกุรซีย์ 10 ครั้ง และ ซูเราะฮ์อัลก็อดร์ 10 ครั้ง ผลบุญของนมาซนี้ เท่ากับ การทำ ฮัจญ์ 100 ครั้ง และ อุมเราะฮ์ 100 ครั้ง และอุปสรรคและความต้องการใดก็ตามทั้งในโลกนี้และโลกหน้าจะถูกขจัดออกไป(27) ส่วนกรณีการอนุญาตให้ทำนมาซนี้ ในรูปแบบ ญะมาอัต(รวม) มีทัศนะที่แตกต่างระหว่างบรรดานักนิติศาสตร์(ฟุกอฮา)(28)

บรรณานุกรม

  • อีดิลเฆาะดีร บัยนุษษุบูตวัลอิษบาต ผู้เขียน อัลลามะฮ์อะมีนี
  • อีดิลเฆาะดีร ฟีลอิสลาม วัตตัตวีฮ์ วัลกุรุบาต เยามุลเฆาะดีร ผู้เขียน อัลลามะฮ์อะมีนี (หนังสือเล่มเล็กภาษาอาหรับ)
  • อีดิลเฆาะดีร ฟี อะฮ์ดิลฟาฏิมียีน ผู้เขียน มุฮัมมัดฮาดีย์ อะมีนี (บุตรชายคนโตของอัลลามะฮ์อะมีนี)
  • อีดุลเฆาะดีร บัยนุษษุบูต วัลอิษบาต ผู้เขียน ซัยยิดอะลี อาดิล อะลาวี

เชิงอรรถ

บรรณานุกรม