ชีอะฮ์

จาก wikishia

ชีอะฮ์ เป็นหนึ่งในสองมัซฮับ (นิกาย) หลักของศาสนาอิสลาม หลักอิมามะฮ์ ถือเป็นหนึ่งในหลักการของมัซฮับชีอะฮ์และมีความแตกต่างกันระหว่างพวกเขากับชาวอะฮ์ลิซซุนนะฮ์ ตามหลักการนี้ อิมามจะต้องได้รับการแต่งตั้งมาจากพระเจ้าและถูกแนะนำให้ประชาชนรู้จักโดยผ่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) ตามพื้นฐานของมัซฮับนี้ ศาสดาแห่งอิสลามได้แต่งตั้งท่านอิมามอะลี (อ.)เป็นผู้สืบทอดตำแหน่งของเขา ด้วยพระบัญชาจากพระผู้เป็นเจ้า

บรรดาชีอะฮ์ทุกคน ยกเว้น สำนักคิดซัยดียะฮ์ ถือว่า อิมามเป็นผู้ที่มีความบริสุทธิ์ปราศจากบาปทั้งปวง และเชื่อว่า อิมามคนสุดท้าย คือ อิมามมะฮ์ดี ผู้ถูกสัญญาไว้ (อ.ญ.) อยู่ในช่วงแห่งการเร้นกายและในวันหนึ่ง เขาจะปรากฏตัวลุกขึ้นต่อสู้เพื่อสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในโลก

ความเชื่อทางหลักศรัทธาของชีอะฮ์บางประการ ได้แก่ ความดีและความชั่วทางสติปัญญา ความบริสุทธิ์ของคุณลักษณะของพระเจ้า อัมรุนบัยนุลอัมร็อยน์(การงานหนึ่งระหว่างการงานทั้งสอง) ความไม่ยุติธรรมของบรรดาเศาะฮาบะฮ์ หลักตะกียะฮ์ การตะวัสซุล และชะฟาอะฮ์

ในมัซฮับชีอะฮ์ เฉกเช่นเดียวกับมัซฮับซุนนี แหล่งที่มาของคำวินิจฉัยทางด้านหลักศาสนบัญญัติ ได้แก่ อัลกุรอาน ซุนนะฮ์ สติปัญญา และอิจญ์มาอ์(มติเอกฉันท์) แน่นอนว่า ในทัศนะของชีอะฮ์ นอกเหนือจากซุนนะฮ์ของศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) แล้ว บรรดาชีอะฮ์ยังยึดเอาซุนนะฮ์ของบรรดาอิมามอีกด้วย กล่าวคิือ การกระทำและคำพูดของพวกเขามาเป็นข้อพิสูจน์อย่างชัดเจน

ปัจจุบันนี้ มัซฮับชีอะฮ์ มีสำนักคิดที่สำคัญอยู่ด้วย สามสำนักคิด ได้แก่ อิมามียะฮ์ อิสมาอีลียะฮ์และซัยดียะฮ์ ชีอะฮ์อิมามีหรือชีอะฮ์สิบสองอิมาม ประกอบขึ้นเป็นประชากรส่วนใหญ่ของชีอะฮ์ พวกเขาเชื่อในอิมามทั้ง 12 คน ซึ่ง คนสุดท้าย คือ อิมามมะฮ์ดี ผู้ถูกสัญญาไว้ (อ.ญ.)

อิสมาอีลียะฮ์ ยอมรับบรรดาอิมาม จนถึงอิมามคนที่ 6 กล่าวคือ อิมามศอดิก (อ.)และหลังจากเขาถัดมา คือ อิสมาอีล บุตรชายคนโตของอิมามศอดิก (อ.)และมุฮัมมัด บุตรของอิสมาอีล ถือว่า เขาเป็นอิมาม และเชื่อว่า เขา คือ อิมามมะฮ์ดี ผู้ถูกสัญญา ขณะที่ ซัยดียะฮ์ไม่ได้จำกัดจำนวนของบรรดาอิมาม และพวกเขาเชื่อว่า ลูกหลานของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (ซ.) ทุกคน ที่เป็นนักวิชาการ นักพรต ผู้กล้าหาญ เป็นคนใจกว้างและเป็นผู้ลุกขึ้นต่อสู้ ล้วนเป็นอิมามทั้งสิ้น

การปกครองของอาลิอิดรีส อะลาวียะฮ์แห่งเฏาะบะริสตาน อาลิบูเยฮ์ ซัยดียะฮ์แห่งเยเมน ฟาฏิมียะฮ์ อิสมาอีลียะฮ์ ซัรบ์ดารอนแห่งซับเซวาร ศอฟะวียะฮ์และสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน ทั้งหมดเหล่านี้ล้วนเป็นระบอบการปกครองของชีอะฮ์ในโลกอิสลาม

ตามรายงานของโครงการวิจัยเกี่ยวกับศาสนาและชีวิตสาธารณะของสำนักวิจัยพิว ระบุว่า ระหว่าง 10 ถึง 13 เปอร์เซ็นต์ของประชากรมุสลิมทั่วโลก เป็นชีอะฮ์ และประชากรของบรรดาชีอะฮ์ คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 154 ถึง 200 ล้านคน โดยบรรดาชีอะฮ์ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในอิหร่าน ปากีสถาน อินเดียและอิรัก

คำนิยาม

ชีอะฮ์ หมายถึง ผู้ปฏิบัติตามอิมามอะลี (อ.) และบรรดาผู้ที่เชื่อว่า ศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ)ได้แต่งตั้งอิมามอะลี (อ)อย่างชัดเจน ให้เป็นผู้สืบทอดตำแหน่งโดยทันที [1] เชคมุฟีด เชื่อว่า คำว่า ชีอะฮ์ เมื่อใช้ร่วมกับ อะลีฟและลาม(อัล) หมายถึง เฉพาะกับบรรดาผู้ที่ปฏิบัติตามอิมามอะลี (อ.) ซึ่งเชื่อว่า เขามีอำนาจและเป็นผู้นำหลังจากศาสดาโดยทันที [2] ในทางกลับกัน ชาวอะฮ์ลิสซุนนะฮ์ กล่าวว่า ศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) ไม่ได้แต่งตั้งผู้สืบทอดของเขา และเนื่องจากมติเอกฉันท์ของบรรดามุสลิมในการให้สัตยาบันต่ออบูบักร์ เขาจึงเป็นผู้สืบทอดของศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) [3]

ตามที่เราะซูล ญะอ์ฟะรียอน นักวิจัยประวัติศาสตร์ชาวชีอะฮ์ กล่าวไว้ว่า จนกระทั่ง ในหลายศตวรรษ หลังจากการถือกำเนิดของศาสนาอิสลาม บุคคลที่มีความรักต่ออะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) และบรรดาผู้ที่ถือว่า อิมามอะลี (อ.) มาก่อนอุษมาน (เคาะลีฟะฮ์คนที่ 3) ถูกเรียกว่า ชีอะฮ์ ด้วยเช่นกัน[4] ซึ่งตรงกันข้ามกับกลุ่มแรก ซึ่งเป็นชีอะฮ์ด้วยหลักศรัทธา [หมายเหตุ 1] พวกเขาจึงถูกเรียกว่า เป็นชีอะฮ์ด้วยความรัก (ผู้ที่มีความรักต่ออะฮ์ลุลบัยต์) [5]

ชีอะฮ์ ทางด้านภาษา หมายถึง ผู้ตาม เพื่อน และกลุ่ม [6]

ประวัติความเป็นมา

มีทัศนะที่แตกต่างกันเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของชีอะฮ์ เช่น ตั้งแต่ช่วงชีวิตของศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) หลังจากเหตุการณ์ซะกีฟะฮ์ การลอบสังหารอุษมาน และหลังจากเหตุการณ์ฮะกะมียะฮ์ ก็ถูกบันทึกว่า เป็นประวัติความเป็นมาของชีอะฮ์ [7] นักวิชาการชีอะฮ์บางคน เชื่อว่า ตั้งแต่ช่วงการมีชีวิตของศาสดาแห่งอิสลาม เศาะฮาบะฮ์บางคนที่อยู่ร่ายล้อมท่านอะลี (อ.) และชีอะฮ์เกิดขึ้นในเวลาเดียวกันนั้น [8] พวกเขาอ้างถึงฮะดีษ[9]และรายงานทางประวัติศาสตร์[10] บนพื้นฐานนี้ ในสมัยของศาสดา ได้มีการแจ้งข่าวดีแก่บรรดาชีอะฮ์ของอะลี (อ.) หรือบางคนถูกกล่าวว่า เป็นชีอะฮ์อะลี (11) หลังจากการเสียชีวิตของศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ)กลุ่มนี้ได้คัดค้านการตัดสินใจของสภาซะกีฟะฮ์ ในการเลือกอะบูบักร์ ขึ้นเป็นเคาะลีฟะฮ์และปฏิเสธที่จะให้คำสัตยาบันต่อเขา ในฐานะเป็นเคาะลีฟะฮ์ [12] นาชี อักบัร เขียนในหนังสือ มะซาอิลุลอิมามะฮ์ว่า ตั้งแต่ยุคสมัยของท่านอะลี (อ.) มีชีอะฮ์ด้วยหลักศรัทธาอยู่แล้ว [13]

ทฤษฎีหลักอิมามะฮ์

ทัศนะของบรรดาชีอะฮ์ ถือว่า ประเด็นหลักอิมามะฮ์ เป็นประเด็นร่วมกันของสำนักคิดต่างๆของชีอะฮ์ [14] หลักอิมามะฮ์ มีสถานภาพที่สำคัญเป็นอย่างมากและเป็นแกนหลักของประเด็นทางเทววิทยาของชีอะฮ์ [15] บรรดาชีอะฮ์ เชื่อว่า อิมาม เป็นผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในการตีความคำวินิจฉัยทางศาสนา หลังจากศาสดามุฮํัมมัด (ศ็อลฯ)[16] ในริวายะฮ์ของบรรดาชีอะฮ์ รายงานว่า สถานภาพของอิมาม คือ หากมีผู้ใดเสียชีวิตโดยที่ไม่รู้จักอิมามของเขา เขาเสียชีวิตในฐานะเป็นผู้ที่ปฏิเสธ [17]

ศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) กล่าวว่า ผู้ใดก็ตามที่ตายและเขาไม่รู้จักอิมามในยุคสมัยของเขา เขาตายในสภาพของผู้ไม่รู้ (การตายในสภาพผู้ที่ปฏิเสธ) ตัฟตาซานี ชัรฮุมะกอศิด 1409 ฮ.ศ. เล่ม 5 หน้า 239

ความจำเป็นในการมีนัศสำหรับอิมาม

บรรดาชีอะฮ์ เชื่อว่า หลักอิมามะฮ์ เป็นหนึ่งในหลักศรัทธาของศาสนา และเป็นตำแหน่งของพระเจ้า กล่าวคือ บรรดาศาสดาไม่สามารถที่จะปล่อยให้ประชาชนเลือกอิมามขึ้นมาเองได้ และจำเป็นที่จะต้องแต่งตั้งผู้สืบทอดของพวกเขา[18] ดังนั้น นักเทววิทยาชีอะฮ์ (ยกเว้น ซัยดียะฮ์ ) [19 ]เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการแต่งตั้งอิมาม (โดยศาสดาหรืออิมามก่อนหน้านี้) [20] และนัศ (คำพูดหรือการกระทำที่บ่งบอกถึงความหมายที่ตั้งใจไว้อย่างชัดเจน) [ 21] พวกเขา ถือว่า เป็นหนทางเดียวที่จะรู้จักอิมามได้[22]

ข้อโต้แย้งของพวกเขา คือ อิมามจะต้องมีความบริสุทธิ์ปราศจากบาปและมีเพียงพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้นที่ทรงทราบเกี่ยวกับความบริสุทธิ์ของมนุษย์ [23] เพราะว่า ความบริสุทธิ์ เป็นคุณลักษณะที่อยู่ภายใน และไม่สามารถบอกถึงความบริสุทธิ์ของผู้อื่น จากรูปลักษณ์ภายนอกของเขาได้ (24) ดังนั้น จึงจำเป็นที่พระผู้เป็นเจ้าจะทรงแต่งตั้งอิมามและแนะนำให้ผู้คนรู้จักโดยผ่านทางศาสดามุฮํัมมัด (ศ็อลฯ) [25]

ในหนังสือเทววิทยาของชีอะฮ์ มีเหตุผลเชิงการรายงานและเชิงสติปัญญาอย่างมากมายที่เกี่ยวกับความจำเป็นของการดำรงอยู่ของอิมามในสังคม[26] โองการ อุลุลอัมร์ และฮะดีษ มันมาตะ เป็นหนึ่งในเหตุผลเชิงการรายงานที่บรรดาชีอะฮ์อ้างถึงความจำเป็นในการดำรงอยู่ของอิมาม(27)การอาศัยกฎแห่งความการุณย์ เป็นเหตุผลเชิงสติปัญญาของพวกเขา ในการอธิบายถึงเหตุผลนี้ พวกเขาเขียนว่า ในด้านหนึ่ง การดำรงอยู่ของอิมาม ทำให้ประชาชนหันมาปฏิบัติตามพระเจ้ามากขึ้นและการกระทำบาปน้อยลง กล่าวอีกนัยหนึ่ง ตามกฎแห่งความการุณย์ เป็นวาญิบสำหรับพระผู้เป็นเจ้าที่จะกระทำทุกการงานด้วยเหตุผลนี้ ฉะนั้น การแต่งตั้งอิมาม จึงถือเป็นวาญิบสำหรับพระองค์[28]

ความบริสุทธิ์ของอิมาม

บรรดาชีอะฮ์ เชื่อในความบริสุทธิ์ของอิมาม และถือว่าเป็นเงื่อนไขของตำแหน่งอิมามะฮ์ [29]ในบริบทนี้ พวกเขาอ้างถึงเหตุผลเชิงการรายงานและเชิงสติปัญญา [30] โองการ อุลุลอัมร์ [ 31 ] โองการ อิบติลาอ์ อิบรอฮีม [32]และและฮะดีษษะเกาะลัยน์ [33]

ในบรรดาชีอะฮ์ ซัยดียะฮ์นั้นไม่เชื่อในเรื่องความบริสุทธิ์ของอิมามทั้งหมด ตามความเชื่อของพวกเขากล่าวไว้ว่า มีเพียงอัศฮาบ กิซาอ์ เท่านั้น กล่าวคือ ศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ )ท่านอะลี(อ.) ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (ซ.) ท่านฮะซัน (อ.)และท่านฮุเซน (อ.) ที่เป็นผู้บริสุทธิ์ [34]ส่วนบรรดาอิมามที่เหลือ ก็เหมือนกับประชาชนทั่วไปที่มีความผิดพลาด [35]

ประเด็นการสืบทอดตำแหน่งของศาสดา

บรรดาชีอะฮ์ เชื่อว่า ศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) ได้แนะนำอิมามอะลี (อ.) แก่ประชาชน ในฐานะเป็นผู้สืบทอดของเขา และถือว่า อิมามะฮ์ เป็นสิทธิพิเศษของเขาและบรรดาบุตรของเขา(36) แน่นอนว่า ในบรรดาคนเหล่านี้ ซัยดียะฮ์ ยังยอมรับถึงการเป็นอิมามะฮ์ของอบูบักร์และอุมัรอีกด้วย แต่พวกเขายังถือว่า อิมามอะลี (อ.) มีความสูงส่งมากกว่าบุคคลทั้งสอง และกล่าวว่า บรรดามุสลิมกระทำความผิดพลาดในการเลือกอุมัรและอบูบักร์ ขึ้นเป็นอิมาม แต่เนื่องจากอิมามอะลี (อ.) มีความพึงพอใจในเรื่องนี้ เราจึงยอมรับในการเป็นอิมามะฮ์ของพวกเขาด้วยเช่นกัน[37]

บรรดานักเทววิทยาชีอะฮ์ กล่าวว่า สำหรับการพิสูจน์ประเด็นการสืบทอดตำแหน่งโดยทันทีของอิมามอะลี (อ.) หลังจากศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) พวกเขาได้ยกหลักฐานจากโองการอัลกุรอานและริวายะฮ์ ในจำนวนเหล่านี้ มีโองการวิลายะฮ์ ฮะดีษเฆาะดีร และฮะดีษมันซิลัต [38]

สำนักคิดของชีอะฮ์

สำนักคิดที่สำคัญที่สุดของชีอะฮ์ ได้แก่ อิมามียะฮ์ ซัยดียะฮ์ อิสมาอีลียะฮ์ ฆอลีย์ กิซานียะฮ์ และวากิฟียะฮ์ (39) บางสำนักคิดเหล่านี้ มีสาขาที่แตกต่างกัน เช่นเดียวกับ ซัยดียะฮ์ ซึ่งมีการกล่าวด้วยกันถึงสิบสาขา (40)และกิซานียะฮ์ ซึ่งแยกออกเป็นสี่สาขา[41] ด้วยเหตุนี้ ทำให้หลายสำนักคิด ถูกเรียกว่าเป็นสำนักคิดชีอะฮ์[42 ]แน่นอนว่า สำนักคิดชีอะฮ์จำนวนมากได้สูญหายไปแล้ว และปัจจุบันนี้ มีเพียงสามสำนักคิดเท่านั้น กล่าวคือ อิมามียะฮ์ ซัยดียะฮ์ และอิสมาอีลียะฮ์ ที่มีผู้นับถืออยู่ [43]

กิซานียะฮ์ เป็นผู้ปฏิบัติตามมุฮัมมัด ฮะนะฟียะฮ์ พวกเขาถือว่า หลังจากอิมามอะลี(อ.) อิมามฮะซัน (อ.)และอิมามฮุเซน (อ.)มุฮัมมัด ฮะนะฟียะฮ์ บุตรชายอีกคนของอิมามอะลี (อ.) เป็นอิมาม และเชื่อว่า มุฮัมมัด ฮะนะฟียะฮ์ ยังไม่ตาย เขาเป็น อิมามมะฮ์ดี ผู้ถูกสัญญาไว้ และเขาอาศัยอยู่ในภูเขาร็อฎวา [44]

วากิฟียะฮ์ หมายถึง บรรดาผู้ที่หยุดตำแหน่งอิมามะฮ์ หลังจากการเป็นชะฮีดของอิมามกาซิม (อ.) โดยพวกเขาถือว่า เขาเป็นอิมามคนสุดท้าย (45) พวกฆอลี เป็นกลุ่มที่พูดเกินจริงเกี่ยวกับสถานภาพของบรรดาอิมามของชีอะฮ์ กล่าวคือ พวกเขาเชื่อในความเป็นพระเจ้าของบรรดาอิมาม พวกเขาไม่ได้ถือว่า พวกเขาเป็นสิ่งถูกสร้างและมีการเปรียบเทียบกับพระเจ้า[46] บรรดาอิมามของชีอะฮ์ ได้ต่อสู้กับขบวนการฆอลีย์ และทุกแนวคิดที่เกินจริง ในช่วงสถานการณ์ต่างๆ [47]

สิบสองอิมาม

ชีอะฮ์สิบสองอิมาม หรือ อิษนาอะชะรียะฮ์ ถือเป็นสำนักคิดที่ใหญ่ที่สุดของมัซฮับชีอะฮ์(48) ตามสำนักคิดอิมามียะฮ์ หลังจากศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ )มี อิมาม 12 คน คนแรกคือ อิมามอะลี (อ)และคนสุดท้ายคือ อิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) [49]ซึ่งขณะนี้ ยังมีชีวิตอยู่ เขาอยู่ในช่วงแห่งการเร้นกาย และวันหนึ่ง เขาจะสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นบนโลก[50]

ร็อจญ์อะฮ์และบะดาอ์ เป็นความเชื่อที่พิเศษของบรรดาชีอะฮ์สิบสองอิมาม (51) ตามหลักคำสอนเรื่องร็อจญ์อะฮ์ หลังจากการปรากฏตัวของอิมามมะฮ์ดี (อ.) ผู้เสียชีวิตบางส่วนจะฟื้นคืนชีพ ผู้เสียชีวิตเหล่านี้ รวมถึงทั้งผู้ที่กระทำความดีและบรรดาชีอะฮ์ และเหล่าศัตรูของอะฮ์ลุลบัยต์ที่คาดว่า จะได้รับการลงโทษสำหรับการกระทำของพวกเขาในโลกนี้(52)บะดาอ์ หมายถึง บางครั้ง พระผู้เป็นเจ้าทรงเปลี่ยนแปลงการงานใดการงานหนึ่ง ซึ่งเปิดเผยต่อศาสดาหรืออิมาม และแทนที่ด้วยการกระทำอื่น เนื่องด้วยความเหมาะสม[53]

บรรดานักเทววิทยาที่สำคัญที่สุดของอิมามียะฮ์ คือ : เชคมุฟีด (336 หรือ 338-413 ฮ.ศ.) เชคฏูซี (385-460 ฮ.ศ.), ควอญะฮ์ นะศีรุดดีน ฏูซี (597-672 ฮ.ศ.) และอัลลามะฮ์ ฮิลลี (648-726 ฮ.ศ.) [54] บรรดานักนิติศาสตร์ของอิมามียะฮ์ที่โดดเด่นที่สุด ได้แก่ ได้แก่: เชคฏูซี มุฮักกิก ฮิลลี อัลลามะฮ์ ฮิลลี ชะฮีดเอาวัล ชะฮีดษานี กาชิฟุลฆิฏออ์ มีรซา กุมมี และเชคมุรตะฎอ อันศอรี [55]

บรรดาชีอะฮ์ส่วนใหญ่ในอิหร่าน ซึ่งคิดเป็นประมาณ 90% ของประชากรทั้งหมด เป็นชีอะฮ์สิบสองอิมาม[56]

ซัยดียะฮ์

ซัยดียะฮ์ เป็นสำนักคิดที่มีความสัมพันธ์ไปยัง ซัยด์ บิน อะลี บิน ฮุเซน (อ.) (57) ตามพื้นฐานของสำนักคิดนี้ ตำแหน่งอิมามะฮ์ มีเพียง อิมามอะลี อิมามฮะซัน อิมามฮุเซน เท่านั้น ที่ได้รับการแต่งตั้งโดยผ่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) (58) นอกเหนือจากบรรดาอิมามทั้งสามแล้ว บุคคลใดก็ตามที่มาจากเชื้อสายของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (ซ.) หากเขาได้ลุกขึ้นต่อสู้ ไม่ว่าเขาจะเป็นนักวิชาการ ผู้สัมถะ เป็นคนใจกว้าง และเป็นผู้กล้าหาญ เขานั้นเป็นอิมาม (59)

ซัยดียะฮ์ มีสองจุดยืนในประเด็นที่เกี่ยวกับการเป็นอิมามะฮ์ของอะบูบักร์และอุมัร กลุ่มหนึ่งมีความเชื่อในตำแหน่งอิมามะฮ์ของบุคคลทั้งสอง ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งกลับไม่ยอมรับบุคคลทั้งสอง (60) ทัศนะของซัยดียะฮ์ในเยเมน ในปัจจุบันนี้ มีความใกล้เคียงกับทัศนะของกลุ่มแรก (61)

ญารูดียะฮ์ ศอลิฮียะฮ์ และซุลัยมานียะฮ์ เป็นสามสาขาของสำนักคิดซัยดียะฮ์ (62) ชะฮ์ริสตานี ผู้เขียนหนังสือ อัลมิลัล วันนะฮัล กล่าวว่า ส่วนมากของซัยดียะฮ์ ได้รับอิทธิพลทางหลักศรัทธามาจากมุอ์ตะซิละฮ์ และทางนิติศาสตร์มาจากมัซฮับฮะนะฟี ซึ่งเป็นหนึ่งในสำนักคิดทางนิติศาสตร์ของอะฮ์ลิสซุนนะฮ์(63)

ตามรายงานจากหนังสือ อัฏลัส ชีอะฮ์ เขียนว่า ในจำนวนประชากร 20 ล้านคนในเยเมน ประมาณ 35 ถึง 40 เปอร์เซ็น เป็นผู้นับถือสำนักคิดซัยดียะฮ์ (64)

อิสมาอีลียะฮ์

อิสมาอีลียะฮ์ เป็นหนึ่งในสำนักคิดของชีอะฮ์ ซึ่งในขณะที่มีศรัทธาต่อการเป็นอิมามะฮ์ของอิมามอะลี (อ.) จนถึงอิมามศอดิก (อ.) แต่หลังจากอิมามศอดิก (อ.) ถือว่า อิสมาอีล บุตรชายคนโตของเขา เป็นอิมาม และไม่ยอมรับการเป็นอิมามะฮ์ของอิมามกาซิม (อ.) และบรรดาอิมามคนอื่นๆ ของอิมามียะฮ์ อิสมาอีลียะฮ์ เชื่อว่า อิมามมีเจ็ดช่วง และแต่ละช่วงเริ่มต้นด้วย นาฏิก หนึ่งคน ซึ่งจะนำเอาหลักศาสนบัญญัติมาใหม่ และในแต่ละช่วง หลังจากนั้น จะมีอิมามเจ็ดคนขึ้นเป็นอิมาม [65]

ตามความเชื่อของอิสมาอีลียะฮ์ นาฏิกในช่วงหกช่วงแรกของการเป็นอิมามะฮ์ คือ บรรดาศาสดาอุลุลอัซม์ กล่าวคือ อาดัม นุฮ์ อิบรอฮีม มูซา อีซาและศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) [66] มุฮัมมัด มักตูม บุตรชายของอิสมาอีล เป็นอิมามคนที่เจ็ดจากช่วงที่หกของการเป็นอิมามะฮ์ ซึ่งเริ่มต้นจากศาสดาของอิสลาม เขาเป็นมะฮ์ดี ผู้ถูกสัญญาไว้ ซึ่งเมื่อเขาจะลุกขึ้นต่อสู้ เขาจะเป็นนาฏิกช่วงที่เจ็ดของการเป็นอิมามะฮ์ (67) กล่าวได้ว่า คำสอนบางส่วนเหล่านี้ มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงสมัยฟาฏิมียะห์ [68]

พวกเขา ถือว่า คุณลักษณะที่สำคัญที่สุดของอิสมาอีลียะฮ์ คือ ความเป็นบาฏินียะฮ์ เพราะพวกเขาได้ตีความโองการอัลกุรอาน ฮะดีษ หลักคำสอน และหลักการปฏิบัติของอิสลามและใช้ความหมายที่ตรงกันข้ามกับภายนอกของสิ่งเหล่านี้ พวกเขาเชื่อว่า โองการอัลกุรอานและฮะดีษ มีลักษณะทั้งภายนอกและภายใน ขณะที่อิมามนั้นรับรู้ถึงภายใน และปรัชญาของการเป็นอิมามะฮ์ คือ การสั่งสอนภายในของศาสนาและการอธิบายหลักคำสอนภายใน [69]

กอฎี นุอ์มาน ได้รับการพิจารณาว่า เป็นนักนิติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของอิสมาอีลียะฮ์[70] และหนังสือของเขา ดะอาอิมุลอิสลาม เป็นแหล่งนิติศาสตร์หลักของสำนักคิดนี้[70] อะบูฮาติม รอซี นาศิร คุซรู และกลุ่มที่เรียกว่า อิควานุศศอฟา ถือ เป็นนักคิดที่โดดเด่นของอิสมาอีลียะฮ์ ด้วยเช่นกัน [71] ริซาละฮ์ของอิควานุศศอฟา และ อะอ์ลามุนนะบูวะฮ์ เขียนโดย อะบูฮาติม รอซี เป็นหนึ่งในหนังสือปรัชญาที่สำคัญที่สุดของพวกเขา [72]

อิสมาอีลียะฮ์ในปัจจุบัน ถูกแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม คือ ออกอ คานีเยะฮ์ และโบห์รา ซึ่งเป็นสาขาที่เหลืออยู่จากกลุ่มฟาฏิมียะฮ์ของอียิปต์ทั้งสองสาขา ได้แก่ อันนิซารียูน และมุสตะอ์ลียะฮ์ [73] กลุ่มแรก มีประมาณหนึ่งล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในประเทศในเอเชีย เช่น อินเดีย ปากีสถาน อัฟกานิสถาน และอิหร่าน (74) กลุ่มที่สอง มีประมาณห้าแสนคน มากกว่า 80% อาศัยอยู่ในอินเดีย [75]

มะฮ์ดะวียะฮ์

มะฮ์ดะวียะฮ์ ถือเป็นหลักคำสอนทั่วไปในทุกมัซฮับของอิสลาม [76] แต่แนวคิดนี้มีสถานภาพที่พิเศษในมัซฮับชีอะฮ์ และได้รับการกล่าวถึงในริวายะฮ์ หนังสือ และบทความต่างๆ อย่างมากมาย [77]

แม้ว่า สำนักคิดชีอะฮ์จะเห็นด้วยกับการดำรงอยู่ของอิมามมะฮ์ดี แต่ก็มีรายละเอียดและตัวอย่างที่แตกต่างกัน บรรดาอิมามชีอะฮ์สิบสองอิมาม เชื่อว่า อิมามมะฮ์ดี เป็น บุตรชายของอิมามฮะซัน อัสกะรี (อ.) เป็นอิมามคนที่ 12 และเป็นคนเดียวกับมะฮ์ดีที่ถูกสัญญาไว้ (อ.ญ.) และอยู่ในช่วงแห่งการเร้นกาย (78) อิสมาอีลียะฮ์ ถือว่า มุฮัมมัด มักตูม บุตรชายของอิสมาอีล บุตรของอิมามศอดิก (อ.)เป็นมะฮ์ดี ผู้ที่ถูกสัญญาไว้ [79] ซัยดียะฮ์ ไม่มีความเชื่อในเรื่องการรอคอย และการเร้นกายหายไป เพราะว่า พวกเขาถือว่า การลุกขึ้นต่อสู้ เป็นเงื่อนไขของอิมาม [80] พวกเขายังถือว่า อิมามทุกคนเป็นมะฮ์ดีและผู้ปลดปล่อย [81]

ทัศนะต่างๆที่สำคัญทางเทววิทยา

ขณะที่บรรดาชีอะฮ์ ต่างมีความเชื่อร่วมกันกับชาวมุสลิมคนอื่นๆ ในหลักศรัทธา หมายถึง หลักเตาฮีด นะบูวะฮ์ และมะอาด พวกเขาก็มีความเชื่อที่ทำให้เกิดความแตกต่างจากอะฮ์ลิสซุนนะฮ์ทั้งหมดหรือบางส่วน นอกเหนือจากสองประเด็นของหลักอิมามะฮ์และมะฮ์ดะวียะฮ์แล้ว ความเชื่อเหล่านั้นยังรวมถึง: ความดีและความชั่วทางสติปัญญาและความบริสุทธิ์คุณลักษณะของพระเจ้า อัมรุน บัยนุลอัมร็อยน์(การงานหนึ่งระหว่างการงานทั้งสอง) การปราศจากความยุติธรรมของเศาะฮาบะฮ์ หลักตะกียะฮ์ การตะวัสซุลและชะฟาอะฮ์

บรรดานักวิชาการชีอะฮ์ เช่น มุอ์ตะซิละฮ์ เชื่อในความดีและความชั่วทางสติปัญญา [82] ความดีและความชั่วทางสติปัญญา หมายถึง การกระทำทั้งหมด จะถูกแบ่งออกเป็นความดีและความชั่ว ไม่ว่า พระเจ้าจะทรงตัดสินว่าดีหรือไม่ก็ตาม [83] คำกล่าวนี้ขัดแย้งกับทัศนะของอัชอะรีย์ ซึ่งมีความเชื่อในความดีและความชั่วทางหลักชัรอีย์ (84) กล่าวคือ พวกเขา กล่าวว่า ความดีและความชั่ว ไม่มีอยู่ในความเป็นจริง และเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นมาเท่านั้น ดังนั้น ทุกสิ่งที่พระเจ้าทรงบัญชา เป็นสิ่งที่ดีและสิ่งใดที่พระองค์ทรงห้าม ถือเป็นสิ่งที่ไม่ดิ [85]

ทฤษฎีความบริสุทธิ์ของคุณลักษณะของพระเจ้า ตรงกันข้ามกับทั้งสองทัศนะ ตะอ์ฏีล และตัชบีฮ์ ซึ่งทัศนะแรกถือว่า ไม่มีคุณลักษณะที่มีความสัมพันธ์ไปยังพระเจ้าได้ ส่วนในอีกทัศนะหนึ่งถือว่า คุณลักษณะของพระองค์มีความคล้ายคลึงกับคุณลักษณะของสิ่งถูกสร้าง [86] ตามความเชื่อของมัซฮับชีอะฮ์ ถือว่า บางคุณลักษณะเชิงบวกที่ใช้สำหรับสิ่งถูกสร้าง สามารถจะมีความสัมพันธ์ไปยังพระเจ้าได้ แต่ไม่ควรถือว่า ในคุณลักษณะเหล่านี้ของพระองค์เหมือนกับสิ่งถูกสร้าง [87] ตัวอย่างเช่น ดังที่ทราบดีว่า มนุษย์มีความรู้ มีพลังอำนาจ และมีชีวิต พระเจ้าก็มีคุณลักษณะเหล่านี้ด้วยเช่นกัน แต่ทว่า ความรู้ พลังอำนาจ และชีวิตของพระองค์ ไม่เหมือนกับความรู้ พลังอำนาจ และชีวิตของมนุษย์ [88]

ตามทัศนะอัมรุนบัยนุลอัมร็อยน์ ถือว่า มนุษย์ไม่ได้เป็นอิสระอย่างสมบูรณ์อย่างที่มุอ์ตะซิละฮ์เชื่อ และไม่ได้ถูกบังคับอย่างสมบูรณ์ ดังที่อะฮ์ลุลฮะดีษกล่าวไว้ (89) แต่ทว่า ในทางกลับกัน มนุษย์มีอำนาจในการกระทำของตน แต่ความประสงค์และอำนาจของเขาไม่ได้เป็นอิสระและต้องขึ้นอยู่กับพระประสงค์ของพระเจ้า (90) ในบรรดาชีอะฮ์ สำนักคิดซัยดียะฮ์เหมือนกับมุอ์ตะซิละฮ์ [91]

บรรดานักเทววิทยาของชีอะฮ์ ตรงกันข้ามกับอะฮ์ลิสซุนนะฮ์ [ 92 ]ไม่เชื่อว่า เศาะฮาบะฮ์ทั้งหมดของศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) มีความยุติธรรม [93] และพวกเขา กล่าวว่า การคบหาสมาคมกับศาสดาเพียงอย่างเดียว ไม่ใช่ข้อพิสูจน์ถึงการมีความยุติธรรม [94]

ยกเว้น ซัยดียะฮ์ [95] บรรดาชีอะฮ์อื่นๆ ถือว่า หลักตะกียะฮ์ เป็นที่อนุญาต กล่าวคือ พวกเขามีความเชื่อว่าในกรณีที่มีการเปิดเผยความศรัทธา อาจนำไปสู่ความเสียหายจากฝ่ายตรงข้าม เราจึงไม่สามารถที่จะเปิดเผยความศรัทธาของเรา และต้องพูดในสิ่งที่ตรงกันข้าม [96]

แม้ว่า การตะวัสซุล จะเป็นแนวคิดทั่วไปในสำนักคิดต่างๆของอิสลาม แต่ก็มีสถานภาพที่สำคัญมากกว่าในบรรดาชีอะฮ์ (97) บรรดาชีอะฮ์ ตรงกันข้ามอะฮ์ลิสซุนนะฮ์บางกลุ่ม รวมถึง วะฮ์ฮาบี [98] พวกเขาเชื่อว่า เป็นการสมควรที่บุคคลหนึ่ง บุคคลใด จะขอดุอาอ์สำหรับการตอบรับจากพระเจ้า และเข้าใกล้ชิดพระองค์มากขึ้นโดยผ่านบรรดาวะลีย์ของพระองค์ [99] ตะวัสซุลและชะฟาอะฮ์มีความสัมพันธ์กันอย่างมั่นคง [100] เชคมุฟีด กล่าวว่า ความหมายของชะฟาอะฮ์ คือ ศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) และบรรดาอิมาม (อ.) สามารถเป็นผู้ให้ชะฟาอะฮ์สำหรับบุคคลที่กระทำบาป ในวันแห่งการฟื้นคืนชีพ และพระเจ้าจะทรงช่วยเหลือผู้คนเหล่านี้ให้รอดพ้นจากการลงโทษด้วยชะฟาอะฮ์ของพวกเขา[101]

นิติศาสตร์

อัลกุรอานและซุนนะฮ์ของศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) ได้รับการพิจารณาโดยบรรดาชีอะฮ์ทั้งหมดว่า เป็นแหล่งที่มาสองประการของหลักศาสนบัญญัติ [102] แต่ทว่า พวกเขามีความเห็นที่แตกต่างในวิธีการใช้ประโยชน์จากทั้งสอง ตลอดจนแหล่งที่มาทางนิติศาสตร์อื่นๆ

บรรดาชีอะฮ์ส่วนใหญ่ กล่าวคือ อิมามียะฮ์และซัยดียะฮ์ เหมือนกับอะฮ์ลิสซุนนะฮ์ นอกเหนือจากอัลกุรอานและซุนนะฮ์ของศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) ยังถือว่า สติปัญญาและอิจญ์มาอ์ (มติเอกฉันท์) เป็นข้อพิสูจน์อีกด้วย (103) แต่ทว่า อิสมาอีลียะฮ์ไม่มีความคิดเห็นเช่นนี้ ตามพื้นฐานของอิสมาอีลียะฮ์ ไม่อนุญาตให้ปฏิบัติตามมุจญ์ตะฮิดคนใด และหลักปฏิบัติทางศาสนบัญญัติ ควรได้รับโดยตรงจากอัลกุรอาน ซุนนะฮ์ของศาสดา และคำสอนของบรรดาอิมาม [104]

ในกรณีซุนนะฮ์นั้น ซัยดียะฮ์พิจารณาเฉพาะในการกระทำและคำพูดของศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) ว่า เป็นข้อพิสูจน์ และอ้างอิงถึงแหล่งที่มาของฮะดีษจากอะฮ์ลิสซุนนะฮ์ เช่น เศาะฮีฮ์ทั้งหก [105] อย่างไรก็ตาม อิมามียะฮ์ และอิสมาอีลียะฮ์ ยังถือว่า ฮะดีษที่มีการรายงานจากบรรดาอิมามของพวกเขา เป็นแหล่งที่มาทางด้านหลักนิติศาสตร์อีกด้วยเช่นกัน [106]

นอกเหนือจากนี้ ซัยดิยะฮ์ เช่นเดียวกับอะฮ์ลิสซุนนะฮ์ ก็ถือว่า กิยาส และอิสติห์ซาน เป็นข้อพิสูจน์ด้วยเช่นกัน (107) แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ถูกต้องในบรรดาชีอะฮ์อิมามียะฮ์และอิสมาอีลียะฮ์ (108) แน่นอนว่า ซัยดียะฮ์ได้เลือกเอาคำฟัตวาของชีอะฮ์ในคำวินิจฉัยบางประการที่ไม่ตรงกันระหว่างอิมามียะฮ์และอะฮ์ลิสซุนนะฮ์ ตัวอย่างเช่น ตรงกันข้ามกับอะฮ์ลิสซุนนะฮ์ โดยพวกเขา ถือว่า คำว่า ฮัยยะ อะลา ค็อยริลอะมัล เป็นส่วนหนึ่งของคำอะซาน และการพูดคำว่า อัศเศาะลาตุ ค็อยรุม มินันเนาว์ม (การนมาซดีกว่าการนอนหลับ) คือ เป็นสิ่งที่ต้องห้ามในอาซาน [109]

เกี่ยวกับการแต่งงานแบบชั่วคราว ซึ่งถือเป็นหนึ่งในประเด็นที่มีการถกเถียงกัน ระหว่างอิมามียะฮ์และอะฮ์ลิสซุนนะฮ์ ขณะที่ อิสมาอีลียะฮ์ และซัยดียะฮ์ ต่างเห็นด้วยกับชาวอะฮ์ลิสซุนนะฮ์[110] กล่าวคือ ตรงกันข้ามกับอิมามียะฮ์ ซึ่งได้อนุญาตให้มีการแต่งงานแบบชั่วคราว โดยพวกเขาถือว่า เป็นสิงที่ต้องห้าม(ฮะรอม) [111]

การกระจายตัวของประชากรและภูมิศาสตร์

ตามสถิติของสำนักวิจัยพิว( Pew Research Center) ระบุว่า ในปี 2014 ประชากรมากกว่า 50% ของอิหร่าน อาเซอร์ไบจาน บาห์เรน อิรักและเลบานอน นับถือนิกายชีอะฮ์ [112]

ในปี 2009 โครงการวิจัยเกี่ยวกับศาสนาและชีวิตสาธารณะ (Pew Forum on Religion and Public Life) ได้ประกาศถึงจำนวนชาวชีอะฮ์ในโลกระหว่าง 154 ถึง 200 ล้านคน และเท่ากับ 10 ถึง 13 เปอร์เซ็นต์ของบรรดามุสลิม[113] แน่นอนว่า บางคนคิดว่า สถิตินี้ไม่ตรงกับความเป็นจริง และจำนวนประชากรที่แท้จริงของชีอะฮ์ มีมากกว่าถึงสามร้อยล้านคน ซึ่งกล่าวคือ 19% ของประชากรมุสลิมทั่วโลก[114]

ตามรายงานของ โครงการวิจัยเกี่ยวกับศาสนาและชีวิตสาธารณะ ระบุว่า 68 ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ของบรรดาชีอะฮ์อาศัยอยู่ในสี่ประเทศ ได้แก่ : อิหร่าน อิรัก ปากีสถานและอินเดีย[115] ตามสถิติของสำนักวิจัยพิว รายงานว่า ในปี 2009 บรรดาชีอะฮ์ มีมากถึง 66 ถึง 70 ล้านคน (37 ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ของบรรดาชีอะฮ์ในโลก) ในอิหร่าน 17 ถึง 26 ล้านคน (10 ถึง 15 เปอร์เซ็นต์) ในปากีสถาน 16 ถึง 24 ล้านคน (14 ถึง 9 เปอร์เซ็นต์) ในอินเดีย 19 ถึง 22 ล้านคน (11-12 เปอร์เซ็นต์) ในอิรัก 7 ถึง 11 ล้านคน (6-2 เปอร์เซ็นต์) ในตุรกี [116] นอกเหนือจากนี้ ประเทศเยเมน อาเซอร์ไบจาน อัฟกานิสถาน ซีเรีย และซาอุดีอาระเบีย ยังอยู่ในกลุ่มประเทศสิบอันดับแรกในแง่ของจำนวนชีอะฮ์ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ [117]

ในอิหร่าน อาเซอร์ไบจาน บาห์เรนและอิรัก ประชากรส่วนใหญ่เป็นชีอะฮ์ [118] ชีอะฮ์อาศัยอยู่ในตะวันออกกลาง แอฟริกาเหนือ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก อเมริกาและแคนาดา [119] จีน[ 120] และประเทศอื่นๆ อีกมากมายในโลก

การปกครอง

การปกครองของอาลิอิดรีส อะลาวียะฮ์แห่งเฏาะบาริสตาน อาลิยูเยห์ ซัยดีแห่งเยเมน ฟาฏิมียะฮ์ อิสมาอีลียะฮ์แห่งอลามุต ซัรบ์ดารอนแห่งซับเซวาร ศอฟะวียะฮ์ และสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน ุถือเป็นระบอบการปกครองของชีอะฮ์ในโลกอิสลาม

การปกครองอาลิอิดรีสในโมร็อกโกและส่วนหนึ่งของแอลจีเรีย [121] ถือเป็นการปกครองครั้งแรกที่บรรดาชีอะฮ์ก่อตั้งขึ้น [122] การปกครองนี้ก่อตั้งขึ้นในปี 172 ฮ.ศ. โดยอิดรีส หลานชายของอิมามฮะซัน มุจญ์ตะบา (อ.)และดำรงอยู่ประมาณสองศตวรรษด้วยกัน (123) เป็นการปกครองของอะละวียะฮ์ ซัยดียะฮ์ [124] ซัยดียะฮ์ ยังปกครองเยเมน ตั้งแต่ 284 ถึง 1382 ฮ.ศ. [125] การปกครองของฟาฏิมียะฮ์และอิสมาอีลียะฮ์แห่งอาลามุต มีการนับถือสำนักคิด อิสมาอีลียะฮ์ [126] มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับราชวงศ์อาลิบูเยห์ บางคน ถือว่า พวกเขานับถือสำนักคิด ซัยดียะฮ์ บางคนบอกว่า เป็นอิมามียะฮ์ และตามข้อมูลอื่นๆ รายงานว่า พวกเขาเป็นซัยดียะฮ์ ตั้งแต่แรกและต่อมาก็กลายเป็นอิมามียะฮ์ [127]

สุลต่าน มุฮัมมัด โคดาบันเดห์ หรือที่รู้จักในชื่อ อุลไจโต (ครองราชย์ 716-703 ฮ.ศ.) หนึ่งในผู้ปกครองราชวงศ์อิลคานี ได้ประกาศให้นิกายชีอะฮ์สิบสอง เป็นนิกายอย่างเป็นทางการของการปกครองของเขาในอิหร่านมาระยะหนึ่งแล้ว แต่เนื่องจากแรงกดดันจากหน่วยงานภาครัฐฯของเขา ซึ่งมีพื้นฐานมาจากนิกายอะฮ์ลิสซุนนะฮ์สุ เขาจึงประกาศให้นิกายอะฮ์ลิสซุนนะฮ์ เป็นนิกายอย่างเป็นทางการอีกครั้ง[128]

การปกครองของซัรบ์ดารอนในซับเซวาร ก็ถือเป็นการปกครองชีอะฮ์ เช่นกัน[129] แน่นอนว่า ตามที่เราะซูล ญะอ์ฟะรียอน กล่าวไว้ว่า นิกายของบรรดาผู้นำและผู้ปกครองของซัรบ์ดารอน นั้นยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่เป็นที่แน่ชัดว่า ผู้นำมัซฮับของพวกเขาเป็นชาวซูฟีและมีแนวโน้มนับถือชีอะฮ์ [130] ควอญะฮ์ อะลี มุอัยยิด ผู้ปกครองคนสุดท้ายของซัรบ์ดารอน [131] ประกาศว่า อิมามียะฮ์ เป็นนิกายอย่างเป็นทางการของรัฐบาลของเขา [132]

ในการปกครองของศอฟะวียะฮ์ (ราชวงศ์ซาฟาวิด) ซึ่งก่อตั้งในปี 907 ฮ.ศ. โดยชาห์ อิสมาอีล นิกายชีอะฮ์สิบสองอิมาม ได้กลายเป็นนิกายอย่างเป็นทางการ [133] การปกครองนี้ได้เผยแพร่มัซฮับอิมามียะฮ์ในอิหร่านและเปลี่ยนอิหร่านให้กลายเป็นประเทศชีอะฮ์โดยสมบูรณ์ [134] ในสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน ใช้พื้นฐานจากหลักการทางศาสนาและหลักนิติศาสตร์ของชีอะฮ์สิบสองอิมาม ด้วยเช่นกัน [135]

อ่านเพิ่มเติม

หนังสือชีอะฮ์ในอิสลาม เขียนโดย อัลลามะฮ์ เฏาะบาเฏาะบาอี : หนังสือเล่มนี้ เขียนเป็นภาษาเปอร์เซีย โดยมีจุดประสงค์เพื่อแนะนำนิกายชีอะฮ์ โดยเฉพาะสำหรับผู้ฟังที่ไม่ใช่ชาวมุสลิม ในผลงานนี้ มีการกล่าวถึงเนื้อหาที่จำเป็นสำหรับการทำความเข้าใจชีอะฮ์ ด้วยภาษาที่เรียบง่ายและมีความกระชับ หนังสือชีอะฮ์ในอิสลามยังได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆอีกด้วย