เตาฮีด
เตาฮีด (หลักความเป็นเอกะของพระเจ้า) ( ภาษาอาหรับ : التوحيد ) เป็นรากฐานศรัทธาที่สำคัญที่สุดในอิสลาม ซึ่งหมายถึง การมีความเชื่อในพระเจ้าเพียงพระองค์เดียว และไม่สามารถที่จะเปรียบเทียบได้ และพระองค์ไม่มีคู่เคียงในการสร้างโลกนี้ ประโยคแรกที่ศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) กล่าวในการเชิญชวนประชาชนให้เข้ารับอิสลาม คือ การให้คำปฏิญาณในความเป็นเอกะของพระเจ้า และการหลีกเลี่ยงจากการตั้งภาคี เตาฮีด ถือเป็นหลักการที่สำคัญในอัลกุรอานและริวายะฮ์ของบรรดาอิมาม ผู้บริสุทธิ์ อีกทั้ง ยังมีซูเราะฮ์อัตเตาฮีด เป็นบทที่กล่าวถึงประเด็นนี้โดยเฉพาะอีกด้วย
ในวัฒนธรรมอิสลาม เตาฮีด ถือเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับการตั้งภาคี และนักวิชาการมุสลิมได้แบ่งระดับขั้นของเตาฮีดออกเป็นหลายระดับ ซึ่งมีดังนี้: เตาฮีด ซาตีย์ หมายถึง การมีความศรัทธาในความเป็นหนึ่งเดียวของพระเจ้าเพียงพระองค์เดียว เตาฮีด ศิฟาตีย์ หมายถึง ความเป็นเอกะของพระเจ้าในด้านคุณลักษณะ เตาฮีด อัฟอาลีย์ หมายถึง การที่พระเจ้าไม่ต้องการผู้ช่วยเหลือหรือผู้สนับสนุนใดๆ ในการกระทำของพระองค์ และเตาฮีด อิบาดีย์ หมายถึง ไม่มีผู้ใดที่ควรได้รับการเคารพภักดีและการบูชา นอกจากพระเจ้าเท่านั้น ระดับขั้นเหล่านี้ถูกแบ่งเป็นสี่ระดับ โดยระดับขั้นแรก คือ เตาฮีด ซาตีย์ และระดับขั้นสูงสุด คือ เตาฮีด อัฟอาลีย์
มีข้อพิสูจน์และเหตุผลมากมายสำหรับการพิสูจน์เตาฮีดในโองการทั้งหลายจากอัลกุรอาน ฮะดีษต่างๆของบรรดาอิมาม ผู้บริสุทธิ์ และผลงานประพันธ์ของบรรดานักปรัชญาและนักเทววิทยามุสลิม ตัวอย่างของหลักฐานเหล่านี้ มีดังนี้ ข้อพิสูจน์ตะมานุอ์ ข้อพิสูจน์การแต่งตั้งบรรดาศาสดา ข้อพิสูจน์ตะอัยยุน
กลุ่มอะฮ์ลิสซุนนะฮ์บางกลุ่ม เช่น อิบนุ ตัยมียะฮ์ มุฮัมมัด บิน อับดุลวะฮ์ฮาบ และอับดุลอะซีซ บินบาซ ถือว่า ความเชื่อในเรื่องชะฟาอะฮ์ ตะวัซซุล ต่อบรรดาศาสดาและเอาลิยาอ์ของพระเจ้า หลังจากที่พวกเขาได้เสียชีวิตไปแล้ว เป็นสัญญาณของการตั้งภาคีและการไม่เชื่อในเตาฮีด อิบาดีย์ ขณะที่บรรดาชีอะฮ์ได้อ้างอิงจากอัลกุรอานเพื่อพิสูจน์ว่า ความเชื่อนี้ เป็นข้อกล่าวหาที่ผิดพลาด โดยชี้ให้เห็นว่า ชาวมุสลิมไม่เหมือนกับผู้บูชารูปปั้น เพราะพวกเขาไม่ถือว่า ศาสนทูตเป็นพระเจ้าหรือผู้ปกครองจักรวาล และความตั้งใจในการให้เกียรติบรรดาศาสนทูตและเอาลิยาอ์ของพระองค์ คือการเข้าใกล้ชิดพระเจ้าโดยผ่านพวกเขา บรรดานักวิชาการชีอะฮ์ได้กล่าวถึงเตาฮีดในผลงานประพันธ์หลายชิ้น หนังสือบางเล่มกล่าวถึงเตาฮีดโดยตรง ขณะที่บางเล่มมีการกล่าวถึงเตาฮีดในส่วนหนึ่งของหนังสือ เช่น กิตาบ อัตเตาฮีด เชคศอดูก โกฮัรมุรอด เขียนโดย อับดุรร็อซซาก ลาฮีญี อัรริซาอิลอัตเตาฮีดียะฮ์ เขียนโดยอัลลามะฮ์ ฏอบาฏอบาอี และเตาฮีด เขียนโดย มุรตะฎอ มุเฏาะฮ์ฮะรี
ความหมาย
เตาฮีด หมายถึง ความเชื่อในความเป็นเอกะของพระเจ้า เป็นหลักศรัทธาขั้นพื้นฐานที่สุดของอิสลาม[๑] ชาวมุสลิม เชื่อว่า พระเจ้าเป็นผู้สร้างจักรวาลเพียงผู้เดียวและไม่มีหุ้นส่วน [๒] เตาฮีดถูกกล่าวในฮะดีษต่างๆที่รายงานจากศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) และบรรดาอิมามของชีอะฮ์ รวมทั้ง อิมามอะลี (อ.) และอิมามศอดิก (อ.) เพื่อเป็นการปฏิญาณด้วยคำกล่าวว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใด นอกจากอัลลอฮ์เพียงองค์เดียว ไม่มีภาคีใดสำหรับพระองค์ และประโยคที่คล้ายกันนี้ [๓]
คำว่า เตาฮีด ยังใช้เพื่ออ้างถึงการอภิปรายทางเทววิทยาที่เกี่ยวข้องกับความเป็นเอกะของพระเจ้า คุณลักษณะและการกระทำของพระองค์ ในการตอบคำถามเกี่ยวกับความหมายของ เตาฮีด อิมามศอดิก (อ.) และอิมามริฎอ (อ.) ได้อ้างถึงการอภิปรายทางเทววิทยาบางอย่าง รวมถึงการปฏิเสธคุณลักษณะของมนุษย์จากพระเจ้า [๔]
วิสัยทัศน์สามประการต่อเตาฮีดในมิติทางเทววิทยา ปรัชญา และอิรฟาน
เตาฮีดเชิงเทววิทยา มีพื้นฐานอยู่ที่การยอมรับในความเป็นเอกะของพระเจ้า
เตาฮีดเชิงปรัชญา อาศัยความศรัทธาที่เกิดจากความเชื่ออย่างมีเหตุผลในความเป็นเอกะของพระเจ้า
เตาฮีดเชิงอิรฟาน บนพื้นฐานของการหยั่งรู้และการเข้าถึงความเป็นเอกะของพระเจ้า [๕]
ในมิติปรัชญา เตาฮีดมุ่งเน้นไปที่การทำความเข้าใจถึงความเป็นหนึ่งของ วาญิบุลวุญูด ในเชิงความหมาย แต่ในมิติทางอิรฟาน เตาฮีด ไม่มีการพูดถึงความหมายหากแต่เกี่ยวกับการเข้าถึงเตาฮีด หมายถึง พระเจ้าเป็นวาญิบุลวุญูด เพียงพระองค์เดียวและเป็นแหล่งที่มาของทุกสิ่งที่ดำรงอยู่ [๖]
บรรดานักปรัชญาได้มุ่งเน้นไปที่การพิสูจน์เตาฮีดของวาญิบุลวุญูด ผ่านการใช้เหตุผลและตรรกะ ในขณะที่ อาริฟ มุ่งสู่การสัมผัสและเข้าถึงเตาฮีด ด้วยประสบการณ์และการหยั่งรู้ภายในของตนเอง
อย่างไรก็ตาม สำนักคิดฮิกมะฮ์ อัลมุตะอาลียะฮ์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับมุลลา ศ็อดรอ ชีรอซี ถือเป็นการผสมผสานระหว่างอัลกุรอาน อิรฟาน และการพิสูจน์ทางปรัชญา โดยในปรัชญานี้ มีการแสดงการหยั่งรู้เชิงจิตวิญญาณควบคู่ไปกับการอภิปรายเชิงตรรกะและเหตุผล [๗]
สถานภาพของเตาฮีดในอิสลาม
เตาฮีด ถือเป็นหลักคำสอนอิสลามที่สำคัญที่สุดและเป็นรากฐานของศาสนาแห่งฟากฟ้า [๘] ตามการเปิดเผยของอัลกุรอาน ระบุว่า เป้าหมายหลักและสารของศาสดาทั้งหมด คือ การมีความเชื่อในเตาฮีด [๙] อัลลามะฮ์ ฏอบาฏอบาอี ถือว่า เตาฮีดในหนังสืออัลมีซาน เป็นเป้าหมายสูงสุดและหลักของศาสนา ซึ่งไม่มีสิ่งใดมาแทนที่ได้ [๑๐] แม้ว่า คำว่า เตาฮีด จะไม่ปรากฏอัลกุรอาน แต่มีหลายโองการที่กล่าวถึงการพิสูจน์เตาฮีดและการปฏิเสธการตั้งภาคี [๑๑] มุลลา ศ็อดรอ ในหนังสือตัฟซีรของเขา ถือว่า เป้าหมายหลักของอัลกุรอาน คือ การพิสูจน์เตาฮีดของพระเจ้า [๑๒]
การปฏิญาณถึงความเป็นเอกะของพระเจ้าและการหลีกเลี่ยงการตั้งภาคี เป็นคำกล่าวแรกที่ศาสดาแห่งอิสลามได้กล่าวในช่วงเริ่มต้นของการเชิญชวนอย่างเปิดเผยต่อประชาชนชาวมักกะฮ์ [๑๓] ตัวแทนของศาสดา รวมทั้ง มูอาซ อิบนุ ญะบัล ผู้ซึ่งเดินทางไปยังดินแดนต่างๆ เพื่อเผยแผ่อิสลาม มักจะเชิญชวนให้ผู้คนยอมรับความเป็นเอกะของพระเจ้า [๑๔] นักวิชาการมุสลิมบางคน ซึ่งอาศัยสถานภาพพิเศษและสำคัญของหลักคำสอนเรื่องเตาฮีดในอิสลาม เรียกชาวมุสลิมว่า ผู้นับถือเตาฮีด [๑๕] และถือว่า เตาฮีดเป็นสัญลักษณ์ของการเป็นมุสลิม [๑๖] อิมามอะลี (อ.) ถือว่า ความเชื่อในเตาฮีดและความเป็นเอกะของพระเจ้า เป็นพื้นฐานของการรู้จักพระองค์ [๑๗] จุดเริ่มต้นของศาสนา คือการรู้จักพระองค์ และความสมบูรณ์แบบของความรู้จักพระองค์ คือ การยืนยันถึงพระองค์ และความสมบูรณ์แบบของการยืนยันถึงพระองค์คือเตาฮีดของพระองค์ [๑๘]
เตาฮีดและความเป็นเอกะของพระเจ้า พร้อมด้วยการตีความและวลีต่างๆ ได้รับการเน้นย้ำหลายครั้งในอัลกุรอานอันทรงเกียรติ รวมถึงในซูเราะฮ์อัตเตาฮีด ซึ่งพระเจ้า ถูกเรียกว่า อะฮัด (หนึ่งเดียว) [๑๙] การปฏิเสธพระเจ้าอื่น ความเป็นหนึ่งเดียวของพระเจ้า พระเจ้าองค์เดียวสำหรับทุกสิ่ง พระเจ้าแห่งจักรวาล การประณามผู้ที่เชื่อในการมีอยู่ของพระเจ้าหลายองค์ การเน้นย้ำถึงการปฏิเสธความเชื่อในพระเจ้าหลายองค์ การปฏิเสธคำกล่าวอ้างของผู้ที่อ้างว่า เชื่อในตรีเอกะและลัทธิตรีเอกะ และการปฏิเสธความเหมือนหรือความคล้ายคลึงกับพระเจ้า เป็นแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับเตาฮีดที่ปรากฏในอัลกุรอานอันทรงเกียรติ [๒๐] โองการจากอัลกุรอานที่กล่าวถึงพระเจ้าเพียงองค์เดียวโดยตรง มีดังนี้ :
จงกล่าวเถิดว่า: พระองค์ คือ พระเจ้าองค์เดียว [๒๑]
ไม่มีพระเจ้าอื่นใด นอกจากอัลลอฮ์ [๒๒]
ไม่มีพระเจ้าอื่นใด นอกจากพระองค์ [๒๓]
พระเจ้าของพวกเจ้า คือพระเจ้าองค์เดียว [๒๔]
ไม่มีพระเจ้าอื่นใด นอกจากอัลลอฮ์ [๒๕]
ระดับขั้นของเตาฮีด
บรรดานักเทววิทยา อาริฟ และนักปรัชญาชาวมุสลิมจำนวนมาก ซึ่งอาศัยอัลกุรอานและริวายะฮ์ต่างๆของศาสดาแห่งอิสลามและบรรดาอิมามของชีอะฮ์ ได้กล่าวถึงระดับขั้นของเตาฮีด โดยระดับแรก คือ ความเป็นเตาฮีดซาตีย์ จากนั้น จึงเป็นเตาฮีดศิฟาตีย์และเตาฮีดอัฟอาลีย์ และระดับขั้นที่สูงสุด คือ เตาฮีดอิบาดีย์ [๒๖]
เตาฮีดทางทฤษฎีและทางการปฏิบัติ
บรรดานักคิด เช่น มุเฏาะฮ์ฮะรี ญะวาดี อามุลี และบุคคลอื่นๆ ได้จำแนกระดับของเตาฮีดในอีกกลุ่มหนึ่ง ออกเป็นสองสาขา ได้แก่ เตาฮีดทางทฤษฎีและเตาฮีดในทางการปฏิบัติ [๒๗] และได้จัดระดับสามระดับแรก เป็นเตาฮีดทางทฤษฎีและเตาฮีดอิบาดีย์ อยู่ในเตาฮีดทางการปฏิบัติ [๒๘]
ในอัลกุรอานและวัฒนธรรมอิสลาม เตาฮีด ถือเป็นสิ่งตรงข้ามกับชิรก์ (การตั้งภาคี) และการต่อสู้การตั้งภาคี เป็นหนึ่งในหัวข้อหลักของอัลกุรอาน อันทรงเกียรติ [๒๙] ชาวมุสลิมมีความเชื่อในระดับขั้นของเตาฮีด พวกเขายังได้ระบุระดับของชิรก์อีกด้วย [๓๐] บนพื้นฐานนี้ ความเชื่อในความหลากหลายในอาตมันของพระเจ้า จึงเรียกว่า ชิรก์ในอาตมัน [๓๑] และความเชื่อที่ว่า โลกมีผู้กระทำที่เป็นอิสระมากกว่าหนึ่งคน จึงเรียกว่า ชิรก์ในการกระทำ หรือชิรก์ฟาอีลีย์ [๓๒] นอกจากนี้ ความเชื่อในการแบ่งแยกคุณลักษณะของพระเจ้าออกจากอาตมันของพระองค์ คือ ชิร์กศิฟาตีย์ [๓๓] และการบูชาพระเจ้าพระองค์อื่นที่ไม่ใช่พระเจ้าองค์เดียว เรียกว่า ชิรก์ในอิบาดะฮ์ [๓๔]
เตาฮีดซาตีย์ เตาฮีดซาตีย์ เป็นระดับขั้นแรกของเตาฮีด [๓๕] และอีกความหมายอย่างหนึ่งคือ ความเชื่อในเอกะและการไม่เสมือนสิ่งใดของพระเจ้า หรือสิ่งทดแทนพระองค์ อายะฮ์ที่สี่ของซูเราะฮ์อัตเตาฮีด (และพระองค์ไม่เสมอเหมือนผู้ใดเลย) ได้ถูกเข้าใจว่ามีความหมายนี้ [๓๖] ความหมายอีกอย่างของเตาฮีดซาตีย์ คือ อาตมันของพระเจ้าไม่ขึ้นอยู่กับพหุหรือความเป็นสอง และไม่มีความเหมือนหรือความคล้ายคลึง [๓๗] ดังที่กล่าวไว้ในอายะฮ์แรกของซูเราะฮ์อัตเตาฮีด (จงกล่าวเถิดว่า พระองค์คือ อัลลอฮ์เพียงหนึ่งเดียว) [๓๘]
เตาฮีด ศิฟาตีย์
เตาฮีด ศิฟาตีย์ มีความหมายว่า อาตมันของพระเจ้าเป็นหนึ่งเดียวกับคุณลักษณะของพระองค์ เตาฮีด ศิฟาตีย์ หมายถึง การรับรู้และยอมรับว่า อาตมันของพระเจ้าเป็นหนึ่งเดียวกับคุณลักษณะของพระองค์และคุณลักษณะต่างๆของพระองค์เป็นหนึ่งเดียวกันซึ่งกันและกัน [๓๙] ตัวอย่างเช่น พระเจ้า เป็นผู้รอบรู้ ไม่ใช่ในแง่ที่ว่าความรู้ของพระองค์ถูกเพิ่มเข้ากับอาตมันของพระองค์ แต่ในแง่ที่ว่าพระเจ้าเป็นหนึ่งเดียวกับความรู้อย่างแท้จริง ต่างจากมนุษย์ที่ความรู้และพลังอำนาจนั้นอยู่ภายนอกแก่นแท้ของเขาและค่อยๆ เพิ่มเข้ามา [๔๐] นอกจากจะไม่แยกจากพระเจ้าแล้ว คุณลักษณะของพระองค์ก็จะไม่แยกออกจากกันด้วย ซึ่งหมายความว่า ความรู้ของพระเจ้า คือ พลังอำนาจของพระองค์ และการดำรงอยู่ทั้งหมดของพระเจ้า คือความรู้ พลังอำนาจ และคุณลักษณะสำคัญอื่นๆ ของพระองค์ [๔๑] ตามคำกล่าวของ มิศบาห์ ยัซดี ระบุว่า เตาฮีด ศิฟาตีย์ ในคำศัพท์ของนักปรัชญาและนักเทววิทยา คือ คุณลักษณะต่างๆ เช่น ความรู้ การมีชีวิต และพลังอำนาจ ที่เรามอบให้กับพระเจ้า ผู้สูงส่งนั้น แท้จริงแล้วไม่ใช่สิ่งอื่นใด นอกจากอาตมันของพระองค์ คุณลักษณะเหล่านี้เป็นหนึ่งเดียวกับอาตมันและเหมือนกันทุกประการ ความแตกต่างระหว่างคุณลักษณะเหล่านี้กับอาตมันและระหว่างกันนั้น เป็นเพียงความหมายเท่านั้น [๔๒] อัลกุรอาน อันทรงเกียรติได้ประกาศว่า พระเจ้าทรงบริสุทธิ์จากคุณลักษณะที่เรามอบให้กับพระองค์ [๔๓] อิมามศอดิก (อ.) ในคำกล่าวที่รายงานจากอะบูบะศีร ถือว่า ความรู้ การได้ยิน การมองเห็น และพลังอำนาจของพระเจ้า เป็นอาตมันของพระองค์ และระบุว่า พระเจ้าทรงได้ยินและมองเห็น ก่อนสิ่งที่จะได้ยินหรือมองเห็น [๔๔]
เตาฮีด อัฟอาลีย์
เตาฮีด อัฟอาลีย์ หมายความว่า พระเจ้า พระองค์มีอาตมันเดียว จึงไม่มีหุ้นส่วนในการกระทำของพระองค์ รวมถึงการสร้างสรรค์ ความเป็นพระผู้อภิบาล ความเป็นเจ้าของ และการมีอำนาจสูงสุดในการสร้างสรรค์ [๔๕] ข้อกำหนดเบื้องต้นสำหรับความศรัทธาต่อเตาฮีด อัฟอาลีย์ คือ จักรวาลทั้งหมด เป็นการกระทำของพระเจ้า และแหล่งที่มาหลักของการกระทำทั้งหมดของปวงบ่าวและสิ่งถูกสร้างทั้งหลาย คือ พระองค์ [๔๖] สิ่งมีชีวิตในโลกนี้ไม่มีอิสระในแก่นแท้ ดังนั้น ทุกสิ่งจึงขึ้นอยู่กับพระองค์ และตามถ้อยคำในอัลกุรอาน พระองค์ คือ ก็อยยูม (ผู้ทรงบริหาร) โลกทั้งหมด และพระองค์ไม่เป็นอิสระในสถานภาพของผลสะท้อนและเหตุ ด้วยเหตุนี้ พระเจ้าจึงไม่มีหุ้นส่วนในอาตมันของพระองค์ หรือในการกระทำของพระองค์ [๔๗]
อัลกุรอาน เรียกพระเจ้าว่า ผู้ทรงสร้างทุกสรรพสิ่งและทรงอำนาจสูงสุดเพียงผู้เดียว [๔๘] อิมามศอดิก (อ.) ถือว่า พระเจ้าเป็นผู้เดียวเท่านั้นที่สามารถสร้างสิ่งใดๆ จากความว่างเปล่า และเป็นผู้เดียวเท่านั้นที่สามารถถ่ายโอนสิ่งมีชีวิตจากสิ่งที่มีอยู่ไปสู่ความว่างเปล่าได้ [๔๙]
เตาฮีด อิบาดีย์
เตาฮีด อิบาดีย์ หมายความว่า การมีความเชื่อที่ว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่คู่ควรแก่การเคารพภักดี และการบูชา ยกเว้น อัลลอฮ์ และการอิบาดะฮ์นั้นสงวนไว้สำหรับพระองค์เท่านั้น [๕๐] การเชิญชวนให้เคารพภักดีพระเจ้าองค์เดียว บนพื้นฐานของอัลกุรอาน เป็นแบบแผนหลักของบรรดาศาสดา ผู้เผยแผ่ศาสนาทุกคน [๕๑] เตาฮีด อิบาดีย์ สามารถเห็นได้จากบางโองการของอัลกุรอาน เช่น ในซูเราะฮ์อันนะฮ์ล ซึ่งระบุว่า มีศาสดาหนึ่งถูกส่งมาจากทุกประชาชาติเพื่อเชิญชวนให้พวกเขาเคารพภักดีต่อพระเจ้าเพียงองค์เดียวและหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามเหล่าผู้ปกครองที่อธรรม [๕๒] ในโองการอื่นๆของอัลกุรอาน ศาสดาท่านถูกห้ามไม่ให้เคารพภักดีผู้ที่เรียกร้องต่อผู้อื่น นอกเหนือจากอัลลอฮ์ และได้รับคำสั่งให้เคารพภักดีต่อผู้ทรงสร้างโลกทั้งผอง [๕๓]
ในวจนะของศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ)ที่กล่าวกับพวกตั้งภาคี โดยศาสดาได้ถามพวกเขาว่า : เมื่อพวกท่านเคารพภักดีรูปปั้นและรูปเคารพที่เป็นปวงบ่าวของอัลลอฮ์ และทำการซุญูดพวกเหล่านี้ หรือทำนมาซและวางรูปเคารพเหล่านี้ไว้บนพื้นดิน พวกท่านได้ทิ้งอะไรไว้ให้กับพระเจ้าแห่งโลกทั้งมวล? [๕๔] ตามคำกล่าวของศาสดา ระบุว่า สิทธิประการหนึ่งของผู้ที่ได้รับการเคารพภักดีและเคารพบูชานั้นไม่ควรเทียบได้กับปวงบ่าวของพระองค์ [๕๕]
เหตุผลของเตาฮีด
ในอัลกุรอาน ระบุว่า มีริวายะฮ์ต่างๆจากบรรดามะอ์ศูม และผลงานของนักปรัชญาและนักเทววิทยาของอิสลาม ที่กล่าวถึงเหตุผลสำหรับการพิสูจน์เตาฮีดของพระเจ้า และเหตุผลบางส่วน มีดังนี้ :
ข้อพิสูจน์ ตะมานุอ์ ซึ่งได้รับมาจากโองการที่ว่า หากในนั้นมีพระเจ้าอื่นใด นอกจากอัลลอฮ์ พวกมันก็จะพินาศ (๕๖) สำหรับการพิสูจน์เตาฮีดของพระเจ้า โดยการปฏิเสธการตั้งภาคี [๕๗] ในการอธิบายข้อพิสูจน์นี้ กล่าวกันว่า หากสมมุติว่ ามีพระเจ้าสององค์ และองค์หนึ่งต้องการสิ่งหนึ่งและอีกองค์หนึ่งต้องการสิ่งที่ตรงข้ามกัน สมมติฐานสามประการ จึงมีความเป็นไปได้ :
เจตจำนงของทั้งสองเป็นจริง ในกรณีนี้ จะเกิดการรวมกันของสิ่งที่ตรงข้ามกัน ซึ่งถือว่า เป็นไปไม่ได้
เจตจำนงของทั้งสองไม่เป็นจริง สมมติฐานนี้ บ่งชี้ถึงความไร้ความสามารถและความช่วยเหลือไม่ได้ของพระเจ้าทั้งสององค์
เจตจำนงของหนึ่งในสองเป็นจริง ในกรณีนี้ จะเห็นได้ชัดว่า หนึ่งในสององค์ไร้ความสามารถและความช่วยเหลือไม่ได้ และอีกองค์หนึ่ง คือพระเจ้าที่แท้จริง [๕๘]
ข้อพิสูจน์เรื่ององค์ประกอบ ซึ่งเป็นข้อพิสูจน์ประการหนึ่งของปรัชญาอิสลาม มีพื้นฐานอยู่บนการพิสูจน์เตาฮีดของพระเจ้าโดยอ้างถึงการปฏิเสธความเป็นองค์ประกอบในพระเจ้า ตามหลักการนี้ ระบุว่า ข้อกำหนดในความศรัทธาต่อพระเจ้าสององค์ คือความเชื่อในการมีองค์ประกอบและการสร้างวาญิบุลวุญูด (สิ่งจำเป็นต้องมีอยู่) สองอย่าง และเนื่องจากทุกสิ่งที่มีองค์ประกอบต้องการตัวการที่สร้างองค์ประกอบนั้น ดังนั้น สิ่งที่มีองค์ประกอบ จึงไม่สามารถที่จะเป็นวาญิบุลวุญูดและจะต้องมีองค์เดียว จึงจะเป็นวาญิบุลวุญูดได้ ด้วยเหตุนี้ การเป็นองค์ประกอบจึงขัดแย้งกับความเป็นวาญิบุลวุญูด และผลลัพท์ คือ วาญิบุลวุญูด สามารถจะมีได้เพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น [๕๙]
นอกเหนือจากสิ่งที่กล่าวข้างต้นแล้ว ข้อพิสูจน์ต่างๆ เช่น ข้อพิสูจน์ ตะอัยยุน ข้อพิสูจน์ของการปฏิเสธความหลากหลาย ข้อพิสูจน์ความเป็นไปได้ และข้อพิสูจน์การแต่งตั้งบรรดาศาสดา ยังถูกกล่าวไว้ในปรัชญาและเทววิทยาอิสลาม [๖๐] อิมามอะลี (อ.) เขียนในจดหมายถึงอิมามฮะซัน บุตรชายของเขา ว่า มีเหตุผลหนึ่งสำหรับการพิสูจน์ความเป็นหนึ่งเดียวของพระเจ้า และระบุว่า หากพระเจ้ามีภาคี พวกเขาก็จะต้องมีศาสดาทั้งหลายส่งมายังปวงบ่าว [๖๑] นักศาสนศาสตร์มุสลิมได้กล่าวถึงข้อพิสูจน์นี้ในผลงานของพวกเขาว่า เป็นข้อพิสูจน์การแต่งตั้งบรรดาศาสดา[๖๒]
ข้อกล่าวหาว่า ชีอะฮ์เป็นผู้ตั้งภาคี
พวกวะฮ์ฮาบีย์ ถือว่า ความศรัทธาของบรรดาชีอะฮ์ เกี่ยวกับการชะฟาอะฮ์ การตะวัซซุลต่อบรรดาศาสดาและเอาลิยาอ์ของพระเจ้า และการตะบัรรุกหลุมศพและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ร่องรอยของบรรดาศาสดาและเอาลิยาอ์ของพระองค์ เป็นการตั้งภาคีต่อพระเจ้า [๖๓] อย่างไรก็ตาม บรรดาชีอะฮ์ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหานี้และเชื่อว่า ชาวมุสลิมที่ปฏิบัติเช่นนี้ไม่มีเจตนาจะเคารพภักดีและบูชาบรรดาศาสดาและเอาลิยาอ์ของพระเจ้าและไม่ถือว่า พวกเขาเป็นพระเจ้า และเจตนาเพียงอย่างเดียวของพวกเขา คือ การให้เกียรติบรรดาศาสดาและเอาลิยาอ์ของพระองค์ และการเข้าใกล้ชิดพระองค์มากขึ้นโดยผ่านพวกเขาเหล่านั้น [๖๔]
อิบนุ ตัยมียะฮ์ เชื่อว่า ผู้ใดก็ตามที่ทำการตะวัซซุลไปยังอิมามอะลี (อ.) เขาเป็นกาฟิร (ผู้ปฏิเสธศรัทธา) และผู้ใดที่สงสัยในการปฏิเสธศรัทธาของบุคคลดังกล่าว ก็เป็นกาฟิรด้วยเช่นกัน [๖๕] และผู้ใดก็ตามที่ไปที่หลุมศพของศาสดาหรือผู้ทรงคุณธรรมและร้องขอสิ่งที่พวกเขาต้องการ เขา คือ ผู้ตั้งภาคี และต้องถูกบังคับให้กลับตัวกลับใจ และถ้าเขาไม่กลับใจ เขาจะต้องถูกสังหาร [๖๖] อับดุลอะซีซ บิน บาซ มุฟตีย์ชาววะฮ์ฮาบีย์ ซึ่งในผลงานของเขา ยังถือว่า การขอดุอาอ์และการขอความช่วยเหลือจากหลุมศพ การแสวงหาการชะฟาอะฮ์และการเอาชนะเหนือเหล่าศัตรู เป็นการแสดงออกถึงการตั้งภาคีอันใหญ่หลวง [๖๗]
ด้วยการอ้างอิงโองการในกุรอาน บรรดาชีอะฮ์ได้ปฏิเสธการชะฟาอะฮ์ ในกรณีที่ร้องขออย่างอิสระและโดยปราศจากการได้รับอนุญาตจากพระเจ้า เพราะในกรณีนี้ ถือเป็นการตั้งภาคีในความเป็นผู้อภิบาลและบริหารจัดการของพระเจ้า [๖๘] บรรดานักวิชาการชีอะฮ์ได้ตอบโต้การอ้างอิงของมุฮัมมัด บิน อับดุลวะฮ์ฮาบ และอับดุลอะซีซ บิน บาซ โดยยกหลักฐานจากโองการอัลกุรอานอันทรงเกียรติ ที่ปฏิเสธการขอการไกล่เกลี่ยจากรูปเคารพ นักวิชาการชีอะห์ได้อาศัยความแตกต่างพื้นฐานระหว่างการร้องขอชะฟาอะฮ์ต่อรูปปั้นเจว็ด โดยชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างที่สำคัญระหว่างการขอชะฟาอะฮ์ต่อศาสดาและการขอชะฟาอะฮ์ต่อรูปปั้นเจว็ด พวกเขาเชื่อว่า บรรดามุสลิมที่ขอชะฟาอะฮ์ต่อศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) ไม่ถือว่า เขาเป็นพระเจ้า ผู้อภิบาล หรือผู้ปกครองจักรวาล โดยแตกต่างกับเหล่าพวกบูชารูปปั้นที่กล่าวในอัลกุรอาน [๖๙]
แหล่งอ้างอิง
บรรดานักเทววิทยาและนักรายงานฮะดีษชาวมุสลิม โดยเฉพาะอิมามียะฮ์ บางครั้งก็เขียนหนังสือที่เป็นอิสระเกี่ยวกับเตาฮีด และบางครั้งก็กล่าวถึงเตาฮีดในขณะที่อธิบายหลักความศรัทธาของชีอะฮ์ด้วย แหล่งข้อมูลบางแห่งได้ระบุถึงผลงานเกี่ยวกับเตาฮีดในหมู่ชาวชีอะห์ไว้ 22 ชิ้น [๗๐] ซึ่งผลงานบางส่วน มีดังนี้ :
หนังสือ อัตเตาฮีด ประพันธ์โดย เชคศอดูก ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับความเป็นหนึ่งเดียวของอาตมันของพระเจ้า คุณลักษณะเชิงบวกและเชิงลบของพระเจ้า ตลอดจนการกำหนดชะตากรรม พรหมลิขิต และเจตจำนงเสรี โดยใช้โองการต่างๆ จากอัลกุรอานและริวายะฮ์ทั้งหลายของบรรดามะอ์ศูม [๗๑] หนังสือเล่มนี้ ยังได้รับการแปลเป็นภาษาฟารซีย์ ภายใต้ชื่อต่างๆ [๗๒]
ชะเราะห์ บาบ ฮาดีย์อะชัร เขียนโดย มิกดาด อิบนุ อับดุลลอฮ์ อัซซีวะรีย์ เป็นหนังสือที่เกี่ยวกับหลักศรัทธาของชีอะฮ์ และบทแรกเป็นเรื่องเตาฮีด [๗๓] โดยหนังสือ บาบ ฮาดีย์อะชัร เขียนโดยอัลลามะฮ์ ฮิลลี [๗๔]
อัรริซาละฮ์ อัตเตาฮีดียะฮ์ ผลงานของอัลลามะฮ์ เฏาะบาเฏาะบาอีย์ ประกอบไปด้วยสี่บทความเกี่ยวกับเตาฮีด ซาตีย์ พระนามและการกระทำของพระเจ้า และสื่อที่เป็นตัวกลางระหว่างพระเจ้ากับโลกธรรมชาติ [๗๕] ผลงานนี้ ยังมีสามบทความเกี่ยวกับมนุษย์ก่อนโลก ในโลก และหลังโลก [๗๖] อัรริซาละฮ์ อัตเตาฮีดียะฮ์ ได้รับการจัดพิมพ์เป็นภาษาอาหรับในปี 1361 ฮ.ศ. [๗๗] และจัดพิมพ์ในอิหร่านในปี 1991 สุริยคติอิหร่าน แปลและค้นคว้าโดย อะลี ชีรวานี [๗๘]
เตาฮีด ประกอบด้วยเนื้อหาที่ถอดจาก ๑๗ บทบรรยายของ มุรตะฎอ มุเฏาะฮ์ฮะรีย์ ซึ่งบรรยายในปี 1961-62 สุริยคติอิหร่าน [๗๙] และมี ๓๔๖ หน้า ส่วนสำคัญของหนังสือเล่มนี้ ประกอบด้วยคำตอบสำหรับข้อสงสัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเตาฮีด และทฤษฎีวิวัฒนาการ รวมถึงประเด็นของความชั่วร้าย [๘๐]
อัตเตาฮีด วัชชิรก์ ฟิลกุรอาน อัลกะรีม ผลงานของ ญะอ์ฟัร ซุบฮานีย์ หนังสือเล่มนี้มีทั้งหมด 4 ภาค หลังจากอธิบายระดับขั้นทั้ง ๗ เตาฮีดและคำนิยามของอิบาดะฮ์แล้ว ผู้เขียนได้อภิปรายถึงความเชื่อของพวกวะฮ์ฮาบีและมาตรวัดของพวกเขาในเตาฮีดและการตั้งภาคี หนังสือเล่มอื่นของอายะตุลลอฮ์ ซุบฮานีย์ มีชื่อว่า บุฮูษ กุรอานียะฮ์ ฟิตเตาฮีด วัลชิกร์ ได้รับการจัดพิมพ์เป็นภาษาอาหรับ ซึ่งยังกล่าวถึงเตาฮีดและการตั้งภาคี และข้อสงสัยของพวกวะฮ์ฮาบีอีกด้วย หัวข้อส่วนใหญ่ของหนังสือเล่มนี้ (สามภาคจากห้าภาค) ยังเป็นเรื่องเกี่ยวกับเตาฮีดในการอิบาดะฮ์ อีกด้วย [๘๑] หนังสือเล่มนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาฟาร์ซีย์ โดย มะฮ์ดี อาซีซอน ภายใต้ชื่อ มัรซ์ฮอเย เตาฮีดวะชิรก์ ดัร กุรออเนกะรีม และจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ มัชอัร [๘๒]
หนังสือ เตาฮีด วะ ชิรก์ ดัร เนกอเฮ ชีเอะฮ์ วะ วะฮ์ฮอบียัต เขียนโดยอะห์มัด อาบิดี เป็นคำตอบต่อข้ออ้างของผู้เขียนหนังสือเรื่อง อุศูล มัซฮับ อัชชีอะฮ์ อัลอิมามียะฮ์ อัลอิษนา อะชะรียะฮ์ โดย นาศิร อัลกิฟารีย์ ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอิสลามมูฮัมหมัด บิน ซะอุด ประเทศซาอุดีอาระเบีย[๘๓] ในหนังสือเล่มนี้ อะห์มัด อาบิดีได้อธิบายถึงเตาฮีดในความเป็นพระเจ้า เตาฮีดในความเป็นผู้อภิบาล เตาฮีดในนามและคุณลักษณะ และสุดท้าย คือ ความศรัทธาและรากฐานของมันจากทัศนะของชีอะฮ์ ขณะที่เขาพยายามแสดงให้เห็นถึงความเหนือกว่าของความศรัทธาของชีอะฮ์ต่อความเชื่อของพวกวะฮ์ฮาบีเกี่ยวกับเตาฮีด เขายังกล่าววิพากษ์วิจารณ์วิสัยทัศน์ของ นาศิร อัลกิฟารีย์ ในหนังสือของเขาด้วย [๘๔] หนังสือเล่มนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาอาหรับในปี 1434 ฮ.ศ. และมีชื่อว่า อัตเตาฮีด วัชชิรก์ อินดัชชีอะฮ์ วัลวะฮ์ฮาบียะฮ์ [๘๕]
อัลลอฮ์ เชนอซี เป็นกลุ่มชุดหนังสือรวม ๓ เล่มที่เขียนโดย อัลลามะฮ์ เฏาะรอนีย์ ซึ่งกล่าวถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเตาฮีดและการอ้างอิงจากโองการอัลกุรอานและริวายะฮ์ต่างๆ และมีการอธิบายทัศนะต่างๆ ทางปรัชญาและอิรฟาน เกี่ยวกับเตาฮีดอีกด้วย [๘๖]