อิศมะฮ์
อิศมะฮ์ (ภาษาอาหรับ : العصمة )หมายถึง การบุคคลหนึ่งบุคคลใดถูกปกป้องจากพระเจ้าให้สะอาดบริสุทธิ์ปราศจากบาปและความผิดพลาด บรรดานักศาสนศาสตร์ชีอะฮ์และมุตะซิละฮ์ ได้ให้คำจำกัดความ อิศมะฮ์ เป็นหนึ่งในความการุณย์ของพระเจ้า และนักปราชญ์มุสลิมได้ให้คำจำกัดความ อิศมะฮ์ เป็นพลังที่ช่วยป้องกันบุคคลให้หลีกเลี่ยงจากบาปและความผิดพลาดได้อย่างสมบูรณ์แบบ
มีมุมมองหลากหลายเกี่ยวกับแหล่งที่มาของความบริสุทธิ์ปราศจากบาปและความผิดพลาดของมะอ์ศูม (ผู้บริสุทธิ์) ซึ่งรวมถึง ความการุณย์จากพระเจ้า ความรู้อันพิเศษ เจตจำนงและการเลือกสรร รวมถึงการผสมผสานระหว่างปัจจัยธรรมชาติของมนุษย์และปัจจัยจากพระเจ้า นักเทววิทยาและนักปราชญ์เห็นว่า ความบริสุทธิ์นี้สอดคล้องกับเสรีภาพในการเลือกสรร และเชื่อว่า มะอ์ศูมมีความสามารถในการกระทำบาป แต่เขาเลือกที่จะไม่กระทำบาป ด้วยเหตุนี้ เขาจึงสมควรได้รับรางวัลและเกียรติยศ
ความเชื่อในความบริสุทธิ์ไร้มลทินของบรรดาศาสดา เป็นสิ่งที่ได้รับการยอมรับจากนักวิชาการมุสลิมทุกคน แน่นอนว่า มีความเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับขอบเขตของความบริสุทธิ์นี้ ความบริสุทธิ์ของบรรดาศาสดาจากการตั้งภาคีและการปฏิเสธศรัทธา ความบริสุทธิ์ในการรับและถ่ายทอดวิวรณ์ และความบริสุทธิ์จากการกระทำบาปโดยเจตนา หลังจากที่ได้รับตำแหน่งศาสดา เป็นประเด็นที่บรรดานักวิชาการต่างเห็นพ้องต้องกันอย่างเป็นเอกฉันท์
บรรดานักวิชาการอิมามียะฮ์ ยังเชื่อว่า บรรดาอิมามของชีอะฮ์ (อ.) มีความบริสุทธิ์ไร้มลทินจากบาปใหญ่และบาปเล็ก รวมถึงข้อผิดพลาดและความผิดพลาดทั้งปวงตลอดช่วงชีวิตของพวกเขา ตามคำกล่าวของอัลลามะฮ์ มัจญ์ลิซีย์ ระบุว่า บรรดาชีอะฮ์ยังมีความเห็นพ้องต้องกันว่า เหล่าเทวทูตทั้งหมดล้วนมีความบริสุทธิ์ไร้มลทินจากบาปใหญ่และบาปเล็กทุกประการด้วยเช่นกัน
มีข้อคัดค้านบางประการต่อแนวคิดเรื่องความบริสุทธิ์ไร้มลทิน เช่น บางคนมองว่า แนวคิดนี้ขัดแย้งกับธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งเต็มไปด้วยแรงขับจากอารมณ์และตัณหา อย่างไรก็ตาม ได้มีคำตอบว่า การมีอยู่ของความปรารถนาและตัณหานั้น เป็นเพียงปัจจัยที่เอื้อต่อการเกิดบาป แต่ไม่ได้หมายความว่า จะนำไปสู่การกระทำบาปโดยตรง เนื่องจากมีอุปสรรค เช่น ความรู้และเจตจำนง ที่สามารถป้องกันไม่ให้ความปรารถนาเหล่านั้นส่งผลได้
สถานภาพและความสำคัญ
ตามคำกล่าวของซัยยิดอะลี ฮุซัยนี มีลานี นักเทววิทยาและผู้เขียนผลงานทางศาสนศาสตร์ของชีอะฮ์ ระบุว่า ประเด็นเรื่องความบริสุทธิ์ไร้มลทิน ถือเป็นหนึ่งในประเด็นที่สำคัญทางด้านเทววิทยาและหลักความศรัทธา ซึ่งแต่ละสำนักคิดในศาสนาอิสลามได้ศึกษาและวิเคราะห์จากมุมมองของตนเอง ความเชื่อมโยงระหว่างความบริสุทธิ์ไร้มลทินกับความน่าเชื่อถือในคำพูดและการกระทำของมะอ์ศูมยิ่งเพิ่มความสำคัญและความละเอียดอ่อนของประเด็นนี้
ในความคิดเห็นของเขา เนื่องจากอะฮ์ลิสซุนนะฮ์ไม่ได้เชื่อในความบริสุทธิ์ไร้มลทินของเหล่าผู้ปกครองและผู้นำมุสลิม พวกเขาจึงยกประเด็นนี้ขึ้นมาพิจารณาภายใต้หัวข้อเรื่องการเป็นศาสดาเพียงอย่างเดียว แต่สำหรับชีอะฮ์ ซึ่งเชื่อว่า ศาสดาและอิมามทุกคนมีความบริสุทธิ์ไร้มลทิน พวกเขาจึงพิจารณาประเด็นนี้ทั้งในหัวข้อเรื่องการเป็นศาสดาและอิมามัต ซัยยิดมีลานีได้กล่าวว่า ความบริสุทธิ์ไร้มลทิน เป็นประเด็นร่วมในหมู่ชาวมุสลิม อย่างไรก็ตาม ยังมีความแตกต่างกันมากในรายละเอียดและตัวอย่างของแนวคิดนี้ (๑)
ความบริสุทธิ์ไร้มลทินได้รับการอภิปรายในแวดวงเทววิทยาภายใต้หัวข้อความบริสุทธิ์ของศาสดา บรรดาอิมาม และเหล่าเทวทูต (๒) ในตัฟซีรบางส่วนของอัลกุรอาน มีการวิเคราะห์เรื่องความบริสุทธิ์ไร้มลทินและประเด็นที่เกี่ยวข้องโดยละเอียดผ่านโองการ เช่น อายะฮ์ อัฏตัฏฮีร(๓)
ในศาสตร์ว่าด้วยหลักการของนิติศาสตร์อิสลาม (อุศูลุฟิกฮ์) นักวิชาการอะฮ์ลิสซุนนะฮ์ได้พิจารณาว่า หลักเกณฑ์ของอิจญ์มาอ์ (มติเอกฉันท์) คือ ความบริสุทธิ์ไร้มลทินของประชาชาติ เพราะในมุมมองของพวกเขา ประชาชาติอิสลาม ถือเป็นผู้สืบทอดของศาสดา (ศ็อลฯ) และได้รับการปกป้องจากความผิดพลาด การละเลย และความเท็จในเรื่องศาสนา ในทางตรงกันข้าม นักวิชาการชีอะฮ์เห็นว่า หลักเกณฑ์ของมติเอกฉันท์ คือ ความบริสุทธิ์ไร้มลทินของอิมาม เพราะในมุมมองของพวกเขา อิมาม คือผู้สืบทอดของศาสดา (ศ็อลฯ) และมีความบริสุทธิ์ไร้มลทิน เช่นเดียวกัน อีกทั้งมติเอกฉันท์ยังถือเป็นข้อพิสูจน์ เนื่องจากเป็นสิ่งที่ช่วยค้นหาคำพูดของมะอ์ศูมได้ (๔)
ความบริสุทธิ์ไร้มลทิน ยังได้รับการอภิปรายในศาสนาอื่นๆ เช่น ศาสนาคริสต์และศาสนายูดาห์ โดยในศาสนาคริสต์ ผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลและพระสันตปาปา (ผู้นำคริสตจักรคาทอลิก) นอกจากพระเยซู (อ.) ก็ได้รับการพิจารณาว่า มีความบริสุทธิ์ไร้มลทินด้วย อย่างไรก็ตาม ความเชื่อในความบริสุทธิ์ของพระสันตปาปานั้น เป็นความเชื่อเฉพาะในศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกเท่านั้น (๕)
แนวคิดเรื่องความบริสุทธิ์ไร้มลทิน
นักเทววิทยาและนักวิชาการมุสลิมได้ให้คำจำกัดความของความบริสุทธิ์ไร้มลทินไว้หลากหลายตามหลักการของตนเอง โดยมีบางตัวอย่าง ดังนี้ :
คำจำกัดความของนักเทววิทยา : นักเทววิทยาแห่งกลุ่มอัดลียะฮ์ (อิมามียะฮ์ [๖] และมุอ์ตะซิละฮ์[๗]) ได้ให้คำจำกัดความของความบริสุทธิ์ไร้มลทินบนพื้นฐานของลุฏฟ์ (ความการุณย์) [๘] โดยความบริสุทธิ์ไร้มลทิน คือ ความการุณย์ที่พระเจ้าทรงประทานแก่บ่าวของพระองค์ ซึ่งช่วยป้องกันเขาไม่กระทำความชั่วหรือบาปใดๆก็ตาม [๙]
อัลลามะฮ์ ฮิลลี ได้กล่าวไว้ว่า ความบริสุทธิ์ไร้มลทิน คือ ความการุณย์ที่ซ่อนเร้นจากพระเจ้าที่มอบให้แก่บ่าวของพระองค์ในลักษณะที่เขาไม่มีแรงจูงใจที่จะละทิ้งการเชื่อฟังหรือตั้งใจที่จะกระทำบาปอีกต่อไป แม้ว่า เขาจะยังมีความสามารถที่จะกระทำเช่นนั้นก็ตาม [๑๐] กลุ่มอัชอะรียะฮ์ได้ให้คำจำกัดความของความบริสุทธิ์ไร้มลทินว่า เป็นการที่พระเจ้าไม่ทรงสร้างบาปในตัวบุคคลผู้บริสุทธิ์ [๑๑] ซึ่งพื้นฐานของคำจำกัดความนี้ มุ่งเน้นถึงการอ้างอิงทุกสิ่งโดยตรงถึงพระเจ้า [๑๒]
คำจำกัดความของนักปรัชญา: นักปราชญ์มุสลิมได้ให้คำจำกัดความความบริสุทธิ์ไร้มลทินว่า เป็น สภาพประการหนึ่งทางจิตวิญญาณ [หมายเหตุ ๑] เมื่อมีอยู่ในตัวบุคคลแล้ว จะไม่มีบาปใดสามารถเกิดขึ้นกับเขาได้ [๑๓]
คำจำกัดความร่วมสมัย: อายะตุลลอฮ์ ซุบฮานี นักอรรถาธิบายและนักเทววิทยาร่วมสมัย ได้แยกความแตกต่างระหว่างคำจำกัดความของความบริสุทธิ์ไร้มลทินจากบาปและความบริสุทธิ์ปราศจากความผิดพลาด พร้อมทั้งประสานคำจำกัดความของนักเทววิทยาด้านนิติศาสตร์และนักวิชาการเข้าด้วยกัน เขาเห็นว่า ความบริสุทธิ์ไร้มลทินจากบาป คือ ระดับสูงสุดของตักวา และเป็นพลังจิตวิญญาณหรือสภาพทางจิตวิญญาณในระดับสูงสุด ที่ป้องกันผู้บริสุทธิ์จากการกระทำบาปได้อย่างสมบูรณ์ แม้แต่ในความคิดก็ตาม [๑๔] สำหรับความบริสุทธิ์ไร้มลทินจากความผิดพลาดและการละเลย เขามองว่า เกิดจากความรู้ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ภายใต้ความการุณย์ของพระเจ้า ซึ่งทำให้ภาพที่แท้จริงของสิ่งต่าง ๆ ปรากฏในจิตใจและความคิดของบุคคลผู้บริสุทธิ์ และช่วยป้องกันเขาจากความผิดพลาด [๑๕]
คำว่า อิศมะฮ์ มาจากรากศัพท์ในภาษาอาหรับว่า อิศม์ ซึ่งหมายถึง การยึดเหนี่ยวหรือการป้องกัน [๑๖]
ต้นกำเนิดของความบริสุทธิ์ไร้มลทิน
มีมุมมองที่หลากหลายเกี่ยวกับต้นกำเนิดของความบริสุทธิ์ไร้มลทินและปัจจัยที่ทำให้มะอ์ศูมปราศจากบาปและความผิดพลาด เช่น ความการุณย์จากพระเจ้าที่มอบให้แก่มะอ์ศูม ความรู้อันพิเศษของมะอ์ศูมเกี่ยวกับผลลัพธ์ของบาป และเจตจำนงและการเลือกสรรของมะอ์ศูม แน่นอนว่า นักวิชาการร่วมสมัยบางคน เชื่อว่า ความบริสุทธิ์ไร้มลทินไม่ได้เกิดจากปัจจัยเพียงอย่างเดียว แต่เป็นผลมาจากการผสมผสานระหว่างปัจจัยธรรมชาติ (พันธุกรรม สภาพแวดล้อม และครอบครัว) ปัจจัยมนุษย์ (ความรู้และความตระหนัก เจตจำนงและการเลือกสรร สติปัญญา และสภาพทางจิตวิญญาณ) และปัจจัยจากพระเจ้า (ความการุณย์และของขวัญอันพิเศษจากพระเจ้า) [๑๗]
ความการุณย์จากพระเจ้า
เชคมุฟีดและซัยยิด มุรตะฎอได้พิจารณาว่า ความบริสุทธิ์ไร้มลทินเป็นผลมาจากความการุณย์ของพระเจ้าที่มอบให้แก่บรรดามะอ์ศูม [๑๘] อัลลามะฮ์ ฮิลลีได้ระบุสาเหตุสี่ประการที่เป็นต้นกำเนิดของความการุณย์นี้ ดังนี้ :
๑..ลักษณะพิเศษทางกายภาพหรือจิตวิญญาณ ที่ก่อให้เกิดความสามารถในการหลีกเลี่ยงจากบาป
๒.ความรู้เกี่ยวกับความเสื่อมเสียของบาปและผลตอบแทนของการเชื่อฟัง
๓.วิวรณ์หรือการดลใจที่มอบให้แก่มะอ์ศูม ซึ่งช่วยเพิ่มความลึกซึ้งในความจริงของบาปและการเชื่อฟัง (การเน้นย้ำและยืนยันความรู้ผ่านวิวรณ์หรือการดลใจ)
๔.การคำนึงถึงการลงโทษจากพระเจ้า เมื่อหลีกเลี่ยงการกระทำบาป [๑๙]
ความรู้อันพิเศษและเจตจำนง
นักวิชาการบางกลุ่มได้พิจารณาว่า ต้นกำเนิดของความบริสุทธิ์ไร้มลทิน คือความรู้และความตระหนักพิเศษเกี่ยวกับผลลัพธ์ของบาปและผลตอบแทนของการเชื่อฟัง รวมถึงเจตจำนงอันแข็งแกร่งในการหลีกเลี่ยงจากบาป [๒๐] ตามความเชื่อของนักวิชาการกลุ่มนี้ เนื่องจากบรรดามะอ์ศูม ผู้บริสุทธิ์มีความรู้ที่พระเจ้าทรงประทานให้และมีความเข้าใจในความสมบูรณ์แบบและความจริงของความรู้นั้น จึงก่อให้เกิดเจตจำนงอันมั่นคง และด้วยเจตจำนงดังกล่าว ผู้บริสุทธิ์จะไม่มีวันกระทำบาปด้วยเจตนาอิสระของตนเองเลย [๒๑]
ความบริสุทธิ์ไร้มลทินและการเลือกสรร
ซัยยิด มุฮัมมัด ฮุซัยน์ ฟัฎลุลลอฮ์ นักวิชาการศาสนาชีอะฮ์แห่งเลบานอน เห็นว่า ความบริสุทธิ์ไร้มลทิน เป็นความจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ [๒๒] แต่ทว่า อะลี ร็อบบานี ฆุลพัยฆานี นักเทววิทยาร่วมสมัย ระบุว่า นักเทววิทยาและนักวิชาการต่างเห็นพ้องกันว่า ความบริสุทธิ์ไร้มลทินสอดคล้องกับเจตจำนงเสรี และมะอ์ศูมมีความสามารถที่จะกระทำบาปได้ [๒๓]
จากมุมมองทางสติปัญญา ระบุว่า หากความบริสุทธิ์ไร้มลทินบังคับให้ผู้บริสุทธิ์ต้องเชื่อฟังและหลีกเลี่ยงบาปโดยปราศจากทางเลือก เขาย่อมไม่คู่ควรกับคำชมเชยและการยกย่อง และการสั่งสอน การลงโทษ หรือการให้รางวัล จะไม่มีเหตุผลอันสมควร [๒๔]
อับดุลลอฮ์ ญะวาดี อามุลี หนึ่งในมัรญิอ์ตักลีดของชีอะฮ์ เชื่อว่า ความบริสุทธิ์ไร้มลทินที่เกิดจากการบังคับ ขัดแย้งกับข้อพิสูจน์ความเป็นผู้บริสุทธิ์เหนือประชาชน และคำสั่งให้ปฏิบัติตามพวกเขาจากพระเจ้า หากการกระทำบาป เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้โดยธรรมชาติ การเชื่อฟังจะเป็นสิ่งที่จำเป็นโดยธรรมชาติ และในกรณีนี้ การเชื่อฟังจะไม่ถือเป็นหน้าที่ และจะไม่มีพื้นที่สำหรับคำตักเตือน การแจ้งข่าวดี การให้ผลตอบแทนและการลงโทษ [๒๕]
อัลลามะฮ์ ฏอบาฏอบาอี ได้เขียนอธิบายถึงความสอดคล้องระหว่างความบริสุทธิ์ไร้มลทินกับการเลือกสรรว่า ต้นกำเนิดของความบริสุทธิ์ไร้มลทิน คือ ความรู้อันพิเศษที่พระเจ้าได้ประทานแก่ผู้บริสุทธิ์ ความรู้นี้เป็นหนึ่งในหลักการและรากฐานของเจตจำนงเสรี ดังนั้น ผู้บริสุทธิ์จึงไม่กระทำบาป เพราะความรู้ของพวกเขาเกี่ยวกับความชั่วร้ายและผลประโยชน์ของการกระทำต่างๆ เช่นเดียวกับคนที่มีความรู้แน่นอนว่า ยาพิษเป็นอันตรายถึงชีวิตและจะไม่กินมันอย่างแน่นอน [๒๖]
มุฮัมมัดตะกี มิศบาห์ ยัซดี นักปรัชญาและนักตัฟซีรของชีอะฮ์ มองว่า ความบริสุทธิ์ไร้มลทินไม่ใช่เพียงหลักการทางวิทยาศาสตร์ แต่เป็นทั้งหลักการทางวิทยาศาสตร์และการปฏิบัติที่เกิดจากการที่การกระทำของผู้บริสุทธิ์สอดคล้องกับความรู้ที่เป็นของขวัญจากพระเจ้า [๒๗] เขาอธิบายว่า ทุกคนเกิดมาพร้อมกับทุนเดิมที่เป็นพรสวรรค์และของขวัญจากพระเจ้า และการทำให้พรสวรรค์นั้นเป็นจริงขึ้นอยู่กับความพยายามของตัวบุคคล ความรู้ซึ่งเป็นพื้นฐานของความบริสุทธิ์ไร้มลทินก็เป็นของขวัญด้วยเช่นกัน แต่ไม่ได้บังคับอะไรต่อบุคคลนั้น ดังนั้น การใช้ทุนเดิมนี้และการทำให้การกระทำสอดคล้องกับมัน ขึ้นอยู่กับความพยายามของผู้บริสุทธิ์เอง [๒๘]
ความบริสุทธิ์ไร้มลทินของบรรดาศาสดา
ความบริสุทธิ์ไร้มลทินของบรรดาศาสดา ในด้านการรับวิวรณ์ ถือเป็นหลักการที่เป็นที่ยอมรับร่วมกันของทุกศาสนาแห่งพระเจ้า [๒๙] แม้ว่า จะมีความเห็นที่แตกต่างกันในหมู่ผู้ปฏิบัติตามศาสนาและนักคิดจากสำนักคิดอิสลามเกี่ยวกับความเป็นจริงและระดับขั้นของความบริสุทธิ์นี้ [๓๐]
นักเทววิทยามุสลิมมีความเห็นพ้องกันในสามประเด็นเกี่ยวกับความบริสุทธิ์ไร้มลทินของบรรดาศาสดา ดังนี้ :
๑.ความบริสุทธิ์ไร้มลทินของบรรดาศาสดาจากการตั้งภาคีและการปฏิเสธศรัทธาทั้งก่อนและหลังการเป็นศาสดา
๒.ความบริสุทธิ์ไร้มลทินของบรรดาศาสดาในการรับ รักษา และการถ่ายทอดวิวรณ์
๓.ความบริสุทธิ์ไร้มลทินของบรรดาศาสดาจากการกระทำบาปโดยเจตนา หลังจากการเป็นศาสดา
อย่างไรก็ตาม มีความเห็นที่แตกต่างกันในสามประเด็น ได้แก่ :
๑.ความบริสุทธิ์ไร้มลทินของบรรดาศาสดาจากการกระทำบาปโดยไม่เจตนา หลังจากการเป็นศาสดา
๒.ความบริสุทธิ์ไร้มลทินของบรรดาศาสดาจากการกระทำบาปโดยเจตนาและไม่เจตนาก่อนการเป็นศาสดา
๓.ความบริสุทธิ์ไร้มลทินของบรรดาศาสดาในชีวิตทางปัจเจกบุคคลและทางสังคม
บรรดาชีอะฮ์อิมามียะฮ์ เชื่อว่า บรรดาศาสดามีความบริสุทธิ์ไร้มลทินในทุกประเด็นที่กล่าวมา นอกจากนี้ ศาสดาทั้งหลายยังได้รับการปกป้องและปลอดภัยจากสิ่งใดก็ตามที่ทำให้ผู้คนรังเกียจและห่างเหินจากพวกเขา [๓๑] การสร้างความไว้วางใจของประชาชนในการเป็นศาสดาของบรรดาศาสดา ถือเป็นเหตุผลทางสติปัญญาที่สนับสนุนความจำเป็นของความบริสุทธิ์ไร้มลทินของศาสดาทั้งหลาย [๓๒] ทั้งนี้ มีการอ้างถึงโองการจากอัลกุรอาน [๓๓] และริวายะฮ์บางส่วน [๓๔] ในเรื่องนี้ด้วย [๓๕]
ฝ่ายที่คัดค้านความบริสุทธิ์ไร้มลทินของบรรดาศาสดาได้อ้างถึงโองการสองประเภท ได้แก่ โองการที่ขัดแย้งกับความบริสุทธิ์ไร้มลทินของศาสดาทุกคน หรือโองการที่ขัดแย้งกับความบริสุทธิ์ไร้มลทินของศาสดาบางคน [๓๖] ในเรื่องนี้มีการตอบโต้ว่า โองการเหล่านี้จัดอยู่ในประเภท โองการมุตะชาบิฮ์ ซึ่งต้องตีความและอธิบาบโดยอ้างอิงกับโองการมุฮ์กัม [๓๗] และทุกโองการที่ขัดแย้งกับความบริสุทธิ์ไร้มลทินของบรรดาศาสดา ถูกตีความและจัดให้อยู่ในบริบทของการตัรก์ อัลเอาลา (การละทิ้งสิ่งที่ดีกว่า [๓๘]
ความบริสุทธิ์ไร้มลทินของบรรดาอิมาม
ความบริสุทธิ์ไร้มลทินของบรรดาอิมาม ถือเป็นเงื่อนไขของการเป็นอิมามัตในทัศนะของชาวชีอะฮ์อิมามียะฮ์ และเป็นหนึ่งในความเชื่อพื้นฐานของพวกเขา [๓๙] ตามที่อัลลามะฮ์ มัจญ์ลิซีย์ กล่าว ชาวอิมามียะฮ์มีความเห็นพ้องต้องกันว่า บรรดาอิมาม (อ.) ปราศจากการกระทำบาปทั้งบาปใหญ่และบาปเล็ก ไม่ว่าจะเจตนาหรือไม่เจตนา และจากความผิดพลาดหรือความบกพร่องใดๆ [๔๐] มีการกล่าวว่า อิสมาอีลียะฮ์ ก็ถือว่า ความบริสุทธิ์ไร้มลทิน เป็นเงื่อนไขของการเป็นอิมามัต เช่นกัน [๔๑] ในทางตรงกันข้าม ชาวอะฮ์ลิสซุนนะฮ์ไม่ถือว่า ความบริสุทธิ์ไร้มลทินเป็นเงื่อนไขของการเป็นอิมามัต [๔๒] เนื่องจากพวกเขาเห็นพ้องกันว่า เคาะลีฟะฮ์สามคนเป็นอิมาม แต่พวกเขาไม่ใช่ผู้บริสุทธิ์ไร้มลทิน [๔๓] พวกวะฮ์ฮาบีชอบไม่ยอมรับความบริสุทธิ์ไร้มลทินของอิมามและบรรดาอิมามของชีอะฮ์และถือว่า เป็นคุณลักษณะอันเฉพาะของบรรดาศาสดาเท่านั้น [๔๔]
ตามที่ญะอ์ฟัร ซุบฮานี กล่าวว่า เหตุผลทางสติปัญญาทั้งหมดที่ถูกนำเสนอเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ไร้มลทินของบรรดาศาสดา เช่น การบรรลุเป้าหมายของบิอ์ษัตและการได้รับความไว้วางใจจากประชาชน ก็สามารถนำมาพูดถึงในกรณีของความบริสุทธิ์ไร้มลทินของอิมาม เช่นกัน [๔๕] บรรดานักเทววิทยาชีอะฮ์ได้อ้างถึงโองการและริวายะฮ์จำนวนมากมายเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ไร้มลทินของบรรดาอิมาม (อ.) รวมถึง: โองการการทดสอบของศาสดาอิบรอฮีม [๔๖]โองการอุลิลอัมร์ [๔๗], โองการอัตตัฏฮีร [๔๘] และโองการศอดิกีน [๔๙] ฮะดีษษะเกาะลัยน์ [๕๐] ฮะดีษซะฟีนะฮ์ [๕๑]
ในทัศนะของชีอะฮ์ ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (ซ.) มีสถานะของความบริสุทธิ์ไร้มลทิน [๕๒] โองการอัตตัฏฮีรและริวายะฮ์บัฏอะฮ์ได้ถูกอ้างถึงเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ไร้มลทินของนาง [๕๓]
ความบริสุทธิ์ไร้มลทินของบรรดาเทวทูต
ตามที่อัลลามะฮ์ มัจญ์ลิซีย์ กล่าวว่า บรรดาชีอะฮ์มีความเห็นพ้องต้องกันว่า เทวทูตทุกองค์บริสุทธิ์ไร้มลทินจากการกระทำบาปทั้งบาปใหญ่และบาปเล็ก ชาวอะฮ์ลิสซุนนะฮ์ส่วนใหญ่ก็มีความเชื่อเช่นนี้ [๕๔] ขณะที่มีทัศนะอื่นๆ ที่กล่าวถึงความบริสุทธิ์ไร้มลทินของเทวทูตทั้งหลาย : บางคนเชื่อว่าเทวทูตไม่มีความบริสุทธิ์ไร้มลทิน บางคนพิจารณาหลักฐานของผู้สนับสนุนและผู้คัดค้านความบริสุทธิ์ไร้มลทินว่า ไม่เพียงพอและหยุดอยู่ ณ จุดนั้น กลุ่มหนึ่งได้พิจารณาว่า เทวทูตที่นำวิวรณ์มาและเทวทูตที่ใกล้ชิดเท่านั้นที่บริสุทธิ์ไร้มลทิน และบางคนได้พิจารณาให้เทวทูตจากฟากฟ้า (ต่างจากเทวทูตที่อยู่บนโลก) เป็นผู้บริสุทธิ์ไร้มลทิน [๕๕]
ฝ่ายผู้ที่สนับสนุนความบริสุทธิ์ไร้มลทิน กล่าวว่า โองการที่ ๒๗ ของซูเราะฮ์อัลอัมบิยาอ์ [๕๖] และโองการที่ ๖ ของซูเราะฮ์อัตตะห์รีม [๕๗] และริวายะฮ์จำนวนมากมาย [๕๘] ชี้ให้เห็นถึงความบริสุทธิ์ไร้มลทินของเหล่าเทวทูต [๕๙] มีการกล่าวว่า มุสลิมเพียงคนเดียวที่คัดค้านความบริสุทธิ์ไร้มลทินของเทวทูต คือกลุ่มฮัชวียะฮ์ [๖๐]
อายะตุลลอฮ์ มะการิม ชีรอซี ได้ตอบโต้ที่ว่า ไม่มีความหมายในความบริสุทธิ์ไร้มลทินของบรรดาเทวทูต โดยเขากล่าวว่า แม้ว่าแรงจูงใจของการกระทำบาป เช่น ความใคร่และความโกรธ จะไม่มีหรือมีน้อยในเทวทูต แต่พวกเขายังเป็นผู้กระทำที่มีเสรีและมีอำนาจคัดค้านได้ ดังนั้น แม้พวกเขาจะมีอำนาจในการกระทำบาป พวกเขาก็ยังบริสุทธิ์ไร้มลทินและบริสุทธิ์ และริวายะฮ์ต่างๆบ่งบอกให้เห็นว่า เทวทูตบางองค์ได้ปฏิบัติตามพระบัญชาของพระเจ้าช้าไปหรือถูกลงโทษนั้น จะถูกอธิบายว่าเป็นการตัรก์ อัลเอาลา (การละทิ้งสิ่งที่ดีกว่า) [๖๑]
ข้อโต้แย้งและการตอบโต้
บางข้อโต้แย้งได้ถูกนำเสนอโดยผู้ที่ปฏิเสธความบริสุทธิ์ไร้มลทิน ซึ่งบางข้อโต้แย้ง มีดังต่อไปนี้ :
ความไม่สอดคล้องของความบริสุทธิ์ไร้มลทินกับธรรมชาติของมนุษย์
อะห์มัด อะมีน นักเขียนชาวอียิปต์ เชื่อว่า ความบริสุทธิ์ไร้มลทินไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์ เพราะมนุษย์มีพลังทางประสาทสัมผัสและอารมณ์ต่างๆ เขามีทั้งความปรารถนาที่ดีและความปรารถนาที่ชั่ว หากความปรารถนาเหล่านี้ถูกยึดไปจากเขา เหมือนกับว่า การเป็นมนุษย์ของเขาถูกพรากไป ดังนั้น ไม่มีมนุษย์คนใดที่ปราศจากการกระทำบาป แม้แต่ศาสดาก็ไม่สามารถหลีกหนีจากบาปได้ [๖๒]
อายะตุลลอฮ์ ญะวาดี อามุลี ได้ตอบข้อสงสัยนี้โดยอ้างถึงสารัตถะของมนุษย์ ซึ่งหมายถึง จิตวิญญาณของเขา โดยเขากล่าวว่า สารัตถะของมนุษย์ถูกสร้างขึ้นมาในลักษณะที่สามารถพัฒนาไปสู่ความสูงสุดของความบริสุทธิ์ไร้มลทินได้ เพราะในจิตวิญญาณของมนุษย์จะได้รับความสามารถในการเดินทางไปยังจุดสูงสุด ได้รับการปกป้องจากความผิดพลาด การหลงลืม ความละเลย และความไม่รู้ ในทัศนะของเขา เห็นได้ว่า หากจิตวิญญาณของบุคคลเข้าสู่โลกแห่งสติปัญญาบริสุทธิ์การค้นพบและสัญชาตญาณที่ถูกต้อง เขาจะเข้าใจความจริงและสิ่งที่ถูกต้องโดยปราศจากความสงสัย การลังเล ความผิดพลาด การหลงลืม และความละเลย ด้วยเหตุนี้ บุคคลที่ผ่านโลกแห่งวัตถุและภาพลวงตาและไปถึงแหล่งที่มาของความจริง จึงมีความสามารถที่จะมีความบริสุทธิ์ไร้มลทิน [๖๓]
แหล่งที่มาของแนวคิดเรื่องความบริสุทธิ์ไร้มลทิน
กลุ่มหนึ่งมีความเห็นว่า แนวคิดเรื่องความบริสุทธิ์ไร้มลทินไม่ได้มีอยู่ในแหล่งข้อมูลทางอิสลามยุคแรก และเป็นอุติรกรรมที่เข้ามาในคำสอนอิสลามจากชาวคัมภีร์ อิหร่านโบราณ ตะเซาวุฟ หรือคำสอนของศาสนาโซโรอัสเตอร์ [๖๔]
ในคำตอบระบุว่า ความเชื่อในความบริสุทธิ์ไร้มลทินของบรรดาศาสดา เป็นเรื่องที่มีการแพร่หลายและได้รับการยอมรับในหมู่ชาวมุสลิมยุคแรก ซึ่งมีรากฐานมาจากคำสอนในอัลกุรอานและคำสอนของศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) [๖๕] ชาวคัมภีร์ไม่สามารถคิดค้นแนวคิดเรื่องความบริสุทธิ์ไร้มลทินได้ เนื่องจากในคัมภีร์โตราห์ได้มีการกล่าวถึงบาปและความชั่วร้ายที่เลวร้ายที่สุด ซึ่งเกี่ยวข้องกับศาสดาทั้งหลาย [๖๖] นอกจากนี้ เมื่อลัทธิซูฟียังไม่ได้เป็นรูปแบบอย่างที่เรารู้จัก แนวคิดเรื่องความบริสุทธิ์ไร้มลทินก็ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายในหมู่ชาวชีอะฮ์ ดังนั้น ลัทธิซูฟีจึงไม่สามารถเป็นแหล่งกำเนิดของแนวคิดนี้ได้ [๖๗] แม้ว่า ทั้งศาสนาอิสลามและศาสนาโซโรอัสเตอร์จะมีหลักคำสอนที่เกี่ยวข้องกับความบริสุทธิ์ไร้มลทินเหมือนกัน แต่ก็ไม่สามารถนำมาเป็นหลักฐานได้ว่าศาสนาใดได้รับอิทธิพลจากอีกฝ่าย แต่เป็นเพราะสาระสำคัญของศาสนาศักดิ์สิทธิ์ทั้งสองนั้นมีความคล้ายคลึงและหลักการของทั้งสองศาสนานั้นสอดคล้องกัน [๖๘]
ความไม่สอดคล้องกันกับการขอการอภัยโทษจากบรรดาผู้บริสุทธิ์
บางคนเชื่อว่า แนวคิดเรื่องความบริสุทธิ์ไร้มลทินนั้นไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมของบรรดาศาสดาและอิมามทั้งหลาย เพราะผู้บริสุทธิ์เหล่านี้ได้แนะนำตัวเองว่า เป็นผู้ที่กระทำบาปในหลายโอกาสและขอการอภัยโทษจากพระเจ้า ดังนั้น การพิจารณาพวกเขาว่า มีความบริสุทธิ์ไร้มลทิน จึงเป็นเรื่องที่พวกเขาเองไม่ยอมรับ [๖๙]
ในการตอบข้อโต้แย้งเหล่านี้ นักวิชาการของอิมามียะฮ์ได้แสดงข้อคิดเห็นหลายประการ ดังนี้ :
๑.การขอการอภัยโทษ สามารถเกิดจากการเข้าใจถึงความยิ่งใหญ่ของความจริงและความรู้ที่เหนือกว่าของผู้บริสุทธิ์ทั้งหลาย [๗๐]
๒.การขอการอภัยโทษจากผู้บริสุทธิ์ ไม่ถือเป็นบาป แต่ผู้บริสุทธิ์ ถือว่า เป็นบาปสำหรับตนเองเนื่องจากสถานภาพที่สูงส่งของพวกเขา [๗๑]
๓.บรรดาผู้บริสุทธิ์ได้ขออภัยโทษจากสถานภาพที่ต่ำกว่า เนื่องจากการเคลื่อนไหวและพฤติกรรมของพวกเขา [๗๒]
๔.การอภัยโทษของพวกเขา ไม่ใช่เพื่อบาปของตนเอง แต่ทว่าเป็นการขอการอภัยเพื่อบาปของประชาชาติ และเป็นหนึ่งในแง่มุมของชะฟาอะฮ์จากศาสดาและอิมาม [๗๓]
๕.ผู้บริสุทธิ์ได้ปฏิบัติเช่นนี้ เพื่อเป็นคำสอนให้ผู้อื่นทราบถึงวิธีการสารภาพบาป การกลับตัวกลับใจ และการสำนึกผิด [๗๔]
ผลงานประพันธ์
มีหนังสือหลายเล่มที่เขียนเกี่ยวกับความบริสุทธิ์ไร้มลทิน รวมถึง :
อัตตันบีฮ์ อัลมะอ์ลูม อัลบุรฮาน อะลา ตันซีฮิลมะอ์ศูม อะนิซซะฮ์ว์ วันนิซยาน เขียนโดย เชคฮุร อามิลี
อิศมัต อัศ มันซัร ฟะรีกัยน์ เขียนโดย ซัยยิดอะลี ฮุซัยนี มีลานี
พะยูฮิชชี ดัร อิศมะเต มะอ์ศูมอน เขียนโดย อะห์มัดฮุเซน ชะรีฟี และ ฮะซัน ยูซุฟฟียอน
อิศมัต อัซ ดีซเกาะเฮ ชีเอะฮ์ วะ อะห์ลิตะซันนุน เขียนโดย ฟาฏิมะฮ์ มุฮักกิก
อิศมัต ซารูรียัต วะ ออษอร เขียนโดย ซัยยิดมูซา ฮาชิมี ตันกาบุนี
อันดีเชะฮ์เย กะลอมีเย อิศมัต พะยอมัดฮอเย ฟิกฮี วะ อุศูเลฟิกฮี เขียนโดย เบฮ์รูซ มีนออี ในหนังสือนี้ ได้เขียนถึงผลทางด้านหลักศรัทธาของอิศมัต ในทัศนะของฟิกฮ์และอุศูล ฟิกฮ์ (๗๕)
มันชะเอ อิศมัต อัซ กุนอฮ์ วะ คะฏอ นะซะรีเยฮอ วะ ดีดเกาะฮอ เขียนโดย อับดุลฮุเซน กาฟีย์