อิมามียะฮ์
อิมามียะฮ์ ชีอะฮ์สิบสองอิมาม หรือชีอะฮ์อิษนาอะชะรียะฮ์ (ภาษาอาหรับ: الاثنا عشرية) ถือเป็นสาขาหนึ่งที่ใหญ่ที่สุดของสำนักคิดชีอะฮ์ ตามความเชื่อของชีอะฮ์อิมามียะฮ์ ระบุว่า ความเป็นผู้นำในสังคม หลังจากศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) จะต้องเป็นหน้าที่ของอิมาม และอิมามยังได้รับการแต่งตั้งมาจากพระผู้เป็นเจ้า ชีอะฮ์อิมามียะฮ์ ยังถือว่า ตามฮะดีษต่างๆ เช่น ฮะดีษเฆาะดีร ได้บ่งบอกว่า อะลี บิน อะบีฏอลิบ คือ ตัวแทนของศาสดาแห่งอิสลาม และเขาเป็นอิมามคนแรก และตามความเชื่อของชีอะฮ์สิบสองอิมาม ยังถืออีกว่า อิมามคนที่สิบสอง คือ มะฮ์ดี เขานั้นยังมีชีวิตอยู่และอยู่ในช่วงยุคสมัยของการเร้นกาย ขณะที่ สำนักคิดซัยดียะฮ์และอิสมาอีลียะฮ์ ทั้งสองสาขาของชีอะฮ์นั้น ไม่มีความเชื่อในอิมามสิบสอง และพวกเขาถือว่า จำนวนของอิมามมิได้ถูกจำกัดไว้เพียงสิบสองคนเท่านั้น
หลักความศรัทธาของชีอะฮ์อิมามียะฮ์ มีทั้งหมด ห้าประการด้วยกัน พวกเขาก็เหมือนกับชาวมุสลิมคนอื่นๆที่มีความเชื่อในหลักเตาฮีด นบูวะฮ์ และมะอาด นอกเหนือจากนี้ พวกเขายังมีความเชื่อในหลักการอีกสองประการ กล่าวคือ หลักอิมามะฮ์ และหลักอัดล์ ซึ่งพวกเขาได้แยกออกจากอะฮ์ลิซซุนนะฮ์ในสองหลักการนี้ ร็อจญ์อะฮ์ เป็นความเชื่ออันเฉพาะของชีอะฮ์อิมามียะฮ์ ตามหลักการนี้ ผู้เสียชีวิตบางคนจะย้อนกลับมายังโลกนี้ หลังจากการปรากฏกายของอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.)
บรรดาชีอะฮ์ อิมามียะฮ์ ได้ดำเนินกิจการบางประการในการดำเนินชีวิตของพวกเขา เช่น การทำอะมั้ลอิบาดะฮ์ การค้าขาย และการบริจาคทาน เป็นไปตามหลักของศาสนบัญญัติ พวกเขายังได้ยึดเอาแหล่งข้อมูลทั้งสี่ประการ ประกอบด้วย อัลกุรอาน ริวายะฮ์ของศาสดาของอิสลาม (ศ็อลฯ)และริวายะฮ์ของบรรดาอิมามทั้งสิบสอง นอกจากนี้ สติปัญญาและอิจมาอ์(ฉันทามติ)สำหรับการพิสูจน์แนวคิดทางด้านเทววิทยา ฟิกฮ์ อัคลาก และอื่นๆ เชคฏูซีย์ อัลลามะฮ์ ฮิลลี และเชคมุรตะฎอ อันศอรีย์ เป็นหนึ่งในนักนิติศาสตร์ที่โดดเด่นที่สุดและเชคมุฟีด คอว์เญะห์ นะศีรุดดีน ฏูซีย์ และอัลลามะฮ์ ฮิลลี ก็ถือเป็นนักเทววิทยาที่มีชื่อเสียงของอิมามียะฮ์อีกด้วย
ในปี 907 ค.ศ. กษัตริย์ชาฮ์อิสมาอีล ได้ก่อตั้งระบอบการปกครองศอฟาวียะฮ์ และประกาศว่า มัสฮับอิมามียะฮ์ เป็นมัสฮับอย่างเป็นทาางการของอิหร่าน ซึ่งระบอบการปกครองนี้มีบทบาทอย่างมากในการขยายอิทธิพลของมัสฮับอิมามียะฮ์ในประเทศอิหร่าน ขณะที่สาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านในปัจจุบันนี้ เป็นระบอบการเมืองของอิหร่านที่ตัวเองนั้นพึ่งพาหลักความศรัทธาของมัสฮับอิมามียะฮ์และยังแนะนำหลักฟิกฮ์ของชีอะฮ์อิมามียะฮ์อีกด้วย
อีดเฆาะดีร วันวิลาดัตอิมามอะลี บิน อะบีฏอลิบ วันวิลาดัตของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ บินติ มุฮัมมัด และวันนิศฟูชะอ์บาน ถือเป็นวันอีดที่สำคัญที่สุดของมัสฮับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับชาวชีอะฮ์อิมามียะฮ์
การจัดงานไว้อาลัยให้กับบรรดาผู้บริสุทธิ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การไว้อาลัยให้กับอิมามฮุเซน บิน อะลี (อ.) พร้อมทั้งเหล่าสาวกผู้ใกล้ชิดของเขา ในเดือนมุฮัรรอม ถือเป็นพิธีกรรมที่สำคัญอีกประการหนึ่งของพวกเขา
ไม่มีการรายงานถึงสถิติที่แน่นอนเกี่ยวกับจำนวนของชีอะฮ์อิมามียะฮ์ในโลก แต่ทว่าจากสถิติที่มีอยู่ รวมทั้งชีอะฮ์ซัยดียะฮ์และชีอะฮ์อิสมาอียะฮ์ เข้าด้วย จะเห็นได้ว่า ประชากรชีอะฮ์ในโลก อยู่ในระหว่าง 154 จนถึง 200 ล้านคน ตามรายงานของบางสถิติ ซึ่งเท่ากับ 10 ถึง 13 เปอร์เซ็นของชาวมุสลิมในโลก และจากสถิติอื่นๆ รายงานว่า ชีอะฮ์มีมากกว่า 300 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 19 เปอร์เซ็นของประชากรมุสลิมของโลก และชาวชีอะฮ์ส่วนใหญ่ ระหว่าง 68 ถึง 80 เปอร์เซ็นนั้น อาศัยอยู่ใน 4 ประเทศ ได้แก่ อิหร่าน อิรัก ปากีสถานและอินเดีย
ประวัติที่มาของชีอะฮ์
เกี่ยวกับประวัติที่มาของชีอะฮ์ มีมุมมองที่แตกต่างกัน เช่น ในยุคสมัยการมีชีวิตอยู่ของศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) หลังจากเหตุการณ์ ซะกีฟะฮ์ หลังจากการถูกสังหารของอุษมาน และหลังจากเหตุการณ์ของฮะกะมียะฮ์ ถือเป็นประวัติที่มาของชีอะฮ์ทั้งสิ้น (1) ตามความเชื่อของซัยยิดมุฮัมมัด ฮุเซน ฏอบาฏอบาอี นักปรัชญา และนักตัฟซีรอัลกุรอาน ในศตวรรษที่สิบห้าแห่งฮิจเราะฮ์ศักราช ถือว่า การเริ่มต้นของการเกิดขึ้นของชีอะฮ์ ในช่วงแรกถูกเรียกว่า ชีอะฮ์อะลี ในยุคสมัยการมีชีวิตของศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) (2) จนกระทั่งหลายศตวรรษ หลังจากถือกำเนิดของอิสลาม คำว่า ชีอะฮ์ ไม่ได้ถูกใช้เฉพาะกับผู้ที่มีความเชื่อในความเป็นผู้นำของพระเจ้าของบรรดาอิมาม แต่ทว่า ได้ใช้กับผู้ที่มีความรักต่อบรรดาอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) หรือบุคคลที่ถือว่าอิมามอะลี (อ.)มีความสูงส่งกว่าอุษมาน โดยเรียกพวกเขาว่า ชีอะฮ์อะลี (3) ล่าสุด ส่วนมากของบรรดาอัศฮาบของอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) มีสองฝ่ายด้วยกัน (4) ยังมีการกล่าวกันว่า นับตั้งแต่สมัยของอิมามอะลี (อ.) ชีอะฮ์มีความเชื่อเช่นกัน หมายถึง ผู้ปฏิบัติตามเขาบางคน เชื่อว่า เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นอิมามจากพระผู้เป็นเจ้า (5) แน่นอนว่า จำนวนของกลุ่มนี้นั้นมีน้อยมาก (6) ในยุคสมัยของอิมามฮะซัน (อ.)และอิมามฮุเซน (อ.) แม้ว่าจำนวนชีอะฮ์จะเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะถูกเรียกว่าเป็น นิกายของศาสนา (7) ในเวลานั้น มีชีอะฮ์ที่มีความรักต่ออะฮ์ลุลบัยต์เป็นจำนวนมาก แต่บางริวายะฮ์รายงานว่า จำนวนของผู้ที่เชื่อว่าอิมามเป็นตำแหน่งที่ได้รับจากพระผู้เป็นเจ้า มีน้อยกว่า 50 คน (8) จากช่วงท้ายของศตวรรษที่สาม ชีอะฮ์อิมามียะฮ์ ถือเป็นสำนักคิดที่มีความแตกต่างจากสำนักคิดชีอะฮ์อื่นๆ หลังจากการถูกทำชะฮาดัตของอิมามฮะซัน อัสกะรี (อ.) กลุ่มหนึ่งของชีอะฮ์มีความเชื่อว่า โลกจะไม่มีวันคงอยู่ได้หากปราศจากอิมาม โดยพวกเขาเชื่อในการมีอยู่ของอิมามที่สิบสองและการเร้นหายของเขา กลุ่มนี้จึงรู้จักกันในชื่อ ชีอะฮ์อิมามียะฮ์ หรือ ชีอะฮ์อิมามสิบสอง (9)จากเวลานี้เป็นต้นไป จำนวนของสำนักคิดชีอะฮ์นี้ก็ค่อยๆ เพิ่มมากขึ้นตามคำกล่าวของเชคมุฟีด ในช่วงยุคสมัยของเขา กล่าวคือ ปี 373 ฮ.ศ. ชีอะฮ์อิมามสิบสอง มีผู้ติดตามมากที่สุดในบรรดาสำนักคิดอื่นๆ ของชีอะฮ์(10)
ความเชื่อ
รากฐานของความศรัทธาของชีอะฮ์อิมามียะฮ์ มี 5 ประการ ด้วยกัน และเช่นเดียวกันกับบรรดามุสลิมที่มีความเชื่อว่า หลักเตาฮีด นบูวะฮ์ และมะอาด เป็นรากฐานของศาสนา นอกจากนี้ ชีอะฮ์อิมามียะฮ์ ยังมีความเชื่อว่า อิมามะฮ์ และอัดล์ เป็นรากฐานของศาสนาอีกด้วย และพวกเขาจึงถูกแยกออกจากมัสฮับของชาวอะฮ์ลิซซุนนะฮ์ (11) ตามความเชื่อของพวกเขา หลังจาก ศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) จำเป็นที่จะต้องมีบุคคลหนึ่งที่ชื่อว่า อิมามเข้ามาแทนที่เขา และปฏิบัติตามภารกิจของเขาต่อไปอย่างต่อเนื่อ และพวกเขาถือว่า การแต่งตั้งอิมามเหมือนกับการแต่งตั้งศาสดาโดยพระเจ้า และพวกเขากล่าวว่า อัลลอฮ์ (ซ.บ.)ทรงแนะนำอิมามแก่ประชาชนโดยผ่านทางศาสดา [12] บรรดาชีอะฮ์อิมามียะฮ์ ตามริวายะฮ์ที่รายงานจากศาสดาแห่งอิสลาม พวกเขาเชื่อว่า อิมามอะลี (อ.)ได้รับการแนะนำให้เป็นผู้สืบทอดตำแหน่งและเป็นอิมามคนแรกตามพระบัญชาของพระเจ้า [13] พวกเขาเชื่อในอิมามสิบสองคนบนพื้นฐานของฮะดีษต่างๆ เช่น ฮะดีษลูฮ์ [14] อิมามทั้งสิบสองคนของบรรดาชีอะฮ์อิมามียะฮ์ ประกอบด้วย:
- อะลี บิน อบีฏอลิบ
- ฮะซัน บิน อะลี
- ฮุเซน บิน อะลี
- อะลี บิน ฮุเซน (อิมามซัจญาด)
- มุฮัมมัด บิน อะลี (อิมามบากิร)
- ญะอ์ฟัร บิน มุฮัมมัด (อิมามศอดิก)
- มูซา บิน ญะอ์ฟัร (อิมามกาซิม)
- อะลี บินมูซา (อิมามริฎอ)
- มุฮัมมัด บิน อะลี (อิมามญะวาด)
- อะลี บิน มุฮัมมัด (อิมามฮาดี)
- ฮะซัน บิน อะลี (อิมามอัสกะรี)
- ฮุจญะฮ์ บิน อัลฮะซัน (อิมามมะฮ์ดี)
(15)
ตามความเชื่อของบรรดาชีอะฮ์อิมามียะฮ์ ถือว่า อิมามมะฮ์ดี อิมามคนที่สิบสองมีชีวิตอยู่และได้อยู่ในช่วงของการเร้นกายครั้งใหญ่และในช่วงเวลานั้น เขาจะลุกขึ้นต่อสู้และทำให้โลกได้รับความยุติธรรม (16)อัดล์ ก็เช่นเดียวกับอิมามัต เป็นหนึ่งในหลักการของทางศาสนาของชาวชีอะฮ์ และชาวชีอะฮ์ เช่นเดียวกับมุอ์ตะซิละฮ์ ถูกเรียกว่า อัดลียะฮ์ เนื่องจากความเชื่อของพวกเขา ตามหลักคำสอนของความยุติธรรม พระเจ้าทรงประทานความกรุณาและความเมตตา ตลอดจน การทดสอบและกาประทานความโปรดปราน ตามความเหมาะสมจากการกระทำความดีและความชั่วดั้งเดิม [17] ร็อจญ์อะฮ์ และบะดาอ์ ถือเป็นหนึ่งในความเชื่ออันเฉพาะของบรรดาชีอะฮ์อิมามียะฮ์ [18] ร็อจญ์อะฮ์ หมายถึงหลังจากการปรากฏตัวของอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ) ผู้ศรัทธาและชาวชีอะฮ์บางส่วน ตลอดจนเหล่าศัตรูของบรรดาอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) ที่เสียชีวิตไปแล้ว จะฟื้นคืนชีพมีชีวิตใหม่อีกครั้งหนึ่ง และเหล่าผู้ที่กระทำความชั่ว จะถูกลงโทษตามการกระทำของพวกเขา (19) ตามคำสอนของบะดาอ์ พระเจ้าจะทรงเปิดเผยการงานหนึ่งให้ศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ)และบรรดาอิมาม ได้รับทราบ อันเนื่องจากความเหมาะสมของการงานนั้น และหลังจากนั้น การงานอื่นจะเข้ามาแทนที่การงานนั้น (20) หนังสือ อะวาอิลุลมะกอลาต ตัซฮีฮุลอิอ์ติกอด ตัจญ์รีดุลอิอ์ติกอด กัชฟุลมุรอด ถือเป็นหนังสือที่สำคัญทางเทววิทยาของบรรดาชีอะฮ์อิมามียะฮ์ (21 ) เชคมุฟีด (336หรือ 338-413 ฮ.ศ.) เชคฏูซี (385-460 ฮ.ศ.) คอญิฮ์ นะศีรุดดีน ฏอซี (597-672 ฮ.ศ.) และอัลลามะฮ์ ฮิลลี (648-726 (ฮ.ศ.) ถือเป็นนักวิชาการด้านเทววิทยาที่โดดเด่นที่สุดของอิมามียะฮ์ (22)
ความแตกต่างระหว่างอิมามียะฮ์กับสำนักคิดอื่นๆของชีอะฮ์
สำนักคิดซัยดียะฮ์แและอิสมาอีลียะฮ์ ถือเป็นสำนักคิดของชีอะฮ์ ที่ไม่ยอมรับบรรดาอิมามทั้งสิบสองคน โดยพวกเขาไม่ได้เจาะจงจำนวนของอิมามเพียงสิบสองคนเท่านั้น ซัยดียะฮ์ เชื่อว่า ศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) ได้เปิดเผยการเป็นอิมามัตของอิมามทั้งสามคน กล่าวคือ อิมามอะลี (อ.) อิมามฮะซัน (อ.) และอิมามฮุเซน (อ. [23]หลังจากพวกเขา เมื่อใดก็ตามที่มีบุคคลใดที่มีความกล้าหาญชาญชัย และเป็นผู้ที่ใจการุณย์ และสืบเชื้อสายมาจากท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ แล้วเขาได้ลุกขึนต่อสู้ ฉะนั้น เขาเป็นอิมาม[24] ซัยด์ บินอะลี ยะฮ์ยา บิน ซัยด์ มุฮัมมัด บิน อับดุลลอฮ์ บิน ฮะซัน (นัฟซุซซะกียะฮ์ ) อิบรอฮีม บิน อับดุลลอฮ์ และชะฮีดฟัค ล้วนเป็นอิมามของสำนักคิดซัยดียะฮ์ทั้งสิ้น [25]
อิสมาอีลียะฮ์ ไม่ยอมรับในการเป็นอิมามัตของอิมามคนที่สองของอิมามียะฮ์ หมายถึง อิมามฮะซัน มุจญ์ตะบา (อ.) [26] พวกเขายอมรับในการเป็นอิมามัตของอิมามคนอื่นๆ จนถึงอิมามศอดิกเพียงเท่านั้น [27] และพวกเขาเชื่อว่า หลังจากอิมามศอดิก (อ.) คือ การเป็นอิมามัตของอิสมาอีล บุตรชายของเขา และมุฮัมมัด บิน อิสมาอีล [28] ตามความเชื่อของสำนักคิดอิสมาอีลียะฮ์(29) ถือว่า การเป็นอิมามัต มีช่วงเวลาที่แตกต่างกันและในทุกยุคสมัย จะมีอิมามทั้งเจ็ดคนในการดำรงตำแหน่งอิมามัต.(30)
หลักปฏิบัติ
หลักปฏิบัติในมัสฮับอิมามียะฮ์ เฉกเช่นเดียวกับมัสฮับอื่นๆของศาสนาอิสลาม ส่วนมากเรื่องต่างๆของการดำเนินชีวิต เช่น การอิบาดัต การทำธุรกรรม การจ่ายเงินชัรอีย์ เช่น คุมส์และซะกาต การแต่งงาน และการแบ่งมรดก จะต้องดำเนินการตามหลักการปฏิบัติตามศาสนบัญญัติ.(31)] อัลกุรอานและริวายัตของอิมามทั้ง 12 สองคน เป็นสองแหล่งที่มาหลักของหลักการปฏิบัติทางศาสนาของมัสฮับอิมามียะฮ์ (32) หลักปฏิบัติได้รับการช่วยเหลือจากวิชาดิรอยะฮ์ ริญาล อุศูลุลฟิกฮ์ และฟิกฮ์ (33) หนังสือชะรอยิอุลอิสลาม ,อัลลุมอะตุดดะมิชกียะฮ์, ชะเราะฮ์ลุมอะฮ์ ,ญะวาฮิรุลกะลาม, มะกอซิบ และอัลอุรวะตุลวุษกอ ถือเป็นหนังสือที่มีชื่อเสียงทางด้านฟิกฮ์(นิติศาสตร์) ของมัสฮับอิมามียะฮ์ (34) เชคฏูซี ,มุฮักกิก ฮิลลี ,อัลลามะฮ์ฮิลลี ,ชะฮีดเอาวัล, ชะฮีดษานี ,กาชิฟุลฆิฏออ์ ,มิรซากุมมี และเชคมุรตะฎอ อันศอรี ถือเป็นบรรดานักนิติศาสตร์ที่โดดเด่นที่สุดของมัสฮับนี้.(35)
มัรญิอ์ ตักลีด
มัรญิอ์ ตักลีด ในปัจจุบันนี้ หลักการปฏิบัติตามศาสนบัญญัติจะถูกนำเสนอในหนังสือ เตาฎีฮุลมะซาอิล ซึ่งเขียนโดยบรรดามัรญิอ์ ตักลีด(36) มัรญิอ์ ตักลีด จึงหมายถึง มุจญ์ตะฮิดผู้หนึ่งที่บุคคลอื่นๆได้ปฏิบัติตามเขา กล่าวคือ พวกเขาจะปฏิบัติศาสนากิจตามทัศนะทางนิติศาสตร์(คำฟัตวา) ของมุจญ์ตะฮิดผู้นั้น และทำการจ่ายเงินชัรอีย์ให้กับเขาหรือตัวแทนของเขา. (37)
วันสำคัญทางศาสนา
นอกเหนือจากวันอีดฟิฏร์ วันอีดกุรบาน วันอีดมับอัษ และวันเมาลิดนบี ซึ่งถือเป็นวันอีดทางศาสนาของชาวมุสลิมทั้งหมด ยังมีวันอีดเฆาะดีร วันวิลาดัตอิมามอะลี (อ.) วันวิลาดัตท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (ซ.) และวันนิศฟูชะอ์บาน ถือว่า เป็นวันอีดที่สำคัญของมัสฮับชีอะฮ์อิมามียะฮ์ โดยพวกเขาจะจัดงานเฉลิมฉลองให้กับวันวิลาดัตของบรรดาอิมามท่านอื่นๆอีกด้วยเช่นกัน (38) ในมัสฮับอิมามียะฮ์ มีการปฏิบัติอันจำเพาะทางมัสฮับในแต่ละวันอีด ตัวอย่างเช่น ในวันอีดกุรบาน ให้กระทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การอาบน้ำฆุซุล การนมาซวันอีดกุรบาน การเชือดเนื้อสัตว์กุรบาน การซิยาเราะฮ์อิมามฮุเซน (อ.) และการอ่านดุอานุดบะฮ์ เป็นการกระทำที่เป็นมุสตะฮับ. (39)บรรดาชีอะฮ์จะจัดพิธีไว้อาลัยในบางส่วนของวันต่างๆของปี เนื่องจากการแสดงความรักต่อบรรดามะอ์ศูมและการแสดงความเสียใจด้วยความโศกเศร้าของพวกเขา. (40) พิธีไว้อาลัยของชีอะฮ์ส่วนใหญ่ จะจัดขึ้นในเดือนมุฮัรรอม เพื่อการไว้อาลัยให้กับอิมามฮุเซน (อ.) พร้อมเหล่ามิตรสหายของเขา พิธีไว้อาลัยที่สำคัญที่สุดของชาวชีอะฮ์จะจัดขึ้นในช่วงสิบวันแรกของเดือนมุฮัรรอม สิบวันสุดท้ายของเดือนซอฟัร วันอัรบาอีน และช่วงอัยยาม ฟาฏิมียะฮ์. การซิยาเราะฮ์ศาสดามุฮัมมัด(ศ็อลฯ) และอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) เป็นหนึ่งในพิธีกรรมทางศาสนาที่สำคัญที่สุดของมัสฮับชีอะฮ์ อิมามียะฮ์. (41) พวกเขายังถือว่า การซิยาเราะฮ์อิมามซาเดห์ นักการศาสนา ผู้สูงส่งและระดับสูงก็มีความสำคัญด้วยเช่นกัน (42) ในริวายัตของชีอะฮ์ มีคำแนะนำมากมายที่่เกี่ยวกับการขอพรและการขอตะวัซซุลและบทขอพรและบทซิยาเราะฮ์มากมาย(43) บางบทของขอพรและบทซิยาเราะฮ์ที่ถูกรู้จักที่สุด กล่าวคือ บทดุอากุเมล (44) บทดุอาวันอะรอฟะฮ์ (45) บทดุอานุดบะฮ์ (46) บทมุนาญาตชะอ์บานียะฮ์ (47) บทดุอาตะวัซซุล (48) บทซิยาเราะฮ์อาชูรอ (49) บทซิยาเราะฮ์ญามิอะตุลกะบีเราะฮ์ (50) และบทซิยาเราะฮ์อะมีนุลลอฮ์. (51)
แหล่งที่มาของแนวคิดอิมามียะฮ์
บรรดาชีอะฮ์ใช้หลักฐานอ้างอิงที่มาจากแหล่งที่มาทั้งสี่ประการ ได้แก่ อัลกุรอาน ริวายัตของศาสดามุฮัมมัด(ศ็อลฯ)และบรรดาอิมาม อักล์(สติปัญญา)และอิจญ์มาอ์ (ฉันทามติ)ในแนวคิดทางด้านกะลาม(หลักศรัทธา) ฟิกฮ์(หลักปฏิบัติ) และอัคลาก(จริยธรรมและศีลธรรม) ฯลฯ เป็นต้น (52)
- อัลกุรอาน
บรรดาชีอะฮ์อิมามียะฮ์ ถือว่า อัลกุรอาน เป็นแหล่งคำสอนและความรู้ทางศาสนาแหล่งแรกและที่สำคัญที่สุด. ความสำคัญของอัลกุรอานในหมู่พวกเขาคือ หากมีริวายัตขัดแย้งกับอัลกุรอาน ริวายัตนั้นก็จะไม่มีความถูกต้อง. (53) ตามคำกล่าวของมุฮัมมัด ฮาดี มะอ์รีฟัต บรรดาชีอะฮ์ทุกคน ถือว่า อัลกุรอานที่มีอยู่ในมือในปัจจุบันนี้ มีความถูกต้องและมีความสมบูรณ์อย่างยิ่ง. (54)
- ริวายัตของศาสดามุฮัมมัดและบรรดาอิมาม ผู้บริสุทธิ์
มัสฮับอิมามียะฮ์ เฉกเช่นเดียวกับมัสฮับอื่นๆของศาสนาอิสลาม มีความเชื่อว่า ซุนนะฮ์ของศาสดามุฮัมมัด กล่าวคือ คำพูดและการกระทำของเขา เป็นฮุจญัต(ข้อพิสูจน์ที่ชัดเจน). (55) บรรดาชีอะฮ์อิมามียะฮ์ ได้ปฏิบัติตามอะฮ์ลุลบัยต์(อ.)และมีคำสั่งให้ย้อนกลับไปยังพวกเขาบนพื้นฐานของฮะดีษต่างๆเช่น ฮะดีษษะเกาะลัยน์ และฮะดีษซะฟีนะฮ์ ทั้งนี้ ริวายัตของบรรดาอะฮ์ลุลบัยต์ ยังถือว่าเป็นแหล่งที่มาหลักของแนวคิดทางศาสนาของพวกเขาด้วยเช่นกัน. (56) โดยพวกเขาได้ให้ความสำคัญอย่างมากในการจดบันทึกฮะดีษของศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ)และบรรดาอิมามทั้งสิบสองคน.(57)
หนังสือริวายัตของชีอะฮ์อิมามียะฮ์ ที่สำคัญที่สุด ได้แก่ กาฟีย์ ตะฮ์ซีบุลอะฮ์กาม อิสติบศอร และมัน ลายะฮ์ฎูร ซึ่งทั้งหมดเหล่านี้ล้วนเป็นหนังสือที่สำคัญเรียกว่า กุตุบอัรบะอะฮ์ หรืออุศูลอัรบะอะฮ์.(58) และหนังสือญามิอ์ฮะดีษอื่นๆที่เป็นที่รู้จักของชีอะฮ์ คือ อัลวาฟีย์ บิฮารุลอันวาร วะซาอุลุชชีอะฮ์ มุสตัดรอก มีซานุลฮิกมะฮ์ ญามิอ์ อะฮาดีษอัชชีอะฮ์ อัลฮะยาต และอาษารุศศอดิกีน (60) บรรดาชีอะฮ์ไม่ถือว่าทุกฮะดีษนั้นมีความถูกต้อง โดยมาตรฐานของพวกเขา ก็คือ ฮะดีษนั้นจะต้องไม่ขัดแย้งกับอัลกุรอาน ความน่าเชื่อถือของผู้รายงานและความเป็นมุตะวาติรของฮะดีษ ด้วยเหตุนี้เอง จึงต้องอาศัยวิชาดิรอยะตุลฮะดีษและริญาลในการพิสูจน์ฮะดีษนั้นๆ. (61)
- อักล์
อักล์ (สติปัญญา) มีสถานภาพที่พิเศษในมัสฮับอิมามียะฮ์.บรรดาชีอะฮ์ใช้อักล์ในการพิสูจน์หลักศรัทธาของพวกเขา.(62) พวกเขายังถือว่า อักล์ เป็นแหล่งที่มาของหลักการปฏิบัติตามศาสนบัญญัติและพิสูจน์กฎเกณฑ์ทางนิติศาสตร์และพื้นฐานบางประการและคำวินิจฉัยทางศาสนาด้วยสติปัญญา.(63)
- อิจญ์มาอ์
อิจญ์มาอ์ (ฉันทามติ) เป็นหนึ่งในสี่ประการของแหล่งที่มาของคำวินิจฉัยของหลักปฏิบัติศาสนบัญญัติและได้มีการพูดถึงในมุมมองต่างๆที่เกี่ยวกับศาสตร์ทางด้านหลักการนิติศาสตร์.(64) บรรดานักนิติศาสตร์อิมามียะฮ์ ซึ่งแตกต่างจากอะฮ์ลิซซุนนะฮ์ ไม่ถือว่า อิจญ์มาอ์ เป็นข้อพิสูจน์ที่่เป็นอิสระควบคู่ไปกับอัลกุรอาน ซุนนะฮ์ และสติปัญญา แต่พวกเขาถือว่า เนื่องจากอิจญ์มาอ์ ซึ่งได้รับมาจากมะอ์ศูม จึงถือว่ามีความถูกต้อง. (65)
การปกครองต่างๆ
ในโลกอิสลาม มีการจัดตั้งระบอบการปกครองชีอะฮ์เป็นจำนวนมาก รวมถึงการปกครองราชวงศ์อะละวีแห่งฏอบาริสถาน อาลิบูเยห์ ฟาฏิมีย์ อิสมาอีลีย์ และซอฟาวีย์.การปกครองของราชวงศ์อะละวีย์ ก่อตั้งขึ้นโดยกลุ่มซัยดีย์ [66] การปกครองของราชวงศ์ฟาฏิมีย์และอิสมาอีลีย์แห่งอัลมูต มีพื้นฐานอยู่บนสำนักคิดอิสมาอีลียะฮ์ [67] แต่มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับอาลิยูเยห์ บางคนเชื่อว่า พวกเขาอยู่ในสำนักคิดซัยดียะฮ์ บางคนคิดว่า พวกเขาเป็นอิมามียะฮ์ และบางคนบอกว่าพวกเขาเป็นซัยดียะฮ์ ในช่วงแรก จากนั้นพวกเขาก็หันไปนับถือสำนักคิดอิมามียะฮ์ [68] สุลต่าน มูฮัมหมัด โคดาบันเดห์ หรือที่รู้จักในชื่อ อุลไจโต (ครองราชย์ 703-716ฮ.ศ.) ถือเป็นผู้ปกครองคนแรกที่ประกาศสำนักคิดอิมามิยะฮ์อย่างเป็นทางการและมีความพยายามเผยแพร่สำนักคิดนี้อย่างกว้างขวาง [69] แน่นอนว่า เขาได้ถอยหลังออกมา เนื่องจากการต่อต้านสำนักคิดอะฮ์ลิซซุนนะฮ์ของหน่วยงานภาครัฐในวันนั้น แต่เขายังคงเป็นชีอะฮ์อยู่ต่อไป [70] การปกครองของซัรบ์ดอรอนในซับเซวอร ยังเรียกว่า เป็นระบอบการปกครองแบบชีอะฮ์ [71] สำนักคิดของเหล่าผู้นำและผู้ปกครองซัรบ์ดอรอน ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่สิ่งที่แน่ชัดก็คือ เหล่าผู้นำของพวกเขา คือ ชาวซูฟีซึ่งมีแนวโน้มนับถือชีอะฮ์ด้วยเช่นกัน [72] อย่างไรก็ตาม คอเญห์ อะลี มุอัยยิด ผู้ปกครองคนสุดท้ายของซัรบ์ดอรอน[73] ได้ประกาศให้อิมามียะฮ์เป็นสำนักคิดอย่างเป็นทางการของรัฐบาลของเขา[74]
ราชวงศ์ซอฟะวีย์
ชาห์อิสมาอีล เป็นผู้ก่อตั้งระบอบการปกครองราชวงศ์ซอฟะวีย์ ในปี 907 ฮ.ศ. และประกาศว่า สำนักคิดอิมามียะฮ์ เป็นสำนักคิดอย่างเป็นทางการของอิหร่าน [75] เขาและกษัตริย์ราชวงศ์ซอฟะวีย์คนอื่น ๆ ดำเนินการต่างๆ เช่น การเชิญชวนนักวิชาการชีอะฮ์ให้อพยพไปยังอิหร่าน การก่อตั้งศูนย์กลางการศึกษาและโรงเรียนของชีอะฮ์ ในอิหร่าน และการจัดพิธีไว้อาลัยในเดือนมุฮัรรอม [76] การเผยแพร่อย่างกว้างขวางของสำนักคิดอิมามียะฮ์ในหมู่ชาวอิหร่านและทำให้อิหร่านกลายเป็นประเทศชีอะห์โดยสมบูรณ์ [77]
สาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน
สาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน ภายหลังชัยชนะของการปฏิวัติอิสลามในอิหร่าน ก่อตั้งขึ้นในอิหร่านเมื่อวันที่ 22 บะฮ์มัน 1357 ภายใต้การนำของอิหม่ามโคมัยนี [78] ระบบการเมืองนี้ก่อตั้งขึ้นบนหลักการของสำนักคิดและนิติศาสตร์ของชีอะฮ์ สิบสองอิมาม [79] วิลายะตุลฟะกีฮ์ ถือเป็นเสาหลักที่มีความสำคัญที่สุดของสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านและดูแลสภาทั้งหมดของระบอบการปกครอง [80] ตามรัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน ระบุว่า กฎหมายของประเทศนี้จะไม่ถูกต้องหากไม่สอดคล้องกับศาสนาอิสลาม [81]
ภูมิศาสตร์
ไม่มีสถิติที่แม่นยำเกี่ยวกับจำนวนของชีอะฮ์สิบสองอิมามในโลก และสถิติที่มีอยู่ ได้แก่ ชีอะฮ์ซัยดีและอิสมาอีลีย์ รวมถึง ในรายงานของ Pew Religion and Public Life Association จำนวนชาวชีอะฮ์ในโลก คาดว่าจะอยู่ระหว่าง 154 ถึง 200 ล้านคน ซึ่งเท่ากับร้อยละ 10 ถึง 13 ของชาวมุสลิมในโลก [82] แต่ผู้แปลรายงานฉบับนี้ ถือว่าสถิตินี้ไม่สมจริง ขณะที่จำนวนประชากรที่แท้จริงของชีอะฮ์มีมากกว่า 300 ล้านคน ซึ่งก็คือ 19% ของประชากรมุสลิมทั่วโลก[83]
ชีอะฮ์ส่วนใหญ่ ซึ่งอยู่ระหว่าง 68 ถึง 80% อาศัยอยู่ในสี่ประเทศ: อิหร่าน อิรัก ปากีสถาน และอินเดีย ชาวชีอะฮ์ 66 ถึง 70 ล้านคนอาศัยอยู่ในอิหร่าน ซึ่งเท่ากับ 37 ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ของชาวชีอะฮ์ทั้งหมดในโลก แต่ละประเทศในปากีสถาน อินเดีย และอิรักมีชีอะฮ์มากกว่า 16 ล้านคน [84]
ในสี่ประเทศ ได้แก่ อิหร่าน อาเซอร์ไบจาน บาห์เรน และอิรัก ชาวชีอะฮ์ถือเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ [85] ในภูมิภาคต่างๆ เช่น ตะวันออกกลาง แอฟริกาเหนือ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตุรกี เยเมน ซีเรีย ซาอุดีอาระเบีย อเมริกา และแคนาดา ก็เป็นที่อยู่อาศัยของชาวชีอะฮ์ด้วยเช่นกัน [86]