ร็อจญ์อะฮ์
ร็อจญ์อะฮ์ (ภาษาอาหรับ : الرجعة ) หมายถึง การฟื้นคืนชีพของกลุ่มผู้ตายก่อนวันแห่งการฟื้นคืนชีพ ร็อจญ์อะฮ์ เป็นหนึ่งในความเชื่ออันเฉพาะเจาะจงของบรรดาอิมามียะฮ์ และสำหรับการพิสูจน์ถึงประเด็นนี้ พวกเขาได้ยกหลักฐานจากอัลกุรอานและฮะดีษต่างๆ นอกเหนือจากนี้ พวกเขายังถือว่า ร็อจญ์อะฮ์ เป็นหนึ่งในสิ่งจำเป็นของมัสฮับชีอะฮ์ และยังถืออีกว่า มีฉันทามติเกี่ยวกับความถูกต้องของร็อจญ์อะฮ์ บรรดานักวิชาการอิมามียะฮ์ส่วนใหญ่ ถือว่า ร็อจญ์อะฮ์ เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับการลุกขึ้นต่อสู้และการปรากฏกายของอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.)
แม้ว่า บรรดาอิมามียะฮ์ จะยอมรับหลักร็อจญ์อะฮ์ โดยอ้างอิงจากริวายะฮ์ มุตะวาติร แต่มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องรายละเอียดและลักษณะวิธีการของมัน
บางคน เชื่อว่า ผู้ที่จะย้อนกลับมา เขาจะมาพร้อมกับร่างกายเดียวกันกับที่เขาเคยใช้ชีวิตอยู่ในโลกนี้ บางคนยังกล่าวอีกว่า พวกเขาจะกลับมาพร้อมกับร่างกายที่เป็นมิษาลี (ร่างกายที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับร่างกายทางด้านวัตถุ) บางคนยังเชื่อว่า หลักร็อจญ์อะฮ์ เป็นประเด็นที่ถูกยอมรับ แต่ทว่า มีความแตกต่างกันในความรู้เกี่ยวกับรายละเอียดและวิธีการ ณ พระเจ้าและบรรดาเอาลิยาอ์ของพระองค์
ตามฮะดีษบางบท รายงานว่า บุคคลแรกที่จะย้อนกลับมา คือ อิมามฮุเซน (อ ) นอกเหนือจากนี้ ตามบางริวายะฮ์ของศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) รายงานว่า อิมามอะลี (อ.)และบรรดาอิมามอื่นๆ (อ.) ผู้ศรัทธาทั้งหลายและบรรดาชะฮีด อัศฮาบุลกะฮ์ฟ (ชาวถ้ำ) ท่านยูชะอ์ มุอ์มิน อาลิฟิรอูน และสตรีบางคน เช่น ท่านหญิงอุมมุอัยมัน ฮะบาบะฮ์ อัลวาบียะฮ์ ซุมัยยะฮ์และศิยานะฮ์ อัลมาชิเฏาะฮ์ ทั้งหมดอยู่ในหมู่ผู้ที่จะย้อนกลับมา เหล่าศัตรูของอะฮ์ลุลบัยต์ และเหล่าพวกมุนาฟิก เป็นบุคคลที่จะย้อนกลับมา ด้วยเช่นกัน ตามการรายงานของบางริวายะฮ์และจะมีการแก้แค้นพวกเขาอีกด้วย
มีผลงานประพันธ์เกี่ยวกับร็อจญ์อะฮ์ ผลงานเหล่านี้ ได้แก่ หนังสือ อัลอีกอซ มินัล ฮัจญ์อะฮ์ บิลบุรฮาน อะลัรร็อจญ์อะฮ์ ประพันธ์โดย ฮุร อามิลี และหนังสือ อัชชีอะฮ์ วัรร็อจญ์อะฮ์ เขียนโดย มุฮัมมัดริฎอ เฏาะบะซี นะญะฟี
ความหมายและสถานภาพ
ร็อจญ์อะฮ์ หมายถึง การฟื้นคืนชีพของกลุ่มผู้คนหลังการตายและก่อนวันแห่งการฟื้นคืนชีพ [๑] เชคมุฟีด กล่าวว่า ร็อจญ์อะฮ์ในทัศนะชีอะฮ์ หมายถึง การมีความเชื่อในการกลับมาของอิมามอะลี (อ.)และบรรดาอิมามคนอื่นๆของชีอะฮ์ (อ.) สู่โลกนี้อีกครั้ง หลังจากการเป็นชะฮีดของอิมามมะฮ์ดี (อ.) และมีการปกครองของพวกเขาบนโลกโดยที่ไม่มีความขัดแย้งและการประทะกัน [๒] ร็อจญ์อะฮ์ ทางภาษา หมายถึง การกลับมา [๓]และในริวายะฮ์ต่างๆ ยังใช้คำว่า อัลกัรเราะฮ์ (การกลับมา) [๔]
ร็อจญ์อะฮ์ เป็นประเด็นหนึ่งของความศรัทธาที่เกี่ยวข้องกับประเด็นอิมามัตและมะฮ์ดี ในด้านหนึ่ง เป็นการปูรากฐานของความเชื่อเรื่องวันแห่งการฟื้นคืนชีพ ผลรางวัลและการลงโทษ ด้วยเหตุนี้เอง ในศาสตร์แห่งเทววิทยาอิสลาม จึงมีการอภิปรายกันเกี่ยวกับการพิสูจน์ความถูกต้องและความเป็นจริงของความเชื่อนี้ [๕] นอกเหนือจากนี้ ประเด็นนี้ เป็นหนึ่งในประเด็นที่มีการถกเถียงกันระหว่างชีอะฮ์และอะฮ์ลิสซุนนะฮ์อย่างมาก [๖] รูปแบบของความเชื่อในร็อจญ์อะฮ์นั้น มาจากศาสนายิวและศาสนาคริสต์ ด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ในคัมภีร์เตารอต กล่าวถึงการฟื้นคืนชีพของกลุ่มชนชาวบะนีอิสราเอลและการปกครองของศาสดาดาวูด และการฟื้นคืนชีพของผู้ตายจำนวนมากในยุคสมัยสุดท้าย คัมภีร์ไบเบิล กล่าวถึง การย้อนกลับมาของบรรดาผู้ปฏิบัติตามศาสดาอีซา และการปกครองของเขาในวันแห่งการฟื้นคืนชีพในครั้งแรก ก่อนการฟื้นคืนชีพในครั้งที่สอง [๗]
ความเชื่อในร็อจญ์อะฮ์ เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของชีอะฮ์
ฮุร อามิลี กล่าวว่า การมีความเชื่อในร็อจญ์อะฮ์ เป็นลักษณะที่พิเศษและเป็นสัญลักษณ์ชีอะฮ์ [๘] เชคศอดูก กล่าวไว้ในหนังสือ อัลอิอ์ติกอด ว่า หนึ่งในความศรัทธาของชีอะฮ์ คือ หลักคำสอนเรื่องร็อจญ์อะฮ์ ว่าเป็นความจริง [๙] บรรดานักวิชาการ เช่น เชคมุฟีด [๑๐] ซัยยิดมุรตะฎอ [ ๑๑] ได้อ้างอิงหลักฉันทามติเกี่ยวกับความถูกต้องของความศรัทธาในเรื่องร็อจญ์อะฮ์
บางคนถือว่า นี่เป็นหนึ่งในความเชื่อที่ถูกยอมรับและมีความจำเป็นของชีอะฮ์ ขณะที่บางคนอื่นๆ แม้ว่า พวกเขาจะไม่ได้ถือว่า ร็อจญ์อะฮ์มีความจำเป็น แต่การปฏิเสธความเชื่อนี้ ไม่เป็นที่อนุญาตอีกด้วยเช่นกัน [๑๒] ตัวอย่างเช่น อัลลามะฮ์ มัจญ์ลิซี ได้เขียนไว้ในหนังสือ ฮักกุลยะกีน ว่า ร็อจญ์อะฮ์ เป็นฉันทามติ แต่ทว่า ถือเป็นเฎาะรูรียาต (ความจำเป็น) ของสำนักคิดชีอะฮ์ [๑๓] และการปฏิเสธมันนั้นเทียบเท่ากับการออกจากสำนักคิดชีอะฮ์ [๑๔] ซัยยิด อับดุลลอฮ์ ชุบบัร ยังถือว่า การมีความศรัทธาในร็อจญ์อะฮ์ เป็นเฎาะรูรียาตของสำนักคิดชีอะฮ์ และการปฏิเสธในเรื่องนี้ ถือว่าเป็นออกจากชีอะฮ์ (๑๕) ฮุร อามิลี กล่าวว่า ความเชื่อในเรื่องร็อจญ์อะฮ์ ถือเป็นเฎาะรูรียาต ตามทัศนะส่วนมากของบรรดานักวิชาการอิมามียะฮ์ และไม่มีใครในบรรดานักวิชาการชีอะฮ์ที่มีชื่อเสียงที่พูดหรือเขียนปฏิเสธ [๑๖] ลุฏฟุลลอฮ์ ศอฟี ฆุลพัยฆานี กล่าวว่า ชีอะฮ์มีความเชื่อในร็อจญ์อะฮ์ และการปฏิเสธมัน เป็นการปฏิเสธอัลกุรอานและริวายะฮ์ต่างๆที่เป็นมุตะวาติร ซึ่งพบได้ในแหล่งข้อมูลสายฮะดีษ [๑๗]
แน่นอนว่า บรรดานักวิชาการชีอะฮ์บางคน เช่น ซัยยิด มุห์ซิน อะมิน มุฮัมมัดญะวาด มุฆนียะฮ์ และมุฮัมมัดริฎอ มุซ็อฟฟัร ไม่ถือว่า ความเชื่อในเรื่องร็อจญ์อะฮ์ เป็นเฎาะรูรียาตของมัซฮับชีอะฮ์ และมีความคิดเห็นว่า หลักคำสอนเรื่องร็อจญ์อะฮ์ได้รับการพิสูจน์ด้วยริวายะฮ์ต่างๆของบรรดอิมามของชีอะฮ์และการมีความศรัทธาในเรื่องนี้ สำหรับผู้มีเชื่อในความถูกต้องของริวายะฮ์เหล่านี้เป็นสิ่งที่จำเป็น [๑๘] อิมามโคมัยนี เชื่อว่า หลักการร็อจญ์อะฮ์ เป็นสิ่งที่จำเป็น แต่ทว่าลักษณะและวิธีการนั้นไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นและไม่มีเหตุผลยืนยันอีกด้วย [๑๙]
ทัศนะที่แตกต่างเกี่ยวกับวิธีการร็อจญ์อะฮ์
เชคมุฟีด กล่าวว่า อิมามียะฮ์ มีความคิดเห็นที่ตรงกันเกี่ยวกับหลักความเชื่อร็อจญ์อะฮ์ แต่ทว่า มีความแตกต่างกันในด้านความหมายและวิธีการของร็อจญ์อะฮ์ (๒๐) ซัยยิดอับดุลลอฮ์ ชุบบัร กล่าวไว้ว่า การมีความศรัทธาต่อหลักร็อจญ์อะฮ์ ถือเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่ทว่าเรานั้นไม่มีความรู้ในรายละเอียดและวิธีการของมัน และความรู้ในเรื่องนี้ จะเฉพาะเจาะจงกับพระเจ้าและบรรดาเอาลิยาอ์ของพระองค์เพียงเท่านั้น (๒๑) นักรายงานฮะดีษ (มุฮัดดิษ) บางคนและนักศาสนศาสตร์ มีความเชื่อว่า ร็อจญ์อะฮ์ เฉกเช่นเดียวกับวันแห่งการฟื้นคืนชีพ โดยพระผู้เป็นเจ้าจะชุบชีวิตผู้ตายทั้งหลายในหลุมศพให้มีชีวิตขึ้นมาใหม่อีกครั้ง (๒๒) มุรตะฎอ มุเฮาะฮ์ฮะรี ได้กล่าวอธิบายทัศนะของฟัยฎ์ กาชานี ในประเด็นวิธีการของร็อจญ์อะฮ์ว่า ตามทัศนะของเขา ถือว่า ร็อจญ์อะฮ์ ไม่ได้มีความหมายเช่นนี้ ซึ่งผู้ตายทั้งหลายจะกลับคืนมายังโลก ด้วยร่างกายที่เป็นองค์ประกอบของโลกนี้ แต่ทว่า การคืนกลับของจิตวิญญาณจะมีร่างกายที่เปราะบาง และมีลักษณะคล้ายกับร่างกายที่นักจาริกทางจิตวิญญาณได้อ้างกันว่า พวกเขาเคยเห็นมันแล้ว (๒๓)
อิมามโคมัยนี เชื่อว่า จิตวิญญาณที่จะกลับคืนสู่ร่างกายมุลกี (ร่างกายของโลกนี้) และเขาจะกลับมายังโลกอีกครั้งด้วยร่างกายนี้ (๒๔) มุฮัมมัดอะลี ชาฮ์อาบาดี ถือว่า การร็อจญ์อะฮ์มายังโลกนี้ ด้วยร่างกายมิษาลี หรือร่างกายแห่งบัรซัค (๒๕) มุฮัมมัดบากิร เบฮ์บูดีย์ (๑๓๐๗ - ๑๓๙๓ ) นักเขียนชาวชีอะฮ์ กล่าวว่า ร็อจญ์อะฮ์ ไม่เป็นที่ปรากฏอย่างสาธารณะ และภาพลักษณ์ของมันมาจากการฟื้นคืนชีพจากหลุมศพ ซึ่งเป็นความเข้าใจทั่วไปที่ขัดแย้งกับตรรกะของอัลกุรอานและสติปัญญา เขาเชื่อว่า การร็อจญ์อะฮ์ของมนุษย์เหล่านี้ อยู่บนพื้นฐานของระบอบการสร้างสรร หมายถึง อสุจิของมนุษย์ทั้งหลายที่มาจากไขสันหลังของบิดาได้เข้าสู่ครรถ์ของมารดาและหลังจากการถือกำเนิดขึ้นมา ก็ลืมเลือนความทรงจำในอดีตที่ผ่านมา (๒๖)
นักวิชาการบางคน ยังมีการตีความริวายะฮ์ต่างๆที่กล่าวถึงร็อจญ์อะฮ์ และกล่าวว่าความหมายของการร็อจญ์อะฮ์ ไม่ใช่การกลับมาของบรรดาอิมามชีอะฮ์ (อ.)สู่โลก พร้อมด้วยร่างกายของพวกเขา แต่ความหมาย คือ ในยุคสมัยของการปรากฏกายของอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) รัฐบาล กฎหมาย คำสั่ง และข้อห้ามของพวกเขา จะกลับมา [๒๗] ซัยยิดมุรตะฎอ ถือว่า ทัศนะนี้มาจากอิมามียะฮ์จำนวนเล็กน้อยและเขาได้ปฏิเสธทัศนะนี้ [๒๘]
เวลาแห่งร็อจญ์อะฮ์
ทัศนะส่วนมากของบรรดานักวิชาการของอิมามียะฮ์ เชื่อว่า ร็อจญ์อะฮ์ เกิดขึ้นด้วยการลุกขึ้นและการปรากฏกายของอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) แต่ทว่า มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับเวลาที่เกิดขึ้นของมัน (๒๙) ขณะเดียวกัน นักวิชาการส่วนมาก ถือว่า ร็อจญ์อะฮ์ ประจวบเหมาะกับการลุกขึ้นและการปรากฏกายของอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) [๓๐]
เชคมุฟีด เขียนในหนังสืออัลอิรชาด ว่า ร็อจญ์อะฮ์ เป็นหนึ่งในสัญญาณของการปรากฏกาย [๓๑] ในขณะที่ นักวิจัยบางคนได้นำรายงานที่มีการกล่าวถึงร็อจญ์อะฮ์หลายครั้งของ อิมามอะลี (อ.) [๓๒] โดยพวกเขาถือว่า ร็อจญ์อะฮ์ เกิดขึ้นหลังจากการปรากฏกายของอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) (๓๓) ในริวายะฮ์ ระบุว่า อิมามฮุเซน (อ) จะกลับมาก่อนการปรากฏกายของอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) (๓๔) ในอีกริวายะฮ์หนึ่ง รายงานว่า การกลับมาของอิมามฮุเซน (อ.) หลังจากการสิ้นชีวิตของอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) [๓๕]
ในหนังสือตัฟซีร อัลกุมมี มีริวายะฮ์จากอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า เมื่อศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ.) ได้แจ้งประชาชนให้รับทราบเกี่ยวกับเหตุการณ์ของร็อจญ์อะฮ์ พวกเขาได้ถามศาสดาเกี่ยวกับเวลาของมัน และอัลลอฮ์ทรงตรัส ในอายะฮ์ที่ ๒๕ ของซูเราะฮ์ ญิน ว่า
จงกล่าวเถิดมุฮัมมัด ฉันไม่รู้สิ่งที่พวกท่านถูกสัญญาไว้นั้น หรือว่าพระผู้อภิบาลของฉันจะทรงกำหนดเวลาการลงโทษนั้นให้ห่างไกลออกไป โองการดังกล่าวได้ถูกวะห์ฮีมายังศาสดา (๓๖) บางคนได้อ้างถึงริวายะฮ์นี้ เชื่อว่า เวลาแห่งร็อจญ์อะฮ์ ไม่มีผู้ใดรู้ และความรู้ของมัน เฉพาะเจาะจงกับพระเจ้า [ ต้องการแหล่งที่มา ]
บรรดาผู้ที่ย้อนกลับมา
ในริวายะฮ์ต่างๆ มีการกล่าวถึงบุคคลจำนวนมากมายที่เป็นผู้ย้อนกลับมา : (๓๗) บรรดาอิมามชีอะฮ์ : ตามริวายะฮ์จากอิมามศอดิก (อ.) รายงานว่า บุคคลแรกที่ย้อนกลับมา คือ อิมามฮุเซน (อ.)และเขาจะปกครองโลกเป็นเวลาถึงสี่สิบปี [๓๘] นอกจากนี้ ยังมีริวายะฮ์รายงานเกี่ยวกับการกลับมาของศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) อิมามอะลี (อ.) [๓๙] และบรรดาอิมามอื่นๆของชีอะฮ์ [๔๐]
อัศฮาบของบรรดาอิมาม: ตามริวายะฮ์บางบท รายงานว่า กลุ่มหนึ่งของอัศฮาบของบรรดาอิมาม มะอ์ศูม (อ.) และบรรดาชีอะฮ์ของพวกเขาก็จะย้อนกลับมาด้วยเช่นกัน [๔๑]ในริวายะฮ์บางบท รายงานว่า ซัลมาน มิกดาด อะบูดุญานะฮ์ อันศอรี และมาลิก อัชตัร ในหมู่ผู้คนที่ย้อนกลับมา (๔๒) มีการกล่าวถึงในรายงานด้วยว่า จำนวน 70 คนจากอัศฮาบของอิมามฮุเซน (อ.) จะย้อนกลับมาพร้อมกับเขา [๔๓]
กลุ่มชนของบรรดาศาสดา: ตามริวายะฮ์บางบท รายงานว่า กลุ่มผู้ศรัทธาจากกลุ่มชนของศาสดามูซา อัศฮาบุลกะฮฟ์ (ชาวถ้ำ ) ยูชะอ์ และมุอ์มิน อาลิฟิรอูน ในหมู่ผู้คนที่ย้อนกลับมา [๔๔]
บรรดาชะฮีดและผู้ศรัทธา : ในริวายะฮ์บางบท รายงานว่า บรรดาชะฮีดและผู้ศรัทธาทั้งหลาย เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้คนที่ย้อนกลับมา [๔๕]
บรรดาสตรีผู้ศรัทธา : ในริวายะฮ์ รายงานว่า สตรี จำนวน 13 คน เช่น ท่านหญิงอุมมุอัยมัน ฮิบาบะฮ์ วัลบียะฮ์ ซุมัยยะฮ์ มารดาของอัมมาร ยาซิร ซุบัยดะฮ์ อุมมุซะอีด ฮะนะฟียะฮ์ จะย้อนกลับมา [๔๖] เหล่าศัตรูของอะฮ์ลุลบัยต์ เหล่าศัตรูของบรรดาศาสดาและพวกมุนาฟิก อยู่ในหมู่ผู้ที่จะกลับมาซึ่งพวกจะถูกแก้แค้น ตามรายงานจากริวายะฮ์ต่างๆ [๔๗]
หลักฐานต่างๆ
สำหรับการพิสูจน์ความถูกต้องของความศรัทธาในเรื่องร็อจญ์อะฮ์ มีหลักฐานต่างๆ ดังนี้ :
หลักฐานจากอัลกุรอาน
บางโองการจากอัลกุรอาน ซึ่งบรรดาอิมามียะฮ์ได้ให้เหตุผลสำหรับการพิสูจน์ความถูกต้องของหลักคำสอนเรื่องร็อจญ์อะฮ์ มีดังต่อไปนี้ :
อายะฮ์ และ (จงรำลึกถึง) วันที่เราจะเรียกจากทุก ๆ ประชาชาติ มารวมกันเป็นกลุ่มๆ จากผู้ที่ปฏิเสธโองการทั้งหลายของเรา (๔๘) การให้เหตุผลของอายะฮ์ คือ ตามโองการที่กล่าวไว้ว่า พระผู้เป็นเจ้าจะทรงรวบรวมผู้คนกลุ่มหนึ่ง ไม่ใช่ทั้งหมด และการรวมกลุ่มนี้ ไม่สามารถเกิดขึ้นในวันแห่งการฟื้นคืนชีพ เพราะว่า จากโองการที่ว่า “และเราจะชุมนุมพวกเขา ดังนั้น เราจะไม่ให้ผู้ใดออกไปจากพวกเขาเลย (๔๙)ในวันกิยามะฮ์ พระผู้เป็นเจ้าจะทรงรวบรวมมนุษย์ทั้งหมดด้วยกัน ดังนั้น จึงเป็นที่เข้าใจได้ว่า ความหมายของการรวมตัวในอายะฮ์ที่ ๘๓ ของซูเราะฮ์อัลนัมล์ ไม่ใช่การนำคนตายกลับคืนมาสู่ชีวิตในวันแห่งการฟื้นคืนชีพ แต่ทว่า มันจะเกิดขึ้นในโลกและนี่คือ ความหมายของร็อจญ์อะฮ์ (๕๐)ในหนังสือ ตัฟซีรอัลกุมมี มีริวายะฮ์จากอิมามศอดิก (อ.) รายงานว่า โองการข้างต้นบ่งบอกถึงร็อจญ์อะฮ์อย่างชัดเจน [๕๑]
โองการที่บ่งบอกถึงการฟื้นคืนชีพของคนตาย ก่อนวันแห่งการฟื้นคืนชีพของประชาชาติต่างๆที่ผ่านมา เช่น โองการที่ ๗๓ , ๒๔๓ และ ๒๕๙ จากซูเราะฮ์อัลบะเกาะเราะฮ์ [๕๒]ในคัมภีร์เตารอต มีการกล่าวถึงตัวอย่างของการย้อนกลับมาของผู้คน ด้วยเช่นกัน อาทิเช่น การฟื้นคืนชีพของเด็กด้วยมือของอัลยะซะอ์ [๕๓] และการฟื้นคืนชีพของเด็กชายด้วยมือของอิลยาซ ศาสดาของบะนีอิสรออีล [๕๔]
โองการต่างๆ เช่น โองการที่ ๘๒ จากซูเราะฮ์อัลนัมล์ , ๘๕ จากซูเราะฮ์อัลกิศ็อซ , ๑๕๗ จากซูเราะฮ์อาลิอิมรอน, ๒๑ จากซูเราะฮ์อัซซัจญะดะฮ์ , ๑๑ จากซูเราะฮ์อัลฆอฟิร , ๒๐ จากซูเราะฮ์อัลมาอิดะฮ์ , ๑๕๙ จากซูเราะฮ์อัลนิซาอ์ และ ๙๕ จากซูเราะฮ์อัลอัมบิยาอ์ ด้วยความช่วยเหลือของริวายะฮ์ที่บ่งบอกถึงร็อจญ์อะฮ์ในโองการเหล่านี้ [๕๕]
ริวายะฮ์ต่างๆมุตะวาติรเกี่ยวกับร็อจญ์อะฮ์
กล่าวกันได้ว่า มีริวายะฮ์ต่างๆในประเด็นร็อจญ์อะฮ์ อยู่ในระดับขั้นมุตะวาติรทางด้านจิตวิญญาณ (๕๖) อัลลามะฮ์ มัจญ์ลิซี เขียนไว้ในหนังสือ ฮักกุลยะกีนว่า มีฮะดีษมากกว่า ๒๐๐ บท จากผู้รายงานอิมามียะฮ์กว่า ๔๐ คน ในแหล่งข้อมูลสายฮะดีษ ๕๐ สายรายงาน ในบทหนึ่งใช้ชื่อว่า บาบุรร็อจญ์อะฮ์ (๕๗)ในหนังสือบะฮารุลอันวาร (๕๘) นอกเหนือจากนี้ เขากล่าวว่า หากริวายะฮ์เหล่านี้ไม่ได้อยู่ในระดับขั้นมุตะวาติร ฉะนั้น จึงเป็นไม่ได้ที่จะอ้างทุกสิ่งว่าเป็นมุตะวาติร (๕๙) ซัยยิดอับดุลลอฮ์ ชุบบัร ได้รายงานฮะดีษที่เกี่ยวกับร็อจญ์อะฮ์ของอิมามอะลี และอิมามฮุเซน (อ.) ซึ่งอยู่ในระดับขั้นมุตะวาติร ส่วนฮะดีษที่เกี่ยวกับร็อจญ์อะฮ์ของบรรดาอิมาม มะอ์ศูม อยู่ในระดับใกล้ที่จะเป็นมุตะวาติร (๖๐) บางส่วนของบทดุอาอ์ และบทซิยาเราะฮ์ เช่น ดุอาอ์อัลอะฮ์ด ดุอาอ์ ดะห์วุลอัรฎ์ บทซิยาเราะฮ์ญามิอะตุลกะบีเราะฮ์ บทซิยาเราะฮ์อิมามฮุเซน บทซิยาเราะฮ์อาลิยาซีน บทซิยาเราะฮ์อิมามมะฮ์ดี ทั้งหมดเหล่านี้ล้วนบ่งบอกถึงร็อจญ์อะฮ์ทั้งสิ้น (๖๑)
ความเป็นไปได้ทางสติปัญญาในการเกิดขึ้นของร็อจญ์อะฮ์
ตามทัศนะของอิมามียะฮ์ ร็อจญ์อะฮ์ ทั้งเป็นไปได้และการเกิดขึ้นด้วยเช่นกัน (๖๒) พวกเขามีความเชื่อว่า การกระทำเช่นนี้สำหรับพระผู้เป็นเจ้าถือว่ามีความเป็นไปได้ และพระองค์ทรงมีความสามารถที่จะชุบชีวิตปวงบ่าวบางคนของพระองค์ หลังจากการตายและก่อนวันแห่งการฟื้นคืนชีพ และย้อนกลับมายังโลกนี้ และการเกิดขึ้นสิ่งนี้ ตามอัลกุรอานกล่าวว่า ได้เกิดขึ้นในบางประชาชาติที่ผ่านมา (๖๔) ขณะเดียวกัน บางคนไม่ได้ยอมรับทั้งความเป็นไปได้และการเกิดขึ้นของร็อจญ์อะฮ์ และบางคนมีข้อสงสัยในการเกิดขึ้นของมัน (๖๖)
ปรัชญาของร็อจญ์อะฮ์
ในบางกรณีที่ได้กล่าวถึงปรัชญาของร็อจญ์อะฮ์ ซึ่งได้รับมาจากริวายะฮ์ต่างๆและคำพูดของบรรดานักวิชาการ มีดังนี้
การแก้แค้นเหล่าผู้กดขี่และการได้รับการอนุเคราะห์ของบรรดาผู้ศรัทธา กล่าวกันได้ว่า ผู้คนที่ย้อนกลับมาถูกแบ่งออกเป็น สองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งเป็นบุคคลที่มีศรัทธาอันแรงกล้า และพระผู้เป็นเจ้าจะย้อนกลับมายังโลกนี้ เพื่อแสดงให้เห็นถึงการปกครองที่ชอบธรรม และทำให้มีเกียรติ อีกกลุ่มหนึ่ง กลุ่มผู้คนที่กดขี่ข่มเหง ซึ่งการแก้แค้นพวกเหล่านี้ จะลดระดับความโกรธแค้นของบรรดาผู้ถูกกดขี่ให้น้อยลง (๖๗)
ผลรางวัลของผู้กระทำคุณงาความดีและการลงโทษผู้กระทำความผิด มีริวายะฮ์บางบท รายงานว่า กลุ่มมุนาฟิกและผู้กดขี่ นอกเหนือจากการลงโทษที่พิเศษในวันแห่งการฟื้นคืนชีพ จะต้องเห็นการลงโทษในโลกนี้ คล้ายกับเผ่ากบฏเช่น ฟิรอูน เผ่าอาด ษะมูด และกลุ่มชนของลูฏ ได้เห็น และหนทางเดียวคือ ร็อจญ์อะฮ์ (๖๘)
การช่วยเหลือจากพระเจ้า บนพื้นฐานของริวายะฮ์ต่างๆ รายงานว่า แท้จริง เราจะช่วยเหลือบรรดาศาสนทูตของเราและบรรดาผู้ซึ่งมีศรัทธาในโลกนี้และในวันที่เหล่าพยานจะยืนขึ้น
พระผู้เป็นเจ้า จะปฏิบัติตามพันธสัญญาในการช่วยเหลือบรรดาศาสนทูต บรรดาอิมาม และผู้ศรัทธาทั้งหลาย ก่อนวันแห่งการฟื้นคืนชีพและขณะเมื่อมีการปรากฏกายของอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) ในโลกนี้ (๗๐)
ความสมบูรณ์ทางจิตวิญญาณ หนังสือตัฟซีร เนมูเนะฮ์ เขียนว่า กลุ่มผู้ศรัทธาที่บริสุทธิ์ได้เผชิญกับอุปสรรคในชีวิตบนเส้นทางของความสัมบูรณ์ทางจิตวิญญาณ และความสมบูรณ์ของพวกเขายังไม่สิ้นเสร็จ วิทยปัญญาของพระเจ้า กำหนดให้พวกเขาย้อนกลับมายังโลกนี้อีกครั้งบนเส้นทางของความสมบูรณ์ เพื่อเป็นพยานและผู้สังเกตการณ์การปกครองโลกด้วยสัจธรรมและความยุติธรรม และมีส่วนร่วมในการสร้างการปกครองนี้ (๗๑) ร็อจญ์อะฮ์ ให้ความหวังกับผู้คนที่ว่า ถึงแม้พวกเขาได้ตายไปแล้ว พวกเขาจะฟื้นคืนชีพในรัฐบาลของอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) และเข้าใจในช่วงเวลาการปรากฏกาย ทั้งนี้ ความหวังนี้จะช่วยกระตุ้นให้ผู้คนพยายามเพื่อที่จะทำให้พวกเขาเป็นผู้ศรัทธาที่มีความบริสุทธิ์ (๗๒)
ผลงานประพันธ์
มีผลงานประพันธ์อย่างมากเกี่ยวกับประเด็นร็อจญ์อะฮ์ โดยบรรดานักวิชาการอิมามียะฮ์ ในบทความเรื่อง แหล่งที่อ้างอิงในประเด็นร็อจญ์อะฮ์ มีการกล่าวถึงผลงานเหล่านี้ถึง ๑๒๗ ผลงาน (๗๓) หนังสือบางเล่มที่ประพันธ์เกี่ยวกับร็อจญ์อะฮ์ มีดังนี้
หนังสือ อัลอีกอซ มินัลฮัจญ์อะฮ์ บิลบุรฮาน อะลัรร็อจญ์อะฮ์ เขียนโดย เชคฮุร อามิลี ผู้เขียนได้ใช้โองการอัลกุรอานและริวายะฮ์เป็นหลักฐานสำหรับการพิสูจน์ความถูกต้องของความเชื่อในร็อจญ์ฮะฮ์ ตามทัศนะของอิมามียะฮ์ และเป้าหมายของผู้เขียน การตอบคำถามจากทั้งสามกลุ่มของชีอะฮ์ ผู้ที่มีความศรัทธาในประเด็นร็อจญ์อะฮ์ ผู้ปฏิเสธร็อจญ์อะฮ์ และบุคคลที่ได้ตีความประเด็นด้วยริวายะฮ์ต่างๆ (๗๔)
หนังสือ ร็อจญ์อัต เขียนโดย อัลลามะฮ์ มัจญ์ลิซี หนังสือนี้ประพันธ์เป็นภาษาฟารซีย์ ผู้เขียน ได้นำเสนอริวายะฮ์ ๑๔ บทเกี่ยวกับการปูทางสู่การปรากฏกายของอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.)และประเด็นร็อจญ์อะฮ์ (๗๕)
หนังสือ อัชชีอะฮ์ วัรร็อจญ์อะฮ์ เขียนโดย มุฮัมมัดริฎอ เฏาะบะซี นะญะฟีย์ ผู้เขียนได้อธิบายในหนังสือเล่มนี้เกี่ยวกับสถานภาพของร็อจญ์อะฮ์ในอัลกุรอาน บทดุอาอ์ บทซิยาเราะฮ์ อิจญ์มาอ์(มติเอกฉันท์) ของบรรดานักนิติศาสตร์ และคำพูดของบรรดานักวิชาการ
หนังสือ อัรร็อจญ์อะฮ์ วัลเอาดะฮ์ อิลัลฮะยาติดดุนยา บะอ์ดัลเมาต์ เขียนโดย อะลีมูซา อัลกะอ์บี ผู้เขียนได้กล่าวถึงหลักฐานทางสายฮะดีษและอัลกุรอานที่เกี่ยวกับร็อจญ์อะฮ์ และความเป็นไปได้ในการเกิดขึ้นของมัน (๗๖)
หนังสือ บอซกัชต์ เบ ดุนยา ดัร พอยอน ทอรีค (การวิเคราะห์และตรวจสอบประเด็นร็อจญ์อะฮ์ ) เขียนโดย คุดามุรอด ซะลีมียอน หนังสือเล่มนี้ประกอบด้วย ๑๐บท การตรวจสอบทางภาษาของคำว่า ร็อจญ์อะฮ์ ร็อจญ์อะฮ์ในทัศนะของสำนักคิดต่างๆในอิสลาม เวลาแห่งร็อจอะฮ์ ความเป็นไปได้ในการเกิดร็อจญ์อะฮ์ ร็อจญ์อะฮ์ในยุคสุดท้าย ปัญหาและการวิพากษ์วิจารณ์และการตรวจสอบต่างๆ บรรดาผู้ที่ย้อนกลับ หน้าที่ในเวลาแห่งร็อจญ์อะฮ์ การลงโทษและผลรางวัลของร็อจญ์อะฮ์ (๗๗)