มะอาด

จาก wikishia

มะอาด (ภาษาอาหรับ : مَعاد ) เป็นหนึ่งในหลักศรัทธาของศาสนาอิสลามและศาสนาแห่งพระผู้เป็นเจ้า ส่วนความหมายในเชิงวิชาการของบรรดานักศาสนศาสตร์ หมายถึง การย้อนกลับของจิตวิญญาณไปยังร่างกายหลังจากความตายและการมีชีวิตขึ้นอีกครั้งในวันกิยามัต ตามหลักศรัทธานี้ มนุษย์ทุกคนจะฟื้นคืนชีพในวันกิยามัต การกระทำของพวกเขา จะถูกชั่งน้ำหนักต่อ ณ พระเจ้า และพวกเขาจะถูกลงโทษหรือได้รับผลรางวัลสำหรับการกระทำความดีหรือการกระทำความผิดของพวกเขา

มะอาดในศาสนาอิสลาม หลังจากหลักเตาฮีด ถือเป็นความศรัทธาที่มีความสำคัญที่สุดในศาสนาอิสลามและการมีความเชื่อในหลักศรัทธา เป็นหนึ่งในเงื่อนไขของการยอมรับอิสลาม ซึ่งในอัลกุรอาน มีอายะฮ์ ๑๔๐๐ ถึง ๒๐๐๐ โองการ มีการกล่าวถึงประเด็นมะอาดและชีวิตหลังความตาย ความเชื่อในเรื่องมะอาด ถือเป็นปัจจัยหนึ่งในการดำเนินตามความยุติธรรม ความปลอดภัยของสังคม การไม่สิ้นหวังในความยากลำบากของชีวิต การเคารพสิทธิของผู้อื่น เป็นต้น

บรรดามุสลิมไม่มีความคิดเห็นที่แตกต่างในการยอมรับหลักมะอาด แต่พวกเขามีความคิดเห็นที่แตกต่างในวิธีการของมัน และพวกเขาได้เสนอถึงสามทัศนะที่เกี่ยวกับประเด็นนี้ : นักวิชาการมุสลิมจำนวนมาก รวมทั้งนักปรัชญาต่างมีความเชื่อในมะอาดทางกายภาพและจิตวิญญาณ ขณะที่นักศาสนศาสตร์ส่วนใหญ่ ถือว่า มะอาดเป็นเพียงทางกายภาพเท่านั้น และพวกเขาถือว่า มะอาดทางจิตวิญญาณ ล้วนๆ มาจากทัศนะของบรรดานักปรัชญาสำนักปรัชญามัชชาอียะฮ์ แน่นอนว่า อิบนุซีนา นักปรัชญาผู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของสำนักปรัชญานี้ เขาได้ยอมรับมะอาดทางกายภาพโดยผ่านหลักชะรีอะฮ์

ฝ่ายผู้ที่สนับสนุนมะอาดทางจิตวิญญาณและทางกายภาพ ได้เสนอทัศนะที่มีความหลากหลายจากการอธิบายถึงร่างกายของชีวิตหลังความตาย: การย้อนกลับของจิตวิญญาณด้วยร่างกายที่เป็นวัตถุในโลกนี้ การย้อนกลับของจิตวิญญาณด้วยร่างกายที่เป็นมิษาล การย้อนกลับของจิตวิญญาณด้วยร่างกายแห่งสวรรค์ เหล่านี้ล้วนคือทัศนะต่างๆ

บรรดานักปรัชญาชาวมุสลิม สำหรับการพิสูจน์ถึงความเป็นหนึ่งเดียวของมนุษย์ทางโลกและมนุษย์ในโลกหน้า โดยยึดถือประเด็นจิตวิญญาณและความโดดเดี่ยวของมัน และถือว่า จิตวิญญาณ เป็นปัจจัยของความเป็นหนึ่งเดียวและการมีตัวตนของมนุษย์ทางโลกนี้และปรโลก

มีการอ้างอิงเหตุผลหลายประการ เพื่อพิสูจน์ถึงความเป็นไปได้และการเกิดขึ้นของมะอาด บรรดานักวิชาการได้พิสูจน์ถึงความเป็นไปได้ของมะอาดโดยผ่านโองการต่างๆของอัลกุรอาน เช่น โองการที่กล่าวถึงการมีชีวิตขึ้นมาใหม่ของโลก และตัวอย่างของการมีชีวิตขึ้นมาใหม่ของมนุษย์ เช่น บรรดาชาวถ้ำและอุซัยร์ เพื่อพิสูจน์ถึงความจำเป็นและการเกิดขึ้นของมะอาด ไปยังเหตุผลต่างๆ เช่น ความสัตย์จริงของพระเจ้าในการเกิดขึ้นของมะอาด การดำรงอยู่ของความปรารถนาที่จะมีชีวิตนิรันดร์ในสัญชาตญาณดั้งเดิมของมนุษย์ คุณลักษณะความยุติธรรมและการมีวิทยปัญญาของพระเจ้า

แม้จะมีหลายเหตุผลสำหรับความเป็นไปได้และการเกิดขึ้นของมะอาด แต่บางคนก็ปฏิเสธมะอาด ความไม่รู้ การเพิกเฉยต่ออำนาจของพระเจ้า การไม่เชื่อฟังและการขาดความรับผิดชอบ เป็นปัจจัยหนึ่งในการปฏิเสธมะอาด ข้อสงสัยต่างๆ เช่น ข้อสงสัยอะกิล วะมะอ์กูล ข้อสงสัยการย้อนกลับของมะอ์ดูม ข้อสงสัยเกี่ยวกับความรู้และอำนาจของพระเจ้าในการเกิดขึ้นของมะอาด ได้ถูกนำเสนอโดยเหล่าผู้ปฏิเสธ และนักวิชาการชาวมุสลิมได้ให้คำตอบที่แตกต่างกันไป

มะอาด เป็นหลักศรัทธาของศาสนาแห่งฟากฟ้า

ความศรัทธาในหลักมะอาดและการมีชีวิตขึ้นมาใหม่ของมนุษย์ในปรโลก เป็นรากฐานของหลักความศรัทธาประการหนึ่ง [๑] และเป็นหนึ่งในความเชื่อหลักของศาสนาแห่งฟากฟ้าทั้งปวง [๒] ในหนังสือ ศาสนาที่มีชีวิตในโลก ชีวิตหลังจากความตาย ถือเป็นความศรัทธาและคำสอนของทุกศาสนา รวมถึงศาสนาแห่งพระเจ้า ศาสนาฮินดู ศาสนาพุทธ ลัทธิเต๋า และศาสนาชินโต (๓)

ตามความเชื่อของบรรดานักวิชาการชีอะฮ์ กล่าวว่า มะอาด หลังจากหลักเตาฮีด เป็นหลักการที่มีความสำคัญที่สุด ซึ่งบรรดาศาสนทูตของพระเจ้าได้เชิญชวนให้ประชาชนมีความศรัทธา [๔] ความศรัทธาในมะอาดและชีวิตหลังจากความตาย เป็นเงื่อนไขของการเป็นมุสลิมและการปฏิเสธมัน จะถือว่าอยู่ภายนอกของการเป็นชาวมุสลิม (๕)

ตามคำกล่าวของ มุฮัมมัดตะกี มิศบาฮ์ ยัซดี ระบุว่า ในอัลกุรอาน กล่าวถึงการมีความเชื่อในมะอาด ถือว่า อยู่ในระดับเดียวกันกับความศรัทธาในพระเจ้า และมีมากกว่า ๒๐ โองการ คำว่า อัลลอฮ์ และ อัลเยามุลอาคิร ได้ถูกนำมาใช้ร่วมกัน [ ๖] ในสิบสองโองการ หลังจากความศรัทธาในพระเจ้า ศรัทธาในวันอาคิเราะฮ์ ได้มาถึงแล้ว [๗] มิศบาฮ์ ยัซดีเชื่อว่า จากความละเอียดของโองการต่างๆ ในอัลกุรอาน จึงสามารถเข้าใจได้ว่า ส่วนสำคัญของถ้อยคำของบรรดาศาสนทูต การอภิปรายและการโต้แย้งของพวกเขากับประชาชน ที่เกี่ยวกับประเด็นมะอาด เท่าที่กล่าวได้ว่าบรรดาศาสนทูตได้พยายามพิสูจน์ในมะอาดที่มากกว่าการพิสูจน์หลักเตาฮีด เพราะว่า ประชาชนแสดงความดื้อรั้นมากขึ้นในการยอมรับหลักมะอาด เนื่องจากการปฏิเสธเรื่องพ้นญาณพิสัยและความปรารถนาที่จะไม่เชื่อฟังและการขาดความรับผิดชอบ [๘]

มีการกล่าวกันได้ว่า คำว่า มะอาด ถูกใช้เพียงครั้งเดียว [๙] ในโองการของอัลกุรอาน และนั่นก็เช่นกันในความหมายที่แท้จริง (สถานที่แห่งการย้อนกลับคืน) [๑๐] แต่มีมากกว่า ๑๔๐๐ [๑๑] หรือสองพันโองการของอัลกุรอาน (ประมาณหนึ่งในสามของโองการ) อัลกุรอาน [๑๒] ได้กล่าวถึงมะอาดและชีวิตหลังความตาย โองการที่เกี่ยวข้องกับมะอาด ถูกแบ่งออกเป็นหลายกลุ่ม ซึ่งรวมถึง :

โองการที่เกี่ยวข้องกับความจำเป็นของการมีความศรัทธาในอาคิเราะฮ์ [๑๓]

โองการที่เกี่ยวข้องกับผลของการปฏิเสธมะอาด [๑๔]

โองการที่เกี่ยวข้องกับความโปรดปรานอันนิรันดร์ของสวรรค์ (๑๕)

โองการที่เกี่ยวข้องกับการลงโทษอันนิรันดร์ในนรก [๑๖]

โองการที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างความดีและความชั่วกับผลลัพธ์ในวันกิยามัต

โองการที่เกี่ยวข้องกับความเป็นไปได้และความจำเป็นของมะอาด ซึ่งตอบคำถามและตอบข้อสงสัยของเหล่าผู้ปฏิเสธ [๑๗]

ชาวคริสต์ ยังเชื่อในเรื่องมะอาด โดยกล่าวถึงการฟื้นคืนชีพของศาสดาอีซา (อ.) และตัวอย่างทางประวัติศาสตร์ของผู้คนที่กลับมามีชีวิตขึ้นใหม่หลังความตาย [๑๙] ตามพันธสัญญาเดิม [๒๐] และพันธสัญญาใหม่ [๒๑] ระบุว่า ทุกคนหลังจากความตาย จะไปยัง ฮาวียะฮ์ หรือ โลกแห่งความตาย ซึ่งเป็นสองส่วน : ส่วนหนึ่งสำหรับผู้ที่ชั่วร้ายซึ่งเป็นสถานที่การลงโทษ และอีกส่วนหนึ่งสำหรับคนมีความยุติธรรม ซึ่งเรียกว่า ฟิรเดาส์ (สวรรค์) (๒๒) ในความศรัทธาของบรรดาศาสนทูตและหลักข้อเชื่อไนซีน ซึ่งทั้งสอง เป็นหลักคำสอนสากล ที่ชาวคริสเตียนทุกคนยอมรับ ยังกล่าวถึงความศรัทธาและความเชื่อในมะอาดและการฟื้นคืนชีพ อีกด้วย (๒๓)

มีการกล่าวกันได้ว่า ความศรัทธาในเรื่องมะอาด ไม่ได้มีการกล่าวถึงในพันธสัญญาเดิม (ตะนัค ) ซึ่งเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของชาวยิว แต่ในคัมภีร์ตัลมูด ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่กล่าวคำรายงานและหลักปฏิบัติของชาวยิว มีการพูดถึงกันอย่างมากมายเกี่ยวกับมะอาด [๒๔] คาดว่า ผลจากการบิดเบือนพระคัมภีร์เดิม ทำให้วลีที่เกี่ยวข้องกับมะอาดได้รับการลบออก [๒๕] อย่างไรก็ตาม ในข้อนี้มาจากพันธสัญญาเดิม: พระยะโฮวาทำให้ตายและทำให้มีชีวิต การลงมายังหลุมศพและการฟื้นคืนชีพอีกครั้ง บนพื้นฐานของศาสนาโซโรแอสเตอร์ ระบุว่า จิตวิญญาณจะถูกแยกออกจากร่างกาย หลังความตาย และจะคงอยู่ จนกว่าจะถึงวันแห่งการฟื้นคืนชีพเพื่อการคิดบัญชีของการกระทำ(๒๗) กล่าวกันได้ว่า สวรรค์ของชาวโซโรแอสเตอร์ อธิบายว่า เหมือนกับสวรรค์ในอิสลาม แต่ทว่า นรกในศาสนาโซโรแอสเตอร์ ไม่มีการเผาไหม้ แต่เป็นสถานที่มีความหนาวเย็น มืดมน และน่าหวาดกลัวอย่างมาก [๒๘] พวกเขายังมีความเชื่อในเรื่อง

สะพานชินวัฒน์ (สะพานศิรอฏและเป็นทางแยก) (๒๙)

ผลของการมีความศรัทธาเรื่องมะอาดในชีวิตทางโลก

การให้ความสนใจในมะอาด โดยเฉพาะในรายละเอียดของมัน ถูกมองว่า มีผลทางจิตวิทยาและการศึกษาที่สร้างสรรค์ต่อจิตวิญญาณและจิตใจของมนุษย์และในตลอดช่วงชีวิตของพวกเขา (๓๐) ตามที่มิศบาห์ ยัซดี กล่าวไว้ว่า ผู้ที่เชื่อในมะอาดและไม่มองว่า ความตายเป็นจุดจบของชีวิต จะออกแบบและดำเนินตามแบบแผนชีวิตของพวกเขาในลักษณะที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตนิรันดร์ของพวกเขา ในทางกลับกัน ความยากลำบากและความล้มเหลวในชีวิตทางโลก จะไม่ทำให้พวกเขาท้อแท้หรือหมดกำลังใจ และไม่ขัดขวางพวกเขาจากการแสวงหาความสุขของความสมบูรณ์แบบนิรันดร์ จากมุมมองของเขา ผลกระทบของความเชื่อในชีวิตหลังความตายไม่ได้จำกัดอยู่แค่ชีวิตส่วนบุคคลเท่านั้น แต่ความเชื่อในมัน มีบทบาทที่สำคัญในชีวิตทางสังคม เช่น การเคารพสิทธิของผู้อื่นและความรู้สึกเห็นอกเห็นใจและการเสียสละต่อผู้ยากไร้ ในสังคมที่ความเชื่อในมะอาดยังคงมีชีวิตอยู่ ความจำเป็นในการใช้กำลังและแรงกดดันในการบังคับใช้กฎหมายและระเบียบที่เป็นธรรมและป้องกันการกดขี่และการละเมิดสิทธิของผู้อื่นจะน้อยลง (๓๑) อายะตุลลอฮ์ ญะวาดี อามุลี นักตัฟซีรและนักปรัชญาชีอะฮ์ ได้กล่าวถึงผลกระทบที่สำคัญที่สุดของการระลึกถึงมะอาด คือ การดำเนินการตามความยุติธรรมและการสร้างความเท่าเทียมกันทั้งในระดับปัจเจกบุคคลและสังคม ในขณะที่ผลที่สำคัญที่สุดของการลืมมัน คือ การกระทำความผิดและการกดขี่ทั้งในระดับบุคคลและสังคม (๓๒)

มนุษย์ที่เชื่อในมะอาด มองโลกเป็นเรือกสวนไร่นาและฟาร์มเกษตร สำหรับวันอาคิเราะฮ์ ขณะที่ การกระทำของพวกเขา เป็นเมล็ดพันธุ์ที่มีผลจะเก็บเกี่ยวในโลกหน้า ดังนั้น พวกเขาจึงดำเนินชีวิตในโลกนี้อย่างมีการคิดคำนวณและไม่ละเลยคำสั่งและภาระหน้าที่ของพระเจ้า (๓๓) นอกจากนี้ ความเชื่อในมะอาด ยังเปลี่ยนวิสัยทัศน์ต่อความตาย จากการมองว่า เป็นการสิ้นสุดและการดับสูญ กลายเป็นหน้าต่างและสะพานไปสู่โลกที่สวยงามและมีเหนือกว่า (๓๔) การหลุดพ้นจากความว่างเปล่าและการไม่สรุปโลกทั้งใบให้เป็นวัตถุนิยม ถือเป็นอีกผลหนึ่งของความเชื่อในมะอาด (๓๕)

มีการกล่าวว่า ความเชื่อในมะอาด สามารถที่จะมีอิทธิพลต่อชีวิตทางโลกได้ก็ต่อเมื่อมีความสัมพันธ์เชิงเหตุและผลระหว่างชีวิตทางโลกนี้และชีวิตทางโลกหน้า ซึ่งความโปรดปรานและการลงโทษในโลกหน้าจะถูกยอมรับเป็นผลรางวัลและบทลงโทษสำหรับพฤติกรรมที่ดีและไม่ดีในโลกนี้ (๓๖)

ตามทัศนะของบางคน ระบุว่า ความเชื่อในมะอาด เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความปลอดภัยของสังคม เป็นแหล่งที่มาของความมั่นคงทางกฎหมายและสังคม และเป็นปัจจัยในการปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน (๓๗)

คำนิยาม

มะอาดในศัพท์ทางเทววิทยา หมายถึง การกลับมาของจิตวิญญาณสู่ร่างกายของมนุษย์ในวันกิยามัตและการฟื้นคืนชีพ เพื่อให้การกระทำของเขาได้รับการประเมิน ผู้ที่กระทำความดี จะได้รับผลรางวัลเป็นสวรรค์และความโปรดปรานอันนิรันดร์ ในขณะที่ผู้ที่กระทำความผิดจะได้รับการลงโทษและความทุกข์ทรมาน อับดุลลอฮ์ ญะวาดี อามุลี ได้ให้ความหมายของมะอาด ว่า เป็นการกลับมาของมนุษย์สู่พระเจ้า (๓๙)

ซะอ์ดุดดีน ตัฟตาซานี นักวิชาการชาวอะฮ์ลิสซุนนะฮ์ในศตวรรษที่แปดแห่งฮิจเราะฮ์ศักราช ได้ให้ความหมายสี่ประการของมะอาด : การกลับมาของการมีอยู่หลังจากการสูญสลาย การรวบรวมชิ้นส่วนต่างๆ ของร่างกายหลังจากการกระจายตัว การกลับมามีชีวิตหลังความตาย และการกลับมาของวิญญาณสู่ร่างกายหลังจากการแยกออกจากกัน (๔๐) บางคนมองว่า ชีวิตหลังความตาย เป็นการรวบรวมการเดินทางของมนุษย์และชีวิตในอีกมิติหนึ่งหลังความตาย (๔๑)

ตามที่อัลลามะฮ์ มัจญ์ลิซี กล่าวว่า มะอาด ในภาษา สามารถเป็นได้ทั้งคำนามกริยา ชื่อของเวลา หรือชื่อของสถานที่ ซึ่งนำไปสู่ความหมายทั้งสามประการ: การกลับมาของบางสิ่งไปยังสถานที่หรือสภาพที่เคยอยู่ เวลาของการกลับมา และสถานที่ของการกลับมา (๔๒)

คำนิยามที่เกี่ยวข้องกับมะอาด

ตามที่ นาศิร มะการิม ชีรอซี กล่าวว่า คัมภีร์อัลกุรอานได้นำเสนอคำกล่าวต่างๆ สำหรับมะอาด โดยมีคำว่า กิยามะฮ์ เป็นคำที่รู้จักกันดีที่สุดที่เกี่ยวกับมะอาด คัมภีร์อัลกุรอาน กล่าวถึงวันแห่งการฟื้นคืนชีพว่า เยามุลกิยามะฮ์ เจ็ดสิบครั้ง (๔๓) เขาเชื่อว่า ชื่อและคุณลักษณะแต่ละอย่างเหล่านี้ แสดงถึงลักษณะอันเฉพาะของมะอาดและวันกิยามัต (๔๔)จากทัศนะของญะอ์ฟัร ซุบฮานี นักตัฟซีรและนักเทววิทยา มองว่า ชื่อและคุณลักษณะต่างๆของมะอาดในคัมภีร์อัลกุรอาน บ่งบอกถึงการให้ความสำคัญของคัมภีร์อัลกุรอานในมะอาด เขาถือว่า กิยามะฮ์ เป็นหนึ่งในชื่อของมะอาดในคัมภีร์อัลกุรอาน (๔๕)

ชื่อและคุณลักษณะต่างๆ ของมะอาดในอัลกุรอาน ได้แก่ :

๑. อัลอาคิเราะฮ์ เยามุลอาคิร (โลกหน้า)

๒. เยามุลญัมอ์ (วันแห่งการรวมตัวของมนุษย์ทั้งหมด)

๓. เยามุลกิยามะฮ์ (วันแห่งการฟื้นคืนชีพ)

๔. เยามุดดีน (วันแห่งการตอบแทน)

๕. เยามุลบะอ์ษ์ (วันแห่งการฟื้นคืนชีพ)

๖. เยามุลฮัซเราะฮ์ (วันแห่งความเสียใจ)

๗. เยามุลฟัศล์ (วันแห่งการแยกจากกัน)

๘. เยามุลคุลูด (วันแห่งนิรันดร์)

๙. เยามุลคุรุจญ์ (วันแห่งการออกจากหลุมฝังศพ)

๑๐. เยามุลฮิซาบ (วันแห่งการคิดบัญชี)

๑๑. เยามุน มัจญ์มูอ์ ละฮุนนาซ (วันที่มนุษย์มารวมตัวกัน)

๑๒. เยามุน มุฮีฏ (วันแห่งการเชิญชวน)

๑๓. เยามุน อะซีม (วันที่ยิ่งใหญ่)

๑๔.เยามะ ยัจญ์อะลุลวิลดานะ ชีบา (วันที่บรรดาเด็กกลายเป็นคนชราภาพ)

๑๕. อัลเยามุลเมาอูด (วันที่ถูกสัญญา)

๑๖. เยามุน อะลีม (วันแห่งความเจ็บปวด)

๑๗. เยามุตตะฆอบุน (วันแห่งการเปิดเผยความเสียหาย)

๑๘.เยามัตตะลาก (วันแห่งการพบปะกัน)

๑๙. เยามะ ลา ตัจญ์ซี นัฟซุน อัน นัฟซิน ชัยอา (วันที่ไม่มีใครทดแทนตนเองได้)

๒๐. เยามะ ตุบลัซ ซะรออิร (วันที่ความลี้ลับถูกเปิดเผย)

มะอาดทางจิตวิญญาณหรือทางกายภาพ

ตามที่ฟัยยาฎ ลาฮีญี กล่าวว่า ไม่มีความขัดแย้งในหมู่ชาวมุสลิมเกี่ยวกับการยอมรับหลักมะอาด (๔๗) อย่างไรก็ตาม พวกเขามีความแตกต่างในความเข้าใจเกี่ยวกับแก่นแท้ของมะอาด วิธีการเกิดขึ้นของมัน และไม่ว่าจะเป็นทางกายภาพ ทางจิตวิญญาณ หรือการผสมผสานกันระหว่างทั้งสอง (๔๘) แหล่งที่มาของทัศนะที่แตกต่างกันเหล่านี้ ถือเป็นความแตกต่างในความเข้าใจเกี่ยวกับแก่นแท้ของมนุษย์ (๔๙)

ทัศนะของบรรดานักวิชาการมุสลิมเกี่ยวกับวิธีการเกิดขึ้นของมะอาด ซึ่งมีดังนี้ : มะอาดทางกายภาพและทางจิตวิญญาณ: นักวิชาการมุสลิมจำนวนมากเชื่อว่า มะอาดมีทั้งทางกายภาพและทางจิตวิญญาณ [๕๐] ทัศนะนี้ถือเป็นความคิดเห็นของนักปราชญ์ชาวมุสลิมทุกคนด้วย [๕๑] อัลลามะฮ์ มัจญ์ลิซี ยังมองว่า ทัศนะนี้เป็นทัศนะส่วนมากของนักศาสนศาสตร์อีกด้วย (๕๒) ตามที่ นาศิร มะการิม ชีรอซี นักตัฟซีรอัลกุรอาน กล่าวว่า มะอาดถูกนำเสนอในอัลกุรอานในรูปแบบของมะอาดทางกายภาพและจิตวิญญาณเท่านั้น ซึ่งหมายความว่า เมื่อถึงเวลาแห่งการฟื้นคืนชีพ ทั้งร่างกายและจิตวิญญาณจะกลับคืนมา [๕๓] ใครก็ตามที่ถือว่า แก่นแท้ของมนุษย์ เป็นการผสมผสานระหว่างจิตวิญญาณบริสุทธิ์และร่างกาย ฉะนั้น เขามีความเชื่อในมะอาดทางกายภาพและทางจิตวิญญาณ (๕๔)

มะอาดทางกายภาพ : ตามคำกล่าวของฟัครุดดีน รอซี และฟัยยาฎ ลาฮีญี นักศาสนศาสตร์ส่วนใหญ่ (๕๕) และนักนิติศาสตร์และนักรายงานฮะดีษบางคน [๕๖] มีความเชื่อเพียงมะอาดทางกายภาพเท่านั้น และปฏิเสธมะอาดทางจิตวิญญาณ เหตุผลก็คือ กลุ่มนี้ถือว่า แก่นแท้ของมนุษย์เป็นร่างกายทางวัตถุเพียงเท่านั้น (๕๗) ตามที่คำกล่าวของพวกเขา ระบุว่า จิตวิญญาณ เป็นความจริงทางวัตถุที่ไหลเวียนอยู่ในร่างกายเหมือนไฟในถ่านหินหรือน้ำในใบไม้ และผลลัพท์ที่ตามมา ก็คือ ด้วยความสูญสลายของร่างกายหลังความตาย ก็จะถูกสูญสลายเช่นกัน [๕๘] และเมื่อถึงเวลาแห่งการฟื้นคืนชีพ ร่างกายที่แหลกสลาย จะได้รับการฟื้นคืนชีพและกลับคืนตามความรู้และอำนาจของพระเจ้า [๕๙]

มะอาดทางจิตวิญญาณเท่านั้น : ตามที่ญะอ์ฟัร ซุบฮานี กล่าวว่า นักปรัชญาส่วนใหญ่ของ สำนักปรัชญามัชชาอียะฮ์ ยอมรับว่า โดยเฉพาะมะอาดทางจิตวิญญาณ และสติปัญญาเท่านั้น และปฏิเสธมะอาดทางกายภาพ เพราะว่า ตามทัศนะของพวกเขา มองว่า ร่างกายจะถูกทำลายหลังความตายและไม่มีสิ่งใดเหลืออยู่ จนกว่าจะกลับคืนสู่สภาพเดิมในมะอาด แต่เนื่องจากจิตวิญญาณเป็นมุญัรร็อด มันจึงไม่ถูกทำลาย [๖๐] และหลังจากการแยกออกจากร่างกาย มันก็เข้าร่วมกับโลกแห่งมุญัรรอด [๖๑] ตามความศรัทธาของอิบนุ ซีนา นักปรัชญาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของสำนักปรัชญามัชชาอียะฮ์ ระบุว่า มะอาดทางกายภาพ และการกลับมาของร่างกายในวันแห่งการฟื้นคืนชีพ ผ่านหลักชะรีอะฮ์และการแจ้งประกาศของศาสดา ผู้ทรงเกียรติ (ศ็อลฯ) เท่านั้นที่ได้รับการพิสูจน์และการยอมรับแล้ว (๖๒) อัลลามะฮ์ มัจญ์ลิซี มองว่า การปฏิเสธมะอาดทางกายภาพ เป็นการปฏิเสธอย่างเปิดเผยและกำหนดให้มีการปฏิเสธอัลกุรอาน และศาสดา (ศ็อลฯ) และบรรดาอิมาม (๖๓) เขาถือว่าบรรดานักปรัชญาอยู่ในหมู่ผู้ที่ปฏิเสธมะอาดทางกายภาพ เพราะว่า พวกเขาถือว่า มะอาดของสิ่งที่สูญสลายเป็นไปไม่ได้ [๖๔] ตามทัศนะของฟัยยาฎ ลาฮีญี ระบุว่า บรรดาผู้ที่ถือว่า แก่นแท้ของมนุษย์ คือ จิตวิญญาณที่เป็นมุญัรร็อด และร่างกายเป็นเพียงเครื่องมือที่แยกจากจิตวิญญาณและสำหรับจิตวิญญาณ พวกเขายอมรับเพียงมะอาดทางจิตวิญญาณเท่านั้น[๖๕]

ทัศนะต่างๆที่เกี่ยวกับมะอาดทางกายภาพและจิตวิญญาณ

บรรดาผู้ที่กล่าวว่า มะอาดทางจิตวิญญาณและทางกายภาพ ได้เสนอความคิดเห็นของตนไว้หลายวิธีด้วยกัน ดังนี้ :

การกลับคืนของวิญญาณสู่ร่างกายที่เป็นวัตถุทางโลก: ตามความคิดเห็นนี้ ซึ่งถือเป็นทัศนะที่มีชื่อเสียงมากที่สุดและเป็นทัศนะของบรรดานักศาสนศาสตร์ชาวมุสลิม [๖๖] พระเจ้าทรงรวบรวมชิ้นส่วนที่กระจัดกระจายของร่างกายในวันอาคิเราะฮ์และสร้างร่างกายจากสิ่งเหล่านั้นที่คล้ายคลึงกัน แล้วนำมันกลับคืนสู่ร่างกายทางโลกและทำให้จิตวิญญาณให้กลับคืนสู่ร่างกายอีกครั้ง(๖๗) นักศาสนศาสตร์บางคนเชื่อว่า ชิ้นส่วนสำคัญของร่างกายมนุษย์ทุกคน ซึ่งจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง จะได้รับการฟื้นคืนและกลับคืนมาในวันแห่งการฟื้นคืนชีพ ชิ้นส่วนเหล่านี้ จะถูกแยกออกจากร่างกายเมื่อตายและคงอยู่ดั้งเดิมและรวมตัวกันอีกครั้งในมะอาด (๖๘) การกลับคืนสู่ร่างกายด้วยร่างกายมิษาล : ตามความคิดเห็นนี้ มองว่า จิตวิญญาณในมะอาดจะกลับสู่ร่างกายมิษาล [๖๙] อายะตุลลอฮ์ ซุบฮานีให้เหตุผลว่า ทัศนะนี้เป็นของบรรดานักปราชญ์ของสำนักปรัชญาอิชรอกและมุลลา ศ็อดรอ และความแตกต่างระหว่างทั้งสองกลุ่มนี้ มองว่า นักปรัชญาของสำนักอิรชอก ไม่สามารถพิสูจน์ร่างกายมิษาลและร่างกายทางวัตถุของโลกนี้ ให้เห็นเป็นรูปธรรมได้ แต่มุลลา ศ็อดรอ ได้พิสูจน์และฟื้นฟูความแตกต่างระหว่างร่างกายทั้งสองให้กลับคืนสู่ความไม่สมบูรณ์และความสมบูรณ์แบบ [๗๐]

การกลับคืนของจิตวิญญาณสู่ร่างกายทางฟากฟ้า หรือร่างกายที่ประกอบด้วยควันหรืออากาศ : ตามความคิดเห็นนี้เป็นทัศนะของฟารอบีและอิบนุ ซีนา โดยเขาทั้งสองมองว่า จิตวิญญาณของผู้คนที่ยังไม่บรรลุถึงความสมบูรณ์แบบและไม่ได้ตัดความสนใจของพวกเขาออกจากร่างกายและโลก เป็นของจิตวิญญาณแห่งฟากฟ้าหรือประกอบไปด้วยควันและอากาศ แต่จิตวิญญาณของบุคคลที่มีความสมบูรณ์ ก็ยังคงมีชีวิตอยู่ต่อไปโดยปราศจากร่างกาย [๗๑]

การกลับคืนของร่างกายทางวัตถุสู่จิตวิญญาณที่เป็นมุญัรร็อด (ทัศนะของ ออกอ อะลี มุดัรริซ) การกลับคืนของจิตวิญญาณสู่ร่างกายทางวัตถุมีความสมบูรณ์แล้ว (ทัศนะของ ซัยยิด อะบุลฮะซัน เราะฟีอี ก็อซวีนี ) และการกลับคืนของจิตวิญญาณสู่ร่างกายฮุรเกาะลียา (ทัศนะของเชคอะห์มัด อิห์ซา) ล้วนเป็นทัศนะต่างๆที่เกี่ยวกับประเด็นนี้ (๗๒)

การพึ่งพาของมะอาดต่อประเด็นของจิตวิญญาณ

มีการกล่าวกันว่า การพิสูจน์ถึงมะอาดและการฟื้นคืนชีพของจิตวิญญาณสู่ร่างกายนั้นอยู่บนพื้นฐานของการไม่เป็นวัตถุของจิตวิญญาณ (มุญัรร็อด) และการคงอยู่ของมัน [๗๓] มุฮัมมัดตะกี มิศบาห์ ยัซดี เชื่อว่า ในสภาพที่เราสามารถจินตนาการได้อย่างถูกต้องในชีวิตหลังความตาย หากเราถือว่า จิตวิญญาณเป็นมุญัรร็อด (ไม่ใช่วัตถุ) และแยกออกจากร่างกายและลักษณะของมัน (๗๔) จากทัศนะของเขา ระบุว่า ในกรณีที่ไม่มีความเชื่อในการเป็นมุญัรร็อดของจิตวิญญาณ การสมมุติฐานของมะอาดและการมีชีวิตใหม่ จะไม่เข้ากับสติปัญญาแต่อย่างใด (๗๕) บนพื้นฐานนี้ การมีจินตนาการที่ถูกต้องและเข้ากับสติปัญญาเกี่ยวกับมะอาดนั้น ขึ้นอยู่บนพื้นฐานการยอมรับสิ่งเหล่านี้ กล่าวคือ: การดำรงอยู่ของจิตวิญญาณ (นัฟซ์) แก่นแท้ของจิตวิญญาณ ความเป็นอิสระของจิตวิญญาณจากร่างกายและการคงอยู่ของมันหลังจากการตายของร่างกาย และการยอมรับว่า จิตวิญญาณเป็นส่วนหลักและแก่นแท้ของมนุษย์และตราบใดที่มันยังคงอยู่ การเป็นมนุษยชาติของมนุษย์จะถูกรักษาไว้ [๗๖]

ชาวคริสเตียนมักเชื่อด้วยว่า ชีวิตหลังความตายเป็นไปได้โดยการเชื่อในจิตวิญญาณที่เป็นมุญัรร็อด และเป็นอิสระจากร่างกาย ถึงขนาดที่มีการกล่าวกันว่า นักคิดที่สำคัญทุกคนในประวัติศาสตร์ของศาสนาคริสต์ได้ยอมรับทัศนะนี้แล้ว (๗๗) ประเด็นอัตลักษณ์ของมนุษย์ทั้งโลกนี้และโลกหน้า

ความเชื่อเรื่องมะอาดนั้น อยู่บนพื้นฐานกับข้อเท็จจริงที่ว่า มนุษย์ที่จะฟื้นคืนชีพในวันอาคิเราะฮ์ คือ มนุษย์คนกเดียวกันกับที่เขาเคยอาศัยอยู่ในโลกนี้ ประเด็นนี้เรียกว่า เป็นอัตลักษณ์ หรืออัตลักษณ์นี้ (๗๘) จุดประสงค์ของอัตลักษณ์ของบุคคลในประเด็นมะอาด กล่าวคือ บุคคลที่มีชีวิตอยู่ก่อนความตาย ในแง่ของจำนวน มิใช่ในวิธีการและลักษณะพิเศษต่างๆ (หมายเหตุ ๑) หรือ บุคคลที่มีชีวิตก่อนที่จะถึงความตาย [๗๙] ส่วนมากของผู้ที่ศรัทธาในพระเจ้าและนักปรัชญาชาวมุสลิม (ต้องการแหล่งอ้างอิง) และชาวคริสเตียน [๘๐] ยอมรับในอัตลักษณ์ส่วนตัวที่เป็นจำนวนนี้ มีการกล่าวกันว่า คัมภีร์ของชาวคริสต์ได้สอนทัศนะนี้อีกด้วย (๘๑)

อะไรคือปัจจัยแห่งความเป็นเอกภาพและการมีอัตลักษณ์นี้ของมนุษย์ทางโลกนี้ (ก่อนตาย) กับมนุษย์ทางโลกหน้า (มนุษย์หลังความตาย) และด้วยเหตุผลใด บุคคลหลังความตายจึงเหมือนกับบุคคลก่อนตาย บรรดานักปรัชญามุสลิม ถือว่า จิตวิญญาณเป็นเครื่องวัดและปัจจัยแห่งความเป็นเอกภาพของมนุษย์ทางโลกนี้และโลกหน้า จากทัศนะของพวกเขาระบุว่า สสารและร่างกายไม่สามารถเป็นเกณฑ์วัดของการมีอัตลักษณ์นี้ทางโลกนี้และโลกหน้าได้ เนื่องจากเหตุผลของการเปลี่ยนแปลง (๘๒) ตามทัศนะของ มุลลา ศ็อดรอ ระบุว่า เกณฑ์วัดการคงอยู่ของมนุษย์ คือ การคงอยู่และการรักษาจิตวิญญาณของเขา ตราบใดที่ลมหายใจยังคงอยู่ เขาก็ยังคงอยู่ แม้ว่าอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายจะเปลี่ยนแปลงไปก็ตาม ตัวอย่างเช่น เมื่อคนที่ชื่อว่า ซัยด์ ถูกถามว่า ซัยด์ ในวัยเยาว์นั้นเหมือนกับซัยด์ เมื่อเขายังเด็กและชราภาพหรือไม่ มุลลา ศ็อดรอ ก็ถือว่า ซัยด์ เป็นคนๆเดียวกัน เนื่องจากการคงอยู่ของจิตวิญญาณของเขาในตลอดช่วงอายุขัยของเขาในโลกนี้และเนื่องจากการคงอยู่ของจิตวิญญาณ ซัยด์ในโลกนี้ก็คือ ซัยด์ในโลกหน้าด้วยเช่นกัน (๘๓)

มุฮัมมัดตะกี มิศบาห์ ยัซดี ยังยอมรับเกณฑ์วัดของจิตวิญญาณและเชื่อว่า หากไม่ยอมรับว่า จิตวิญญาณที่เป็นมุญัรร็อดและเป็นอิสระจากร่างกาย การสมมุติฐานว่า การมีชีวิตใหม่ของบุคคลก่อนตาย จะไม่เข้ากับสติปัญญา [๘๔] ตามความเชื่อของเขา ระบุว่า จิตวิญญาณเป็นมุญัรร็อดและไม่มีการเปลี่ยนแปลงก่อนและหลังความตาย มันสามารถคงอยู่ได้ หลังจากการตายของร่างกาย และเมื่อมันกลับสู่ร่างกายอีกครั้ง ก็สามารถรักษาความเป็นเอกภาพและอัตลักษณ์นี้ของบุคคลได้ แต่หากผู้ใดคิดว่า การดำรงอยู่ของมนุษย์มีอยู่ในกายทางวัตถุที่จับต้องได้นี้เพียงเท่านั้น มันก็จะถูกทำลายไปพร้อมกับการแตกสลายของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย ดังนั้น จึงไม่สามารถนำเสนอจินตนาการที่ถูกต้องในประเด็นมะอาดได้ (๘๕)

โองการที่ ๑๑ จากซูเราะฮ์ อัซซัจญ์ดะฮ์ [หมายเหตุ ๒] ได้รับการพิจารณาว่า เป็นหลักฐานของทัศนะนี้ ตามที่มีความสอดคล้องของความเป็นมนุษย์และลักษณะของแต่ละบุคคล คือ สิ่งที่เทวทูตแห่งความตายจะเอาไป ไม่ใช่ร่างกายที่กระจัดกระจายและสูญสลาย [๘๖]

มาตรวัดของร่างกายหรือสมอง (มีร่างกายเดียวหรือสมองเมื่อเวลาผ่านไป) เกณฑ์วัดของความทรงจำ (ความต่อเนื่องของความทรงจำและการจดจำความทรงจำเมื่อเวลาผ่านไป) อยู่ในเกณฑ์และทฤษฎีอื่นๆ ที่ได้รับการเสนอโดยผู้ปฏิเสธการมีจิตวิญญาณในประเด็นอัตลักษณ์ส่วนบุคคล [๘๗]

ความเป็นไปได้ของมะอาด

สำหรับการพิสูจน์ถึงความเป็นไปได้ของมะอาดและพิจารณาว่า ไม่น่าจะเป็นไปได้ มีการอ้างอิงโองการจากอัลกุรอาน สาม [๘๘] ห้า [๘๙] หรือหก [๙๐] ประเภท อายะตุลลอฮ์ ญะวาดี อามุลี ได้อธิบายโองการเหล่านี้ออกเป็น 5 ประเภท มีดังนี้ :

โองการที่บ่งบอกถึงการสร้างมนุษย์ครั้งแรก เช่น โองการที่ ๗๙ ซูเราะฮ์ ยาซีน โองการที่ ๒๗ ซูเราะฮ์ อัรรูม และโองการที่ ๑๙ ซูเราะฮ์ อัลอังกะบูต โดยในโองการที่ ๒๗ ระบุว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงเริ่มต้นการสร้างและการสร้างอีกครั้ง และเป็นการง่ายยิ่งกว่าสำหรับพระองค์ที่จะทรงสร้างขึ้นมาใหม่

โองการที่พระเจ้าทรงสาธยายถึงกระบวนการสร้างจักรวาล โดยเฉพาะชั้นฟ้าทั้งหลาย และกล่าวถึงพลังอำนาจของพระองค์ เช่น โองการที่ ๙๙ ซูเราะฮ์ อัลอิซรออ์ โองการที่ 99 โองการที่ ๕๗ ซูเราะฮ์ อัลฆอฟิร และโองการที่ ๓๓ ซูเราะฮ์ อัลอะห์กอฟ

ในโองการที่ ๘๑ ซูเราะฮ์ ยาซีน กล่าวว่า ผู้สร้างชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดินจะไม่สามารถทำให้มนุษย์ฟื้นคืนชีพในวันแห่งการฟื้นคืนชีพได้หรือไม่?

โองการที่กล่าวถึงการมีชีวิตอีกครั้งของโลก ซึ่งถือเป็นตัวอย่างทางประสาทสัมผัสเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่คนตายจะฟื้นคืนชีพ รวมถึงโองการที่ ๑๙ และ ๕๐ ซูเราะฮ์ อัรรูม โองการที่ ๙ ซูเราะฮ์ อัลฟาฏิร และโองการที่ ๕๗ ซูเราะฮ์ อัลอะอ์รอฟ

โองการที่กล่าวการเริ่มต้นของการสร้างมนุษย์และระยะของการก่อตัวและพัฒนาการของทารกสู่ร่างกายของมนุษย์ เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของความเป็นไปได้ของมะอาด ตัวอย่างเช่น โองการที่ ๕ และ ๖ ซูเราะฮ์ อัลฮัจญ์ โองการที่ ๑๒ ถึง โองการที่ ๑๖ ซูเราะฮ์ อัลมุอ์มินูน และโองการที่ ๓๗ จนถึงโองการที่ ๔๐ ซูเราะฮ์ อัลกิยามะฮ์

ในโองการที่ ๓๗-๔๐ ซูเราะฮ์ อัลกิยามะฮ์ มีการกล่าวกันว่า พระเจ้า ผู้ทรงสร้างมนุษย์จากเชื้ออสุจิและเป็นก้อนเลือด พระองค์ไม่สามารถที่จะฟื้นคืนชีพผู้ที่ตายแล้วให้มีชีวิตอีกครั้งกระนั้นหรือ?

โองการที่ฉายภาพจากตัวอย่างที่รูปธรรมของมะอาดจากการฟื้นคืนชีพของคนตาย บางส่วนของตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของมะอาดของผู้ตายที่ถูกกล่าวถึงในอัลกุรอาน ได้แก่ :

ตามโองการที่ ๕๕ และ ๕๖ ซูเราะฮ์ อัลบะเกาะเราะฮ์ บรรดาสหายทั้งเจ็ดสิบคนของศาสดามูซา (อ. ) ซึ่งพวกเขาร้องขอการมองเห็นพระเจ้าด้วยสายตาของพวกเขา เนื่องจากฟ้าผ่าทำให้เขาตาย แล้วหลังจากนั้น พระองค์ก็ทรงฟื้นคืนชีพพวกเขา

เรื่องราวของบุคคลจากบะนี อิสรออีล ที่ถูกสังหารและฟื้นคืนชีพขึ้นมาโดยเอาอวัยวะส่วนหนึ่งของวัวที่ถูกเชือดไปไว้บนร่างกายของเขา เรื่องนี้ได้ถูกกล่าวถึงในซูเราะฮ์ อัลบะเกาะเราะฮ์ โองการที่ ๗๒ และ ๗๓

เรื่องราวของอุซัยร์หรืออิรมิยา ตามโองการที่ ๒๕๙ ซูเราะฮ์ อัลบะเกาะเราะฮ์ พระเจ้าทรงให้เขาตายเป็นเวลาร้อยปี แล้วพระองค์จึงทรงทำให้เขาฟื้นคืนชีพอีกครั้ง

เรื่องราวของสหายชาวถ้ำในถ้ำ เพื่อให้ปลอดภัยจากการถูกกดขี่ข่มเหงจากเหล่าพวกตั้งภาคีและเพื่อรักษาความศรัทธาของพวกเขาและได้นอนหลับไป (เสียชีวิต) เป็นเวลา ๓๐๙ ปี แล้วพวกเขาจึงกลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้ง

การฟื้นคืนชีพของนกทั้งสี่ตัวของศาสดาอิบรอฮีม (นกสี่ตัวที่ศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ได้ตัดเป็นชิ้นๆ และชิ้นส่วนของแต่ละตัวถูกวางไว้บนภูเขาแล้วพวกมันก็มีชีวิตอีกครั้งโดยได้รับอนุญาตจากพระเจ้า) อายะฮ์ที่ ๒๖๐ ซูเราะฮ์ อัลบะเกาะเราะฮ์ ได้กล่าวถึงเรื่องนี้

การฟื้นคืนชีพของผู้ตายบางส่วนด้วยความมหัศจรรย์ของศาสดาอีซา (อ.) ซึ่งถูกกล่าวถึงในโองการต่างๆ เช่น โองการที่ ๔๙ ซูเราะฮ์ อาลิอิมรอน และโองการที่ ๑๑๐ ซูเราะฮ์ อัลมาอิดะฮ์ (๙๒)

เหตุผลของความจำเป็นและการเกิดขึ้นของมะอาด

สำหรับการพิสูจน์ถึงความจำเป็นและการเกิดขึ้นของมะอาด มีข้อพิสูจน์และเหตุผลต่างๆมากมาย ตัวอย่างเช่น อับดุลลอฮ์ ญะวาดี อามุลี นักปรัชญาและนักตักซีรอัลกุรอาน ได้กล่าวถึงข้อพิสูจน์ทั้งเก้าประการ [๙๓] ญะอ์ฟัร ซุบฮานี ได้กล่าวถึงเหตุผลหกประการ [๙๔] และนาศิร มะการิม ชีรอซี ได้กล่าวถึงข้อพิสูจน์เจ็ดประการ [๙๕] ข้อพิสูจน์ของอายะตุลลอฮ์ ญะวาดี อามุลี ได้แก่ ข้อพิสูจน์เตาฮีด ข้อพิสูจน์ศิดก์ ข้อพิสูจน์ฟิฏเราะฮ์ ข้อพิสูจน์การเคลื่อนไหวและการมีเป้าหมาย ข้อพิสูจน์ฮิกมะฮ์ ข้อพิสูจน์ความเมตตา ข้อพิสูจน์ความจริง ข้อพิสูจน์ความยุติธรรม และ การพิสูจน์การเป็นมุญัรร็อดของจิตวิญญาณ[๙๖]

ข้อพิสูจน์ศิดก์

เหตุผลประการหนึ่งสำหรับความจำเป็นของการฟื้นคืนชีพ คือ เหตุผลของตะอับบุดี เมื่อเรารู้และยอมรับว่า อัลกุรอานเป็นพระวจนะของพระเจ้า เมื่อพระเจ้าทรงตรัสหลายครั้งในอัลกุรอานว่า มีมะอาดและพระองค์จะทรงนำมนุษย์มารวมตัวกัน เมื่อนั้นมะอาดก็จะเกิดขึ้นตาม (๙๗) ตามทัศนะของมุฮัมมัดตะกี มิศบาห์ ยัซดี ระบุว่า มีประมาณสองพันโองการจากอัลกุรอานโดยตรง และโดยอ้อมที่บ่งบอกถึงการเกิดขึ้นของมะอาด(๙๘) ญะวาดี อามุลี กล่าวว่า เมื่อพระเจ้า เป็นผู้ทรงสัตย์จริงที่สุดได่กล่าวถึงมะอาด แน่นอนว่า มะอาดก็จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน [๙๙]

มีการกล่าวกันว่า สำนักคิดอัชอะรียะฮ์ ได้พิสูจน์ถึงมะอาดโดยผ่านอัลกุรอานและซุนนะฮ์ ไม่ใช่ สติปัญญาและเหตุผลทางสติปัญญา (๑๐๐)

เหตุผลฟิฏเราะฮ์

ฟิฏเราะฮ์ หมายถึง การสร้าง ธรรมชาติดั้งเดิม และสาระสำคัญของสิ่งที่มีชีวิตทุกชนิดในการเริ่มต้นจากการสร้าง [๑๐๑] มีบางประเด็นจากเหตุผลนี้ :

ด้วยฟิฏเราะฮ์ของมนุษย์ มีความรัก ความปรารถนาต่อโลก ชีวิตนิรันดร์ และความเกลียดชังต่อความว่างเปล่าและการทำลายล้าง

สิ่งใดก็ตามที่วางอยู่บนฟิฏเราะฮ์ของมนุษย์นั้นมีความชอบธรรมและถูกต้องและไม่ไร้ประโยชน์

ความปรารถนาและความรักของมนุษย์ต่อความเป็นอมตะและความคงอยู่ เป็นเหตุผลถึงการดำรงอยู่ของโลกนิรันดร์ที่ได้รับการปกป้องจากการถูกทำลาย โลกแห่งธรรมชาตินี้ จึงไม่มีเหมาะสมและความสามารถในการดำรงอยู่และเป็นอมตะนิรันดร์

ฉะนั้น หากไม่มีโลกอื่นที่สามารถจะคงอยู่ได้ ความเป็นอมตะและความปรารถนาของมนุษย์ที่จะเป็นอมตะ ซึ่งถูกกำหนดไว้ในฟิฏเราะฮ์ของมนุษย์ก็จะเป็นโมฆะและไร้ประโยชน์ ในขณะที่โลกแห่งธรรมชาติ ไม่มีความเป็นโมฆะ เพราะว่า เป็นการสร้างของพระเจ้า ผู้ทรงวิทยปัญญา ดังนั้น จึงจะต้องมีโลกและชีวิตที่เป็นนิรันดร์ (๑๐๒)

ข้อพิสูจน์ฮิกมะฮ์

ข้อพิสูจน์นี้ มีหลายรูปแบบที่แตกต่างกัน [๑๐๓] หนึ่งในคำอธิบายและรูปแบบของข้อพิสูจน์นี้ อยู่บนพื้นฐานของการมีเป้าหมายในการสร้างมนุษย์และโลก ตามคำอธิบายนี้

ชีวิตหลังความตาย เป็นเป้าหมายของการสร้างมนุษย์และโลก

หากไม่มีโลกเช่นนี้ ชีวิตของมนุษย์และโลก จะถูกจำกัดอยู่เพียงชีวิตทางโลกนี้ และการสร้างของมนุษย์ จะไร้ประโยชน์และเป็นโมฆะ เพราะว่า โลกนี้และปรากฏการณ์ของมันจะถูกทำลายได้

พระเจ้า เป็นผู้ทรงปรีชาญาณและปราศจากการกระทำที่ไร้ประโยชน์และไร้สาระ ฉะนั้น จะต้องมีโลกอื่นหลังจากโลกแห่งวัตถุนี้ เพื่อที่จะเป็ยเป้าหมายของชีวิตทางโลกนี้และการสร้างมนุษย์ [๑๐๔]

โองการต่างๆ เช่น โองการที่ ๑๑๕ ซูเราะฮ์ อัลมุอ์มินูน โองการที่ ๒๗ ซูเราะฮ์ ศ็อด โองการที่ ๓๘ และ ๓๙ ซูเราะฮ์ อัดดุคอน ได้ชี้ให้เห็นถึงเหตุผลนี้ (๑๐๕)

เหตุผลความยุติธรรม

เหตุผลนี้ ซึ่งมีพื้นฐานอยู่บนความยุติธรรมของพระเจ้า มีดังนี้ :

คุณลักษณะประการหนึ่งของพระเจ้า คือ ความยุติธรรม และโลกนี้ได้ถูกสร้างขึ้นบนความยุติธรรม

มนุษย์ในโลกนี้ มีอิสระที่จะเลือกกระทำความดีและความชั่ว

ผลจากการมีเจตจำนงเสรี มนุษย์กลุ่มหนึ่งใช้ขีดความสามารถของตนในหนทางของพระเจ้าและการทำความดี และอีกกลุ่มหนึ่งใช้ขีดความสามารถทั้งหมดของตน เพื่อตอบสนองกิเลสตัณหาและบาปต่างๆ

โลกนี้ ไม่มีศักยภาพที่มนุษย์จะมองเห็นผลลัพธ์ของการกระทำของตนได้อย่างสมบูรณ์ เป็นไปไม่ได้ที่จะให้ผลรางวัลแก่ผู้ปฏิบัติคุณธรรมอย่างสมบูรณ์ และไม่สามารถที่จะลงโทษผู้ชั่วร้ายอย่างเต็มที่ได้

ด้วยเหตุนี้เอง ความยุติธรรมของพระเจ้า ได้กำหนดว่า จะมีโลกที่มีความยุติธรรมอีกโลกหนึ่งหลังจากโลกแห่งวัตถุนี้ เพื่อที่จะทำให้ความยุติธรรมจะเกิดขึ้นและบัญชีการกระทำของทุกคนจะได้รับการคิดบัญชีโดยสมบูรณ์ในนั้น (๑๐๖)

โองการ หรือว่า เราทำให้บรรดาผู้ศรัทธาและผู้กระทำความดี เหมือนผู้ทุจริตในโลกนี้ หรือเราทำให้คนมีตักวาเหมือนกับเหล่าอาชญากร? [๑๐๗] และโองการที่ ๒๑ และ ๒๒ ของซูเราะฮ์ อัลญาษิยะฮ์ โองการที่ ๕๘ ซูเราะฮ์อัลมุมิน โองการที่ ๓๕ และ ๓๖ ซูเราะฮ์ อัลเกาะลัม โองการเหล่านี้ล้วนบ่งชี้ถึงข้อพิสูจน์นี้ (๑๐๘)

การปฏิเสธในเรื่องมะอาด

ตามคำกล่าวของอายะตุลลอฮ์ ญะวาดี อามุลี มองว่า การปฏิเสธในประเด็นโลกทัศน์และความศรัทธา รวมถึงเรื่องมะอาด มักเกิดจากการขาดความรู้ในประเด็นเหล่านั้น เหล่าผู้ที่ปฏิเสธมะอาดไม่มีความคิดที่ลึกซึ้งและแม่นยำเกี่ยวกับความหมายของมะอาด ขณะที่เหตุผลและตรรกะของพวกเขา คือ มะอาดไม่น่าจะเป็นไปได้ พวกเขาไม่เคยให้เหตุผลเดียวในการปฏิเสธการฟื้นคืนชีพ [๑๐๙]

ความไม่รู้ การเพิกเฉยพลังอำนาจของพระเจ้า [๑๑๐] ความปรารถนาที่จะไม่เชื่อฟังและขาดความรับผิดชอบ [๑๑๑] และความปรารถนาที่จะครอบครองและแสวงหาอำนาจ [๑๑๒] ถือเป็นเหตุผลในการปฏิเสธมะอาด ในโองการที่ ๒๔ ซูเราะฮ์ อัลญาษิยะฮ์ มีการกล่าวถึงความไม่รู้ [๑๑๓] ในโองการที่ ๓-๕ ซูเราะฮ์ อัลกิยามะฮ์ เป็นสาเหตุของการไม่เชื่อฟังและขาดความรับผิดชอบ [๑๑๔] และในโองการที่ ๓๓-๓๘ ซูเราะฮ์ อัลมุอ์มินูน n [๑๑๕] กล่าวถึง การแสวงหาอำนาจและการครอบงำ

นักปรัชญาเชิงธรรมชาตินิยมได้ปฏิเสธหลักมะอาด [๑๑๖] จากทัศนะของกลุ่มนี้ มนุษย์ คือ ร่างกายที่เป็นวัตถุที่ถูกทำลายอย่างสิ้นเชิงด้วยความตาย ในทางกลับกัน การย้อนกลับของสิ่งที่สูญสลาย เป็นไปไม่ได้ ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่มนุษย์จะกลับมาหลังความตาย [๑๑๗] มีรายงานว่า บางคน เช่น แกลเลนและผู้ติดตามของเขามีความสงสัยในหลักมะอาด (๑๑๘) เนื่องจากพวกเขาไม่แน่ใจว่า จิตวิญญาณของมนุษย์เป็นสภาพทางกายภาพของร่างกายที่ถูกทำลายไปพร้อมกับความตาย หรือเป็นสสารที่ยังคงอยู่หลังจากความตาย (๑๑๙)

ข้อสงสัยต่างๆเรื่องมะอาด

ผู้ปฏิเสธได้กล่าวถึงข้อสงสัยหลายประการที่เกี่ยวกับความเป็นไปได้และการเกิดขึ้นของมะอาด บางส่วนมีดังนี้ :

ข้อสงสัยอากิลและมะอ์กูล

จากข้อสงสัยนี้ ถ้ามนุษย์ได้กลายเป็นอาหารของมนุษย์อีกคนหนึ่ง ส่วนมะอ์กุล (สิ่งที่ถูกกิน) จะกลับมาในมะอาด ในร่างกายของอากิล (ผู้ที่กินชิ้นส่วนของร่างกายอื่น) หรือในร่างกายของมะอ์กุล (บุคคลที่ร่างกายถูกกิน)ใช่หรือไม่ ? ไม่ว่าจะสมมุติฐานอย่างไร ร่างกายของหนึ่งในทั้งสอง จะไม่ถูกฟื้นคืนอย่างสมบูรณ์ในวันกิยามะฮ์ [๑๒๐] ข้อสงสัยนี้ก็ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเช่นกันว่า หากผู้ปฏิเสธได้กินร่างกายของผู้ศรัทธา ในกรณีที่ร่างกายทางโลกนี้ถูกฟื้นคืน จำเป็นที่ผู้ศรัทธาจะถูกลงโทษ และผู้ปฏิเสธ จะได้รับรางวัล[๑๒๑]

มีการตอบคำถามนี้อย่างมากมาย นักศาสนศาสตร์บางคน เช่น อัลลามะฮ์ ฮิลลี ด้วยการแยกแยะระหว่างส่วนหลักและไม่ใช่ส่วนหลักของร่างกาย และเชื่อว่า ส่วนหลักของร่างกายของแต่ละคน คงอยู่ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงจุดสิ้นสุดของชีวิต และไม่ได้กลายเป็นส่วนหลักของร่างกายของบุคคลอื่น ส่วนหลักเดียวกันนี้ จะกลับมาในมะอาด [๑๒๒] มุลลา ศ็อดรอ เชื่อว่า อัตลักษณ์และแก่นแท้ของมนุษย์ คือ จิตวิญญาณของเขา ไม่ใช่ร่างกายของเขา ด้วยเหตุนี้เอง ร่างกายที่จะฟื้นคืนในวันอาคิเราะฮ์ จึงไม่จำเป็นต้องเป็นกายเดียวกับโลกที่เป็นอาหารของมนุษย์หรือสัตว์อื่น ในทางกลับกัน ไม่ว่า จิตวิญญาณจะอยู่ในร่างกายใดก็ตาม ร่างกายนั้นก็จะเป็นร่างของคนเดียวกัน จากทัศนะของเขา สิ่งที่จำเป็นในการรวมร่างกาย คือ ผู้ใดก็ตามที่เห็นคนนั้นฟื้นคืนชีพ ควรกล่าวว่า นี่คือ บุคคลทางโลกเดียวกัน และร่างกายของเขาก็เป็นร่างกายทางโลกเดียวกันอีกด้วย (๑๒๓)

ข้อสงสัยนี้ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาในศาสนาคริสต์ ในฐานะที่เป็นประเด็นเรื่องการกินเนื้อคน (๑๒๔)

ข้อสงสัยในเรื่องการย้อนกลับของสิ่งที่สูญสลาย

ความเป็นไปไม่ได้ของการย้อนกลับของสิ่งที่สูญสลาย ถือเป็นหนึ่งในข้อโต้แย้งของผู้ปฏิเสธมะอาด [๑๒๕] บนพื้นฐานของข้อสงสัยนี้ เหล่าผู้ปฏิเสธมะอาด คิดว่า มนุษย์เป็นเพียงร่างกายทางวัตถุและถูกทำลายด้วยความตาย หากเขากลับมามีชีวิตอีกครั้ง เขาจะเป็นคนละคน เพราะว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะคืนสู่สิ่งมีชีวิตที่ถูกทำลายล้างไปแล้ว (๑๒๖)

ในคำตอบต่อข้อสงสัยนี้ ตามโองการที่ ๑๐ และ ๑๑ ซูเราะฮ์ อัสซัจญ์ดะฮ์ [หมายเหตุ ๓] มีการกล่าวกันว่า อัตลักษณ์และแก่นแท้ของมนุษย์นั้นขึ้นอยู่กับจิตวิญญาณของเขา ไม่ใช่ร่างกายและอวัยวะทางวัตถุของเขา ดังนั้น มะอาดจึงไม่ใช่การการย้อนกลับของสิ่งที่สูญสลาย แต่เป็นการกลับมาของจิตวิญญาณ [๑๒๗] นักศาสนศาสตร์บางคน ถือว่า การการย้อนกลับของสิ่งที่สูญสลาย จะมีความเป็นไปได้ เพื่อเป็นคำตอบต่อข้อสงสัยนี้ ตามความคิดเห็นของพวกเขา บนสมมุติฐานที่ว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะย้อนกลับของสิ่งที่สูญสลาย มะอาด จึงหมายถึง การย้อนกลับและการกลับคืนของส่วนต่างๆ ให้สู่สภาพและชีวิตที่พวกเขามีก่อนความตาย [๑๒๘]

ข้อสงสัยเกี่ยวกับความรู้และพลังอำนาจของพระเจ้า

ข้อสงสัยประการหนึ่งที่เกี่ยวกับมะอาด ก็คือ การทำให้ผู้ตายกลับมามีชีวิตนั้นขึ้นอยู่กับความรู้และความเข้าใจที่เกี่ยวกับอวัยวะส่วนต่างๆ ที่กระจัดกระจายในร่างกายของมนุษย์ เพื่อให้อวัยวะส่วนต่างๆ ของแต่ละคนกลับคืนสู่ร่างกายของบุคคลเดียวกันได้ ความรู้และความเข้าใจดังกล่าว เป็นไปไม่ได้ จะเป็นไปได้อย่างไรที่จะจำแนกร่างกายที่เป็นดินและกลายเป็นฝุ่นปะปนกัน [๑๒๙] ในคำตอบต่อข้อสงสัยนี้ จึงมีระบุไว้ในอายะฮ์ที่ ๓ ซูเราะฮ์ซะบะอ์ : ผู้ทรงรอบรู้ในสิ่งพ้นญาณวิสัย จะเกิดขึ้นแก่พวกท่านอย่างแน่นอน ไม่มีแม้แต่น้ำหนักเพียงเท่าธุลีในชั้นฟ้าทั้งหลาย และในแผ่นดิน และที่เล็กยิ่งกว่านั้นและที่ใหญ่กว่านั้น จะรอดพ้นจากพระองค์ เว้นแต่จะอยู่ในบันทึกอันชัดแจ้งทั้งสิ้น (๑๓๐)

ข้อสงสัยนี้ได้รับการเสนอโดยผู้ที่ไม่รู้จักความรู้อันไม่มีขอบเขตของพระเจ้าและเปรียบเทียบกับความรู้อันจำกัดของพวกเขา แต่ความรู้ของพระเจ้านั้นไม่มีขีดจำกัดและพระเจ้าทรงครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่าง [๑๓๑]

ข้อสงสัยอีกประการหนึ่งที่เกี่ยวกับมะอาด คือ เราจะทราบได้อย่างไรว่า พระเจ้าทรงมีพลังอำนาจที่จะปลุกคนตายให้ฟื้นคืนชีพ สำหรับคำตอบต่อข้อสงสัยนี้ มีการกล่าวกันว่า พลังอำนาจของพระเจ้า ไม่มีขีดจำกัดและเป็นของทุกสิ่งที่เป็นไปได้ ดังที่กล่าวไว้ในอัลกุรอาน: และอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงเดชานุภาพเหนือทุกสิ่งทุกอย่าง (๑๓๒) นอกจากนี้ หากการสร้างขึ้นใหม่ไม่ง่ายไปกว่าการสร้างในครั้งแรก ก็จะไม่ยากไปกว่านี้ (๑๓๓) มีระบุไว้ในโองการของอัลกุรอานด้วยว่า พระเจ้า ผู้ทรงสร้างพวกท่านในครั้งแรก พระองค์จะทรงนำพวกท่านกลับมาอีกครั้งหลังความตาย (๑๓๔)

เอกสารอ้างอิง

หนังสือ มันฮะญุร เราะชาด ฟีย์ มะอ์ริฟะติลมะอาด ประพันธ์โดย มุฮัมมัดนะอีม ฏอลิกอนี

ประเด็นเรื่องมะอาด มักจะมีอยู่หมวดหนึ่งในหนังสือด้านเทววิทยา [๑๓๕] และหนังสือตัฟซีร [๑๓๖] แต่นอกเหนือจากนั้น ยังมีหนังสือที่เป็นอิสระหลายเล่มที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ ในหนังสือแหล่งที่มาของมะอาด มีการแนะนำหนังสือ ๑๐๙๘ เล่ม วิทยานิพนธ์ ๒๔๐ เล่ม และบทความ ๕๑๒ เรื่องเกี่ยวกับเรื่องมะอาด หนังสือบางเล่ม ซึ่งมีดังต่อไปนี้ :

หนังสือ ซะบีลุรเราะชาด ฟีย์ อิษบาติลมะอาด ประพันธ์โดย ออกอ อะลี มุดัรริส เฏาะ (๑๒๓๔-๑๓๐๗ ฮ.ศ.) : ในผลงานชิ้นนี้ ผู้เขียนได้แสดงความคิดเห็นของตัวเองที่ขัดแย้งกับทัศนะของมุลลา ศ็อดรอ ในประเด็นมะอาดทางกายภาพ

หนังสือ มันฮะญุร เราะชาด ฟีย์ มะอ์ริฟะติลมะอาด ประพันธ์โดย มุฮัมมัดนะอีม ฏอลิกอนี หนึ่งในนักวิชาการชีอะฮ์ในศตวรรษที่ ๑๒ แห่งฮิจญ์เราะฮ์ศักราช

หนังสือ การรู้จักมะอาด ประพันธ์โดย ซัยยิดมุฮัมมัดฮุเซน ฮุซัยนี เฏาะรอนี : หนังสือชุดนี้มีสิบเล่ม เป็นชุดคำบรรยายโดย อัลลามะฮ์ เฏาะรอนี เกี่ยวกับมะอาดและประเด็นที่เกี่ยวข้อง การอภิปรายของเขา รวมถึงโองการอัลกุรอาน ริวายะฮ์ต่างๆ หัวข้อทางปรัชญาและอิรฟานของมะอาด (๑๓๘)

หนังสือ มะอาดในอัลกุรอาน (ตัฟซีรเฉพาะเรื่องของอัลกุรอาน เล่มที่สี่และห้า) อับดุลลอฮ์ ญะวาดี อามุลี : หนังสือเล่มนี้ คือ ชุดของคำบรรยายของอายะตุลลอฮ์ ญะวาดี อามุลี ในบทเรียนตัฟซีรเฉพาะเรื่องของอัลกุรอาน ซึ่งมีหัวข้อต่างๆ ของมะอาด หนังสือนี้ มีทั้งหมดสองเล่ม

หนังสือ มะอาดของมนุษย์และโลก ผู้เขียน ญะอ์ฟัร ซุบฮานี : หนังสือเล่มนี้ เป็นเล่มที่หกของชุดความศรัทธาอิสลามทั้งหกเล่ม ซึ่งจัดพิมพ์ครั้งแรกในปี ๑๓๕๘ สุริยคติอิหร่าน โดยสำนักพิมพ์ซัดร์ (๑๓๙) หนังสือ การรู้จักมะอาด เป็นผลงานของอายะตุลลอฮ์ ซุบฮานี เกี่ยวกับมะอาด ในหนังสือ อัลอิลาฮิยาต อะละ ฮุดัลกิตาบ วัซซุนนะฮ์ วัลอักล์ ซึ่งได้รับการแปลโดย อะลี ชีรวานีและจัดพิมพ์เป็นหนังสือที่มีความเป็นอิสระ

หนังสือ มะอาดในกุรอาน ประพันธ์โดย ฮุเซน มะซอฮิรี

หนังสือ มะอาดและโลกหลังความตาย ประพันธ์โดย นาศิร มะการิม ชีรอซี

หนังสือ มะอาดในกุรอาน เขียนโดย อิบรอฮีม อะมีนี

หนังสือ มะอาด เขียนโดย ฆุลามฮุเซน อิบรอฮีมี ดีนานี

หนังสือ มะอาดในอัลมีซาน โดยรวบรวม ชัมซุดดีน ราบีอี (การอภิปรายของอัลลามะฮ์ เฏาะบาเฏาะบาอี ในตัฟซีรอัลมีซาน ประเด็นเรื่องมะอาด) หนังสือ มะอาด (เนื้อหาการบรรยายธรรมของมุรตะฎอ มุเฏาะฮ์ฮะรี (๑๔๐) หนังสือมะอาดในทัศนะของจิตวิญญาณและร่างกาย (สามเล่ม) ประพันธ์โดย มุฮัมมัดตะกี ฟัลซะฟี หนังสือ อัลมะอาด เราะวียะฮ์ กุรอานียะฮ์ ผลงานของซัยยิดกะมาล ฮัยดะรี และหนังสือ มะอาดในทัศนะของโองการอัลกุรอานและริวายะฮ์ต่างๆ เขียนโดย อับดุนนะบี นะมาซี ผลงานเหล่านี้ ล้วนเกี่ยวกับประเด็นเรื่องมะอาด