ข้ามไปเนื้อหา

นิกาห์

จาก wikishia

นิกาห์ หรือการแต่งงานแบบอิสลาม (ภาษาอาหรับ : النكاح ) เป็นการสร้างพันธภาพระหว่างผู้ชายและผู้หญิง โดยผ่านการอ่านอักด์นิกาห์ อัลกุรอานได้ให้คำแนะนำว่า การแต่งงานและการอยู่ร่วมกันของสามีและภรรยา เป็นแหล่งที่มาของความสงบสุข ซึ่งผู้ชายและผู้หญิงที่ยังไม่มีคู่ครอง จะต้องมีคู่สมรส ตามคำรายงานต่างๆ (ริวายะฮ์) ระบุว่า การแต่งงาน ถือเป็นความโปรดปรานที่ยิ่งใหญ่ที่สุด อันดับรองจากการเป็นมุสลิม เป็นสิ่งที่รักษาครึ่งหรือสองในสามของศาสนา และเป็นแบบฉบับของศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ)

ความเคร่งครัดทางศาสนา ความประพฤติดี และครอบครัวที่ดี เป็นเกณฑ์วัดที่ถูกแนะนำในคำรายงานสำหรับการเลือกคู่ครอง จากมุมมองของนักนิติศาสตร์อิสลาม (ฟุเกาะฮา) การแต่งงานเป็นสิ่งที่ได้รับอนุญาตให้กระทำ (มุสตะฮับ มุอักกัด) แต่สำหรับผู้ที่อาจตกอยู่ในการกระทำบาป หากเขาไม่แต่งงาน การแต่งงาน ถือเป็นสิ่งจำเป็น (วาญิบ) สำหรับเขา

ในมัซฮับชีอะฮ์อิมามียะฮ์ การแต่งงานมีอยู่สองรูปแบบ ด้วยกัน  : การแต่งงานแบบถาวรและแบบชั่วคราว ในการแต่งงานชั่วคราว (มุตอะฮ์) มีการกำหนดระยะเวลาและจำนวนมะฮัร (สินสอด) เป็นเงื่อนไข และเมื่อครบกำหนดเวลา ทั้งสองฝ่ายจะแยกกันโดยที่ไม่ต้องมีการหย่า

ในหนังสือ เตาฎีฮุลมะซาอิล มีหลักอะฮ์กามอย่างมากมายเกี่ยวกับการแต่งงาน ซึ่งหนึ่งในสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ความจำเป็นที่จะต้องอ่านอักด์ และเพียงแค่ความยินยอมของทั้งสองฝ่าย ไม่ถือว่า เพียงพอสำหรับการแต่งงาน นอกจากนี้ หญิงสาวที่ยังไม่เคยแต่งงาน จะต้องได้รับอนุญาตจากพ่อหรือปู่ของนางอีกด้วย

การแต่งงาน จะสิ้นสุดลงด้วยการสาปแช่ง (การลิอาน) การหย่าร้าง การเสียชีวิต การแปลงเพศ การตกศาสนา (มุรตัด) หรือการมีปัจจัยอื่นๆที่จะทำให้การแต่งงานเป็นโมฆะ หลังจากการแยกทาง ผู้หญิงจะต้องปฏิบัติตามระยะเวลาในอิดดะฮ์ (ระยะเวลาในการรอคอย)

คำจำกัดความและประเภท

การแต่งงาน คือ การสร้างพันธภาพในการสมรสโดยผ่านการอ่านอักด์ ในมัซฮับชีอะฮ์อิมามียะฮ์ การแต่งงานมีอยู่สองรูปแบบ คือ การแต่งงานแบบถาวรและแบบชั่วคราว ในการอ่านอักด์แบบชั่วคราว ถือว่า มีช่วงเวลาที่ถูกกำหนด และเมื่อสิ้นสุดในช่วงเวลานั้น สามีและภรรยาจะแยกทางกันโดยที่ไม่มีการหย่าร้าง [๑]

การแต่งงานแบบชั่วคราว

บทความหลัก: การแต่งงานชั่วคราว

การแต่งงานชั่วคราว ได้รับอนุญาตให้กระทำในช่วงยุคสมัยของศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) แต่การแต่งงานชั่วคราวได้ถูกประกาศต้องห้าม นับตั้งแต่สมัยของเคาะลีฟะฮ์ที่สอง [๒] ในบรรดามัซฮับอิสลาม มีเพียงมัซฮับชีอะฮ์อิมามียะฮ์เท่านั้นที่ถือว่า การแต่งงานชั่วคราวได้รับอนุญาต [๓] ความแตกต่างที่สำคัญที่สุดระหว่างการแต่งงานชั่วคราวและการแต่งงานแบบถาวร คือ ระยะเวลา โดยที่การกำหนดระยะเวลาในการอ่านอักด์แบบชั่วคราวนั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่ง [๔]

ความแตกต่างระหว่างการแต่งงานแบบถาวรและการแต่งงานแบบชั่วคราว

การแต่งงานแบบถาวรและการแต่งงานแบบชั่วคราว มีกฎเกณฑ์ร่วมกันหลายประการ รวมถึงการอ่านอักด์ เป็นสิ่งจำเป็นในทั้งสองกรณี การแต่งงานทั้งสองประเภทนี้ ยังมีความแตกต่างบางประการ ดังนี้ :

ในการแต่งงานแบบถาวรนั้น ไม่เหมือนกับการแต่งงานแบบชั่วคราว ที่ผู้ชายจะต้องจ่ายค่าเลี้ยงดูภรรยา

ในการแต่งงานแบบถาวร ผู้หญิงไม่สามารถออกนอกบ้านได้ หากไม่ได้รับอนุญาตจากสามี แต่ในการแต่งงานแบบชั่วคราวนั้น ผู้หญิงไม่จำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากผู้ชาย การแต่งงานแบบถาวรมีความแตกต่างจากการแต่งงานแบบชั่วคราว ตรงที่ผู้ชายและผู้หญิงจะได้รับมรดกจากกันและกัน [๕]

หากการอ่านอักด์แบบชั่วคราว ไม่ได้ระบุเรื่องสินสอดทองหมั้น การอ่านอักด์นั้น จะถือเป็นโมฆะ แต่การแต่งงานแบบถาวรนั้น การอ่านอักด์ ถือว่า มีความถูกต้อง และในกรณีที่มีเพศสัมพันธ์กัน สินสอดก็จะต้องมอบให้กับฝ่ายหญิง [๖]

สถานภาพ

ศาสนาอิสลามได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการแต่งงานและได้แนะนำให้เป็นซุนนะฮ์ของศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) [๗] อิสลาม ถือว่า การถือพรหมจรรย์และการเป็นโสดและการไม่เลือกคู่ครอง เป็นสิ่งน่ารังเกียจ [๘] อัลกุรอาน ยังถือว่า การแต่งงานเป็นแหล่งที่มาของความสงบสุข [๙] และได้แนะนำให้บรรดามุสลิมช่วยจัดหาคู่ครองให้กับชายและหญิงที่ยังไม่มีคู่ครอง [๑๐]

ในคำรายงานต่างๆ (ริวายะฮ์) ได้กล่าวถึงคุณลักษณะและข้อดีอย่างมากมายของการแต่งงาน ซึ่งรวมถึงการเป็นความโปรดปรานที่ยิ่งใหญ่ที่สุด อันดับรองจากการเป็นมุสลิม [๑๑] เป็นสาเหตุแห่งความดีทั้งในโลกนี้และโลกหน้า [๑๒] เป็นสิ่งที่รักษาครึ่งหรือสองในสามของศาสนา [๑๓] และเป็นสิ่งที่เพิ่มพูนริซกี (ปัจจัยยังชีพ) [๑๔] นอกจากนี้ ยังมีการกล่าวว่า มุสลิมที่เสียชีวิตโดยที่ยังไม่แต่งงานถือว่า เป็นผู้ตายที่ต่ำต้อยที่สุด [๑๕]

หลักอะห์กาม

ในหนังสือเตาฎีฮุลมะซาอิลของบรรดามัรญิอ์ตักลีด มีหลักอะห์กามอย่างมากมายเกี่ยวกับการแต่งงาน ซึ่งบางส่วนที่สำคัญที่สุด มีดังนี้ :

จากมุมมองของนักนิติศาสตร์อิสลาม (ฟุเกาะฮา) การแต่งงาน เป็นสิ่งที่น่าชื่นชมอย่างยิ่ง (มุสตะฮับมุอักกัด) แต่สำหรับผู้ที่อาจตกอยู่ในการกระทำบาป หากเขาไม่แต่งงาน การแต่งงานจึงถือเป็นสิ่งจำเป็น (วาญิบ) [๑๖]

ในการแต่งงานทั้งแบบถาวรและแบบชั่วคราว จำเป็นต้องอ่านอักด์ และเพียงแค่ความยินยอมของทั้งสองฝ่าย ถือว่า ไม่เพียงพอ [๑๗]

ทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชายสามารถอ่านอักด์ด้วยตนเองหรือแต่งตั้งผู้แทนให้อ่านอักด์แทนพวกเขาได้[๑๘]

หากทั้งผู้หญิงและผู้ชายมีความสามารถในการอ่านอักด์เป็นภาษาอาหรับ พวกเขาจะต้องอ่านเป็นภาษาอาหรับ [๑๙]

หญิงสาวที่ยังไม่เคยแต่งงาน จะต้องขออนุญาตจากพ่อหรือปู่ของนางก่อนแต่งงานของนาง [๒๐]

พ่อและปู่ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจเหนือบุตรชายหรือบุตรสาวที่บรรลุนิติภาวะแล้ว (เราะชีดและเราะชีดะฮ์) และไม่ใช่หญิงสาวมีพรหมจรรย์ ส่วนกรณีของหญิงสาวที่บรรลุนิติภาวะและมีพรหมจรรย์ ยังเป็นที่ถกเถียงกันในหมู่นักนิติศาสตร์อิสลาม [๒๑]

การแต่งงานกับเครือญาติที่ห้ามแต่งงานด้วย เช่น แม่ พี่สาว น้องสาว และแม่ยาย สำหรับผู้ชาย เป็นสิ่งต้องห้าม (ฮะรอม) [๒๒]

การแต่งงานแบบถาวรหรือแบบชั่วคราว ระหว่างหญิงมุสลิมะฮ์กับชายที่ไม่ใช่มุสลิม ไม่เป็นที่อนุญาต [๒๓]

การแต่งงานแบบชั่วคราว (มุตอะฮ์) ระหว่างชายมุสลิมกับหญิงที่ไม่ใช่มุสลิมที่เป็นชาวอะฮ์ลุลกิตาบ (ชาวคริสต์หรือยิว) เป็นที่อนุญาต [๒๔]

เกณฑ์วัดในการเลือกคู่ครอง ตามคำรายงาน

ในบางคำรายงาน (ริวายะฮ์) มีการระบุถึงเกณฑ์วัดสำหรับการแต่งงานและแนะนำให้พิจารณาในการเลือกคู่ครอง ตามริวายะฮ์ รายงานว่า ศาสดาแห่งอิสลามได้แนะนำให้บุคคลแต่งงานกับผู้เคร่งศาสนา [๒๕] ในหนังสือ มะการิมุลอัคลาก เขียนว่า อิมามศอดิก (อ.) กล่าวในรายงานว่า: จงแต่งงานกับครอบครัวที่ดี เพราะลักษณะเฉพาะของครอบครัวจะถ่ายทอดไปยังลูกหลาน [๒๖] อิมามริฎอ (อ.) ยังกล่าวอีกว่า : จงหลีกเลี่ยงจากการแต่งงานกับคนที่มีมารยาทไม่ดี [๒๗] ซัยด์ บิน ษาบิต กล่าวว่า : ศาสดาแห่งอัลลอฮ์ (ศ็อล) กล่าวกับฉันว่า : โอ้ซัยด์ เจ้าได้แต่งงานแล้วหรือไม่? ฉันกล่าวว่า: ไม่ ท่านกล่าวว่า: จงแต่งงาน เพื่อที่เจ้าจะรักษาความบริสุทธิ์ของเจ้าไว้ได้ แต่อย่าแต่งงานกับผู้หญิงทั้งห้ากลุ่มเหล่านี้ ฉันกล่าวว่า: ผู้หญิงเหล่านั้นคือใคร? ท่านกล่าวว่า: อย่าแต่งงานกับ ชะฮ์บะเราะฮ์ ละบะเราะฮ์ นะบะเราะฮ์ ฮัยดะเราะฮ์ ละ ฉันกล่าวว่า : "โอ้ ศาสนทูตของอัลลอฮ์ ฉันไม่เข้าใจสิ่งที่ท่านพูดและฉันไม่รู้ความหมายของคำเหล่านี้ ศาสนทูตของอัลลอฮ์ กล่าวว่า : เจ้าไม่ใช่ชาวอาหรับหรือ? ชะฮ์บะเราะฮ์" คือ ผู้หญิงที่มีตาสีฟ้าและพูดไม่ดี ละฮ์บะเราะฮ์ คือ ผู้หญิงตัวสูงที่มีร่างกายผอม นะฮ์บะราะฮ์ คือ ผู้หญิงตัวเตี้ยที่มีนิสัยไม่ดี ฮัยดะเราะฮ์ คือ ผู้หญิงแก่ที่มีหลังค่อม และละฟูต คือ ผู้หญิงที่มีลูกกับสามีคนอื่น [๒๘] [หมายเหตุ 1]

ปัจจัยในการสิ้นสุดการสมรส

ตามคำกล่าวของบรรดาฟุเกาะฮา ปัจจัยในการสิ้นสุดการสมรส ได้แก่ การแปลงเพศ [๒๙] การเสียชีวิต การหย่าร้าง และสิ่งที่ทำให้เกิดการสิ้นสุดการสมรส [๓๐] หลังจากการสิ้นสุดการสมรส ผู้หญิงจะต้องรอ อิดดะฮ์ (ระยะเวลาหนึ่งที่ผู้หญิงไม่ได้รับอนุญาตให้แต่งงาน) [๓๑]

อุปสรรคในการสมรส

ในหลักนิติศาสตร์อิสลาม ถือว่า การแต่งงานกับผู้หญิงบางคนเป็นสิ่งต้องห้าม เนื่องจากมีอุปสรรคซึ่งดังต่อไปนี้ :

อุปสรรคชั่วคราว : เงื่อนไขของการแต่งงานระหว่างชายและหญิง เป็นสิ่งต้องห้ามชั่วคราว และเมื่อเงื่อนไขเหล่านี้ถูกยกเลิก ข้อห้ามดังกล่าวก็จะถูกยกเลิกไปด้วย [๓๒] ตัวอย่างเช่น :

การแต่งงานกับผู้หญิงมากกว่า ๔ คน : [หมายเหตุ ๒] หมายความว่า ผู้ชายไม่สามารถแต่งงานกับผู้หญิงที่เป็นอิสระได้เกินสี่คน เป็นการถาวร [๓๓] และหากเขามีทาสหญิงสองคนที่แต่งงานเป็นการถาวร เขาจะไม่สามารถแต่งงานกับทาสหญิงของหญิงคนที่สามได้ [๓๔]

การรวมพี่สาวและน้องสาวสองคนพร้อมด้วยกัน : การห้ามแต่งงานกับพี่สาวและน้องสาวทั้งสองคนในเวลาเดียวกัน แต่หากภรรยาของชายคนหนึ่งเสียชีวิตหรือแยกกันอยู่โดยการหย่าร้าง หากพวกเขาเสียชีวิตแล้ว เขาสามารถแต่งงานกับน้องสาวของผู้หญิงคนนั้นได้ [๓๕] [หมายเหตุ ๓]

การปฏิเสธศรัทธาและการตกศาสนา : ไม่อนุญาตให้สตรีชาวมุสลิมแต่งงานกับกาฟิร ฮัรบี หรือชาวคัมภีร์ เช่นเดียวกัน ผู้ตกศาสนา ไม่ว่าจะเป็นแบบถาวรหรือแบบชั่วคราวก็ตาม [๓๖] ไม่อนุญาตให้ผู้ชายชาวมุสลิมแต่งงานกับกาฟิรที่ไม่ใช่ชาวคัมภีร์หรือผู้ตกศาสนา [๓๗]

อุปสรรคแบบถาวร: เหตุผลและอุปสรรคที่ทำให้ผู้ชายห้ามแต่งงานกับสตรีอย่างถาวร [๓๘] ในนิติศาสตร์ของชีอะฮ์ การล่วงประเวณี [๓๙] การลิอาน [๔๐] อิฟเฎาะอ์ [๔๑] เกาะซัพ [๔๒] การแต่งงานกับสตรีที่อยู่ระหว่างรออิดดะฮ์ [๔๓] การร่วมประเวณีทางทวารหนักกับบุตรชาย บิดา หรือพี่ชายของสตรี [๔๔] การหย่าร้างภรรยา หลังจากครั้งที่เก้า [๔๕] [หมายเหตุ ๔] และการอ่านอักด์แต่งงานในขณะที่อยู่ในสภาพของอิห์รอม ส่งผลให้เกิดการห้ามชั่วนิรันดร์ [๔๖]

กฎหมายการจดทะเบียนสมรส

ในหลายประเทศ การจดทะเบียนสมรส ต้องเป็นไปตามกฎหมาย [๔๗] ในประเทศอิหร่าน ตามมาตรา ๖๔๕ ของประมวลกฎหมายอิสลาม การไม่จดทะเบียนสมรส ถือเป็นความผิดทางอาญาสำหรับคู่สมรส [๔๘] เป้าหมายบางประการของการจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย ได้แก่ การรับรองความถูกต้องของการสมรส การป้องกันข้อพิพาท และการอำนวยความสะดวกในการพิสูจน์สิทธิของคู่สมรส [๔๙]