ข้ามไปเนื้อหา

ตักวา

จาก wikishia

ตักวา (ภาษาอาหรับ : التقوى ) หมายถึง สภาพหนึ่งหรือพลังทางจิตวิญญาณ ซึ่งเป็นเกราะป้องกันทางจิตใจและศีลธรรมให้กับบุคคล ทำให้เขาแม้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยบาป สภาพและคุณลักษณะทางจิตวิญญาณนี้จะปกป้องเขาไว้ อัลกุรอาน และริวายะฮ์ต่างๆของศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) และบรรดาอิมาม ผู้บริสุทธิ์ (อ.) รวมถึงคำพูดของนักวิชาการศาสนา ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของตักวาและได้กล่าวถึงผลกระทบของตักวาทั้งในชีวิตทางโลกนี้และโลกหน้า บางผลกระทบของตักวา มีดังนี้ การได้รับการอภัยโทษจากบาป การที่อะมั้ลอิบาดะฮ์ต่างๆถูกยอมรับจากอัลลอฮ์ การเข้าถึงความผาสุก การได้รับความสามารถในการแยกแยะระหว่างความจริงและความเท็จ การได้รับปัจจัยยังชีพที่ฮะลาล และการรอดพ้นจากความยากลำบาก

นอกจากนี้ ยังฮะดีษอีกมากมายที่กล่าวถึงเรื่องนี้ ดังเช่น คุฏบะฮ์ ที่ ๑๙๓ ของนะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ ซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อ คุฏบะฮ์ฮัมมาม ได้กล่าวอธิบายถึงคุณลักษณะของมุตตะกีน

มีการกล่าวถึงระดับขั้นต่างๆ ของตักวา ในริวายะฮ์หนึ่งที่รายงานจากอิมามญะอ์ฟัร ศอดิก (อ.) ได้กล่าวถึงสามระดับขั้นของตักวา ดังนี้ :

ตักวาแบบทั่วไป ซึ่งเป็นการละทิ้งสิ่งต้องห้าม เนื่องจากความหวาดกลัวต่อการลงโทษในนรก ตักวาแบบพิเศษ ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการละทิ้งสิ่งต้องห้าม แต่ยังละทิ้งสิ่งที่น่าสงสัย (สิ่งที่อาจเป็นสิ่งต้องห้าม) ด้วย

ตักวาแบบพิเศษที่สุด ซึ่งบุคคลไม่เพียงแต่จะละทิ้งสิ่งที่น่าสงสัย แต่ยังละทิ้งบางสิ่งที่เป็นฮะลาล อีกด้วย นอกจากนี้ บรรดานักวิชาการศาสนาได้อธิบายถึงตักวาของอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายที่อาจตกอยู่ในบาป เช่น หู ตา ลิ้น และหัวใจ โดยอ้างอิงจากริวายะฮ์ต่างๆ

ความหมาย

ตักวา หมายถึง สภาพที่เกิดขึ้นในตัวบุคคลเป็นเกราะป้องกันทางจิตใจและศีลธรรม ทำให้เมื่อเขาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยบาป เขาจะไม่กระทำบาป คำว่า ตักวา มาจากรากศัพท์ วะกี ซึ่งหมายถึง การปกป้องและรักษา และในทางภาษา หมายถึง การรักษาตนเองและการปกป้องจิตใจ (๒)

ความหมายของตักวาในอัลกุรอาน

นักวิจัยบางคนได้สรุปความหมายสี่ประการของตักวาจากโองการต่าง ๆ ในอัลกุรอาน (๓) :

การป้องกัน : การที่บุคคลวางสิ่งกีดขวางระหว่างตัวเองกับสิ่งที่เขากลัว เพื่อป้องกันตัวเองจากอันตราย (๔) ตักวาในโองการ และพระองค์ทรงกำหนดเครื่องนุ่งห่มสำหรับเจ้า เพื่อป้องกันพวกเขาให้รอดพ้นจากความร้อน (๕) ก็ถูกนำมาใช้ในความหมายนี้ (๖) ตามคำกล่าวของอิซุสึ ระบุว่า ความหมายนี้ถูกนำมาใช้ก่อนการเกิดขึ้นของอิสลามในหมู่ชาวอาหรับอีกด้วยเช่นกัน (๗)

ความกลัว : ความหวาดกลัวต่อการลงโทษหรือความโกรธของอัลลอฮ์ในวันอาคิเราะฮ์ (๘) ตักวาในโองการ และจงยำเกรงอัลลอฮ์ แท้จริงอัลลอฮ์ทรงมีบทลงโทษที่รุนแรงยิ่ง (๙) ก็ถูกนำมาใช้ในความหมายนี้ (๑๐) การปฏิบัติตามและการละทิ้งบาป : การปฏิบัติตามคำสั่งของอัลลอฮ์และการละทิ้งสิ่งต้องห้าม (๑๑) ในโองการ โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงยำเกรงอัลลอฮ์ และจงให้ทุกคนพิจารณาสิ่งที่เขาได้เตรียมไว้สำหรับวันพรุ่งนี้ (๑๒) ก็ถูกนำมาใช้ในความหมายนี้

สภาพทางจิตใจ : สภาพทางจิตใจและคุณลักษณะทางจิตวิญญาณที่ทำให้บุคคลตระหนักถึงการเชื่อฟังและการไม่เชื่อฟังอัลลอฮ์ การบรรลุความหมายนี้ ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตามพระบัญญัติและข้อห้ามของพระเจ้าและดำเนินการต่อไปอย่างต่อเนื่อง (๑๔)

มีการกล่าวว่า ความหมายทั้งสี่นี้ มีความสัมพันธ์กันและร่วมกันสร้างระบบตักวา ขึ้นมา โดยมีความหมายดังนี้: ความกลัวต่อการลงโทษของอัลลอฮ์ (ความหมายที่สอง) ทำให้บุคคลปฏิบัติตามคำสั่งและหลีกเลี่ยงข้อห้ามของพระองค์ (ความหมายที่สาม)

และด้วยวิธีนี้ บุคคลนั้นได้สร้างเกราะป้องกันระหว่างตัวเองกับการลงโทษและความโกรธของอัลลอฮ์ (ความหมายที่หนึ่ง)

การปฏิบัติตามคำสั่งและข้อห้ามของอัลลอฮ์อย่างต่อเนื่อง จะทำให้ตักวากลายเป็นคุณลักษณะที่ฝังลึกในหัวใจของผู้ศรัทธา (ความหมายที่สี่) [๑๕]

ความหมายทั้งสี่ของตักวานี้มีความเชื่อมโยงกันและเสริมสร้างกัน โดยเริ่มจากความกลัวต่อการลงโทษ นำไปสู่การปฏิบัติตามคำสั่งของอัลลอฮ์ และในที่สุด ตักวาก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของจิตใจและ วิญญาณของผู้ศรัทธา

ความสัมพันธ์ระหว่างตักวาและวะเราะอ์

ในบางริวายะฮ์ รายงานว่า ตักวาและวะเราะอ์ ถูกกล่าวถึงร่วมกัน (๑๖) มุฮัมมัด มะฮ์ดี นะรอกี ถือว่าทั้งสองคำนี้ มีความหมายเหมือนกัน (๑๗) และได้ให้ความหมายสองประการสำหรับวะเราะอ์ ซึ่งสามารถใช้กับตักวาได้ :

การป้องกันตนเองจากทรัพย์สินที่ฮะรอม

การป้องกันตนเองจากการทำบาปทั้งหมด เนื่องจากความหวาดกลัวต่อความโกรธของอัลลอฮ์และความปรารถนาที่จะได้รับความพึงพอใจจากพระองค์ (๑๘)

บางคน เช่น อับดุลกอดิร มุลลา ฮูยัช อาลิฆอซี นักวิชาการมัซฮับฮะนะฟีจากซีเรีย ในศตวรรษที่ ๑๔ ถือว่า วะเราะอ์มีความแตกต่างจากตักวาและมีความสูงส่งกว่าตักวา [๑๙]

ตามความเชื่อของพวกเขา ตักวา หมายถึง การหลีกเลี่ยงสิ่งต้องห้าม และการปฏิบัติตามข้อบังคับของอัลลอฮ์ ในขณะที่ วะเราะอ์ เป็นระดับที่สูงส่งกว่า ซึ่งหมายถึง การหลีกเลี่ยงจากสิ่งที่น่าสงสัย และการกระทำที่ฮะลาล ที่อาจเป็นสาเหตุให้เกิดการกระทำบาป [๒๐]

กล่าวคือ วะเราะอ์ไม่เพียงแต่เกี่ยวข้องกับการหลีกเลี่ยงสิ่งต้องห้ามเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการระมัดระวัง แม้ในสิ่งที่อนุญาต (ฮะลาล) หากอาจนำไปสู่การกระทำบาปหรือความผิดพลาดได้

สถานภาพของตักวา

คำว่า ตักวา เป็นคำที่พบได้บ่อยในคำสอนทางศาสนาและถูกใช้ทั้งในรูปแบบคำนามและกริยาหลายครั้งในอัลกุรอาน มุรตะฎอ มุเฏาะฮ์ฮะรี กล่าวว่า คำว่า ตักวา ถูกกล่าวถึงในอัลกุรอานเกือบเท่ากับคำว่า อีมาน (ความศรัทธา) และอะมัลศอลิห์ (การกระทำที่ความดีงาม) และมากกว่าคำว่า ซะกาต (การบริจาค) หรือศิยาม (การถือศีลอด) นักวิจัยบางคนกล่าวว่า คำว่าตักวา ถูกใช้ ๑๗ ครั้งในอัลกุรอานและคำที่เกี่ยวข้องถูกใช้มากกว่า ๒๐๐ ครั้ง คำว่า ตักวา ถูกใช้บ่อยครั้งในริวายะฮ์ต่างๆของบรรดาอิมาม ผู้บริสุทธิ์ (อ.) ด้วย [๒๔] อัล-กุลัยนี เขียนในหนังสือ อัล-กาฟี ได้จัดในบทที่มีชื่อว่า บาบุฏ-ฏออะฮ์ วัต-ตักวา ซึ่งกล่าวถึงฮะดีษที่เกี่ยวกับตักวา [๒๕]

ในหนังสือ นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ คำว่า ตักวา เป็นหนึ่งในคำที่ถูกเน้นย้ำอย่างมาก [๒๖]

ตามที่นักวิจัยบางคนกล่าวไว้ คำว่า ตักวา และคำที่เกี่ยวข้องถูกใช้ประมาณ ๑๐๐ ครั้ง ในนะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ และถือเป็นหนึ่งในคำสำคัญในคำพูดของอิมามอะลี (อ.) [๒๗]

นอกจากนี้ ในผลงานเขียนเกี่ยวกับจริยธรรมอิสลาม ก็มีการกล่าวถึงตักวาและผลกระทบของตักวาอย่างกว้างขวาง [๒๘]

ในคำพูดของนักซูฟีและนักอาริฟ ระบุว่า ตักวา ถือเป็นหนึ่งในระดับขั้นทางจิตวิญญาณ และถูกอธิบายในบริบทของสองความหมาย คือ วะเราะอ์ และหัวใจ (ก็อลบ์) [๒๙]

ในคำพูดของบรรดาฟะกีฮ์ ก็มีการกล่าวถึงสถานภาพของตักวา ในบางกฎเกณฑ์ทางศาสนา [๓๐] ตัวอย่างเช่น:

ตามคำวินิจฉัยของบรรดาฟะกีฮ์ อิมามญุมุอะฮ์ จำเป็นต้องแนะนำให้ประชาชนมี ตักวา ในคุฏบะฮ์ ของนมาซญุมุอะฮ์ [๓๑]

ตามคำวินิจฉัยของบรรดาฟะกีฮ์บางคน หากมีมุจญ์ตะฮิด สองคนที่มีความรู้เท่าเทียมกัน ผู้ปฏิบัติตาม จำเป็นที่จะต้องเลือกปฏิบัติตามมุจญ์ตะฮิดที่มีตักวามากกว่า [๓๒]

การอธิบายบางส่วนของอัลกุรอาน ริวายะฮ์และคำพูดของบรรดานักวิชาการเกี่ยวกับตักวา

ในโองการที่ ๑๓ ของซูเราะฮ์อัล-ฮุญุรอต ได้ระบุว่า มาตรฐานในการประเมินค่าของมนุษย์ คือ การยำเกรงอัลลอฮ์ (ตักวา) [๓๓]

ตามโองการที่ ๑๙๗ ของซูเราะฮ์อัล-บะกอเราะฮ์ ตักวา คือ สัมภาระที่ดีที่สุดสำหรับอาคิเราะฮ์ (โลกหน้า) [๓๔]

ในโองการที่ ๒๖ ของซูเราะฮ์อัล-อะอ์รอฟ หลังจากกล่าวถึงเสื้อผ้าที่ปกปิดร่างกาย ตักวาถูกอธิบายว่า เป็นเสื้อผ้าของจิตวิญญาณ ซึ่งดีกว่าและจำเป็นกว่าเสื้อผ้าทางกายภาพ [๓๕]

ในคุฏบะฮ์ที่ ๑๑๔ ของนะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ อิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า ตักวาของอัลลอฮ์ได้ปกป้องมิตรสหายของพระองค์และป้องกันพวกเขา จากการละเมิดขอบเขตที่อัลลอฮ์ทรงห้ามไว้ และได้ทำให้ความกลัวต่ออัลลอฮ์อยู่ในหัวใจของพวกเขา [๓๖]

ในคุฏบะฮ์ที่ ๑๖ อิมามอะลี (อ.) ได้เปรียบเทียบตักวา เหมือนกับม้าที่มีความเชื่องและเชื่อฟัง ซึ่งผู้ที่ขี่มันสามารถควบคุมมันและจะนำมันเข้าสู่สวรรค์ได้ [๓๗]

ในคุฏบะฮ์ที่ ๑๘๙ อิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า ตักวาในโลกนี้ เป็นเหมือนเกราะป้องกัน และในโลกหน้า คือ เส้นทางสู่สวรรค์ [๓๘]

ในคุฏบะฮ์ที่ ๒๒๘ อิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า ตักวาคือกุญแจสู่ความถูกต้อง สัมภาระสำหรับวันกิยามะฮ์ การปลดปล่อยจากการเป็นทาส และการรอดพ้นจากทุกความวิบัติ [๓๙]

อิมามซัยนุลอาบิดีน (อ.) กล่าวว่า ตักวา คือ สาเหตุของการบรรลุสู่เกียรติยศของมนุษย์ [๔๐] และในการดุอาอ์หลายบทในหนังสือ เศาะฮีฟะฮ์ อัซซัจญาดียะฮ์ เขาได้ขอให้อัลลอฮ์ทรงประทานตักวาให้แก่เขา [๔๑] ในริวายะฮ์หนึ่งจากศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ)รายงานว่า ตักวา ถูกอธิบายว่า เป็นศูนย์รวมของความดีทั้งหมด [๔๒]

อิมามมุฮัมมัด บากิร (อ.) กล่าวว่า บ่าวที่อัลลอฮ์ทรงรักที่สุด คือ ผู้ที่มีตักวามากที่สุด [๔๓]

ในอีกริวายะฮ์บทหนึ่ง รายงานว่า อิมามมุฮัมมัด บากิร (อ.) กล่าวว่า ชีอะฮ์ที่แท้จริง คือ ผู้ที่ยำเกรงอัลลอฮ์ [๔๔]

อิมามญะอ์ฟัร ศอดิก (อ.) กล่าวว่า การกระทำเล็กน้อยที่ประกอบด้วยตักวานั้นดีกว่าการกระทำมากมายที่ปราศจากตักวา [๔๕]

ในดุอาอ์ นุดบะฮ์ ระบุว่า การรวมผู้คนไว้บนพื้นฐานของอัลลอฮ์และตักวา ถูกกล่าวว่า เป็นหนึ่งในลักษณะของรัฐบาลของอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) [๔๖]

รอฆิบ อัล-อิศฟะฮานี นักปราชญ์และนักภาษาศาสตร์ เขียนไว้ในหนังสือ อัษ-ษะรีอะฮ์ อิลา มะการิม อัช-ชะรีอะฮ์ ว่า ตักวาและความบริสุทธิ์ของจิตใจ เป็นเงื่อนไขหลักของการเป็นตัวแทนของอัลลอฮ์ [๔๗]

อิบนุ ฟะฮ์ด อัล-ฮิลลี เขียนในหนังสือ อิดดะตุดดาอี ว่า หากมีคุณลักษณะใดที่ดีกว่า มีประโยชน์มากกว่า และมีสถานะสูงกว่าตักวา แน่นอนอัลลอฮ์จะทรงแจ้งให้บ่าวของพระองค์ทราบผ่านวะฮีย์ [๔๘]

มุฮัมมัดมะฮ์ดี อัน-นะกีย์ เขียนในหนังสือ ญามิอ์ อัส-ซะอาดาต ว่า ตักวา คือ ผู้ช่วยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษย์และเป็นหนึ่งในเส้นทางสำคัญสู่ความผาสุกและสถานภาพที่สูงส่ง [๔๙]

อิมามโคมัยนี เขียนในหนังสือ ชัรห์ อัรบะอีน ฮะดีษ ว่า การบรรลุสู่สถานภาพและความสมบูรณ์แบบของมนุษย์นั้น เป็นไปไม่ได้หากปราศจากตักวา [๕๐]

ระดับขั้นของตักวา

นักตัฟซีรอัลกุรอาน บางคน โดยอ้างอิงจากโองการต่างๆ เช่น โองการที่ว่า

إِنَّ أَكْرَمَكُمْ عِنْدَ اللَّهِ أَتْقَاكُمْ

แท้จริงผู้ที่มีเกียรติที่สุดในหมู่พวกท่าน ณ ที่อัลลอฮ์ คือ ผู้ที่มีตักวาที่สุด [๕๑] ได้กล่าวว่า ตักวานั้นมีระดับขั้นที่แตกต่างกัน [๕๒]

ในริวายะฮ์บทหนึ่งที่รายงานจากอิมามญะอ์ฟัร ศอดิก (อ.) ได้กล่าวถึงสามระดับขั้นของตักวา ซึ่งมีดังนี้ :

ตักวาแบบทั่วไป : การละทิ้งสิ่งต้องห้าม เนื่องจากความหวาดกลัวต่อการลงโทษในนรก

ตักวาแบบพิเศษ : การที่บุคคลไม่เพียงละทิ้งสิ่งต้องห้าม แต่ยังละทิ้งสิ่งที่น่าสงสัย ด้วย

ตักวาแบบพิเศษที่สุด : การที่บุคคลไม่เพียงละทิ้งสิ่งต้องห้ามและสิ่งที่น่าสงสัย แต่ยังละทิ้งบางสิ่งที่เป็นฮะลาลด้วย [๕๓]

อัล-บัยฎอวี นักตัฟซีรและฟะกีฮ์ของมัซฮับชาฟิอีในศตวรรษที่ ๗ และ ๘ ได้กล่าวถึงสามระดับขั้นของตักวา ดังนี้ :

ระดับขั้นที่ต่ำสุด : การหลีกเลี่ยงการตั้งภาคี

ระดับขั้นกลาง : การหลีกเลี่ยงบาป

ระดับขั้นสูงสุด: การยอมจำนนต่ออัลลอฮ์และหลีกเลี่ยงทุกสิ่งที่ทำให้มนุษย์ห่างไกลจากความจริง [๕๔]

อัลลามะฮ์ มัจญ์ลิซี เขียนไว้ในหนังสือ บิฮารุลอันวาร ได้กล่าวถึงสามระดับขั้นของตักวา ดังนี้ :

ระดับขั้นแรก : การป้องกันตนเองจากการลงโทษชั่วนิรันดร์โดยการยึดมั่นในความเชื่อที่ถูกต้อง

ระดับขั้นกลาง : การหลีกเลี่ยงทุกประเภทของบาป ทั้งการละทิ้งวาญิบและการกระทำบาป

ระดับขั้นสูงสุด : การควบคุมตนเองจากทุกสิ่งที่ทำให้หัวใจว้าวุ่นและทำให้ห่างไกลจากอัลลอฮ์ [๕๕]

อิมามโคมัยนี เขียนในหนังสือ อาดาบุศเศาะลาฮ์ ได้กล่าวถึงสี่ระดับขั้นของตักวา ดังนี้ :

ตักวาภายนอก : การป้องกันตนเองจากบาปภายนอก นี่คือ ตักวาของประชาชนทั่วไป

ตักวาภายใน : การควบคุมตนเองจากความสุดโต่งและความไม่สมดุลในจริยธรรมและสัญชาตญาณทางจิตวิญญาณ นี่คือ ตักวาของบุคคลพิเศษ

ตักวาของสติปัญญา : การป้องกันสติปัญญาจากการหมกมุ่นกับศาสตร์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับอัลลอฮ์ นี่คือ ตักวาของบุคคลที่พิเศษที่สุด

ตักวาของหัวใจ : การป้องกันหัวใจจากการมองเห็นสิ่งอื่นที่ไม่ใช่อัลลอฮ์และการสนทนากับสิ่งอื่นที่ไม่ใช่อัลลอฮ์ นี่คือ ตักวาของผู้ใกล้ชิดพระองค์ (บรรดาเอาลิยาอ์) [๕๖]

ตักวาของร่างกายและหัวใจ

นักจริยธรรมได้อธิบายถึงตักวาของอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายที่อาจตกอยู่ในบาป โดยอ้างอิงจากฮะดีษที่เกี่ยวกับจริยธรรม ซึ่งบางส่วนมีดังนี้ :

ตักวาของลิ้น : การพูดความจริง [๕๗] การกล่าวซิกรุลลอฮ์ อยู่เสมอ [๕๘] การพูดจาด้วยความนุ่มนวลและความอ่อนโยน [๕๙] การพูดดี การควบคุมลิ้นจากการพูดจาหยาบคาย และการละทิ้งคำพูดที่ไร้ประโยชน์ [๖๐]

ตักวาของสายตา  : การหลีกเลี่ยงการมองสิ่งที่อัลลอฮ์ทรงห้ามไว้ [๖๑]

ตักวาของหู  : การควบคุมหูจากการฟังสิ่งที่อัลลอฮ์ทรงห้ามไว้ [๖๒] การฟังความรู้ที่มีประโยชน์ [๖๓] การฟังคำสอนทางศาสนา คำแนะนำที่มีประโยชน์ และคำตักเตือนที่ช่วยให้รอดพ้น [๖๔]

ตักวาของหัวใจ :ในโองการที่ ๓๒ ของซูเราะฮ์อัล-ฮัจญ์ และโองการที่ ๓ ของซูเราะฮ์อัล-ฮุญุรอต รวมถึงฮะดีษจากบรรดาอิมาม ผู้บริสุทธิ์ (อ.) ได้แนะนำว่า หัวใจของมนุษย์อยู่ในฐานะเป็นสภานภาพของตักวา [๖๕]

ดังนั้น นักวิชาการบางคนจึงกล่าวว่า ตักวาเป็นเรื่องของจิตวิญญาณและภายใน ซึ่งเกี่ยวข้องกับจิตใจและวิญญาณของมนุษย์ [๖๖] ในขณะเดียวกัน บางคนเชื่อว่า ตักวาของหัวใจ คือการที่หัวใจปราศจากความสงสัย การตั้งภาคี การปฏิเสธศรัทธา และการกลับกลอก [๖๗]บางคนถือว่า ตักวาของหัวใจเป็นระดับขั้นสูงสุดของตักวา [๖๘]

ตักวาไม่เพียงแต่เกี่ยวข้องกับการกระทำภายนอกเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการควบคุมอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายและจิตใจให้ห่างไกลจากบาปและสิ่งที่น่าสงสัย ตักวาของหัวใจ ถือเป็นระดับขั้นสูงสุดของการยำเกรงอัลลอฮ์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำให้หัวใจบริสุทธิ์และใกล้ชิดกับพระองค์

ผลกระทบของตักวา

นักวิชาการมุสลิมได้กล่าวถึงผลกระทบของตักวาจากอัลกุรอานและฮะดีษของบรรดาอิมามผู้บริสุทธิ์ (อ.) ซึ่งบางผลกระทบ มีดังนี้ :

การแยกแยะระหว่างความจริงและความเท็จ (๖๙) การที่อิบาดะฮ์ถูกยอมรับจากอัลลอฮ์ (๗๐) การได้รับประโยชน์จากคำสอนของอัลลอฮ์ (๗๑) การรอดพ้นจากความยากลำบาก (๗๒) การได้รับการชี้นำจากอัลกุรอาน (๗๓) การได้รับการอภัยโทษจากบาป (๗๔) การเข้าถึงความผาสุก (๗๕) การได้รับฐานภาพที่สูงส่ง (๗๖) การปรับปรุงหัวใจ (๗๗) การป้องกันตนเองจากสิ่งที่น่าสงสัย (๗๘) การชำระตนเองจากมลทินของบาป (๗๙) การได้รับปัจจัยยังชีพที่ฮะลาล (๘๐) การพำนักในสรวงสวรรค์อย่างนิรันดร์ (๘๑)

คุฏบะฮ์มุตตะกีน

คุฏบะฮ์มุตตะกีน เป็นหนึ่งในคุฏบะฮ์ที่มีชื่อเสียงในนะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ ซึ่งกล่าวถึงลักษณะของมุตตะกีน (ผู้ยำเกรง) (๘๒) อิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวคุฏบะฮ์นี้ ตามคำร้องขอของฮัมมาม และได้บรรยายคุณลักษณะทางจิตวิญญาณ ความคิด จริยธรรมและการกระทำมากกว่า ๑๐๐ ประการของมุตตะกีน (๘๓) คุณลักษณะบางประการ มีดังนี้ การพูดดี ความพอดี การฟังความรู้ที่มีประโยชน์ ความอดทนต่อความยากลำบาก การควบคุมลิ้น การกล่าวซิกรุลลอฮ์ในทุกสถานการณ์ และการตื่นนอนในเวลากลางคืนเพื่อทำอะมั้ลอิบาดะฮ์ ล้วนเป็นคุณลักษณะของบุคคลที่มีตักวา ซึ่งถูกกล่าวไว้ในคุฏบะฮ์นี้ (๘๔)

แหล่งอ้างอิง

ริซาละฮ์ตักวา : ผลงานประพันธ์ของมุรตะฎอ มุเฏาะฮ์ฮะรี ประกอบด้วยการบรรยายทั้งสองครั้งของเขาเกี่ยวกับแก่นแท้ของตักวา ความสำคัญและผลกระทบของตักวาในอัลกุรอานและฮะดีษ ซึ่งได้รับการบรรยายระหว่างปี ๑๓๓๙ ถึง ๑๓๔๑ ปฏิทินอิหร่าน พร้อมกับคำบรรยายอื่นๆ ถูกรวบรวมและประพันธ์ด้วยชื่อว่า สิบคำพูด (ดะฮ์ กุฟตอร) (๘๕)

ตักวา ฐานสำหรับการบิน (ตักวอ ชักกูเยพัรวอซ ) : เขียนโดยญะลีล ญะลีลี หนังสือเล่มนี้ประกอบด้วยบทนำและห้าบท บทนำกล่าวถึงคำจำกัดความและการใช้ตักวาในอัลกุรอาน บทที่หนึ่งกล่าวถึงที่มาของตักวา บทที่สอง สามและสี่ กล่าวถึงตักวาของบุคคล สังคมและการเมืองตามลำดับ บทที่ห้ากล่าวถึงผลกระทบของตักวาในโลกนี้และโลกหน้า ผลงานนี้ได้รับการจัดพิมพ์ครั้งแรกในปี ๑๔๐๐ ปฏิทินอิหร่าน โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยมะอาริฟอิสลาม (๘๖)