ซัยยิดอิบรอฮีม ราอีซี
ซัยยิดอิบรอฮีม ระอีซ อัซซาดาตี ถือกำเนิด ในปี 1339-1403 (ปฏิทินอิหร่าน) เป็นที่รู้จักในนามว่า ซัยยิดอิบรอฮีม ระอีซี (ภาษาอาหรับ: السيد إبراهيم رئيسي) นักการศาสนาของชาวชีอะฮ์ นักการเมืองและประธานาธิบดีคนที่แปดของสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน
ระอีซี สำเร็จการศึกษาจากสถาบันศาสนาเฮาซะฮ์ อิลมียะฮ์ เมืองกุมอันศักดิ์สิทธิ์ เมืองมัชฮัดและสถาบันการศึกษาชั้นสูง ชะฮีดมุเฏาะฮะรี ณ กรุงเตหะราน
ระอีซี เป็นสมาชิกญามิเอห์ รูฮอนียัต มุบอเรซ (สมัชชานักการศาสนานักต่อสู้) เขามีหน้าที่รับผิดชอบในตำแหน่งต่างๆในระบอบสาธารณรัฐอิสลาม ทั้งยังดำรงตำแหน่งประธานตุลาการสูงสุด อัยการสูงสุดประจำประเทศ ประธานองค์กรตรวจสอบกลางของประเทศ อัยการสูงสุดประจำศาล เฉพาะกับนักการศาสนา สมาชิกสภาวิจัยผลประโยชน์แห่งชาติ และสมาชิกสภาผู้ชำนาญการ อีกด้วย
นอกจากนี้ เขายังเป็นผู้ดูแลฮะรอมอิมามริฎอ(อ.) เป็นเวลา 3 ปี ด้วยกัน
ชีวประวัติและการศึกษา
อิบรอฮีม ถือกำเนิด เมื่อวันที่ 23 เดือนออซัร 1339 ตามสุริยคติอิหร่าน ในเมือง มัชฮัด ในย่าน โนฆอน เขาสืบเชื้อสายจาก ซัยด์ บินอะลี ทั้งฝ่ายบิดาและมารดา เขาเริ่มเรียนศาสนาในเมืองมัชฮัด และจากมัดรอซะฮ์ อิลมียะฮ์ เนาวาบ และเขาเรียนต่อในเฮาซะฮ์ อิลมียะฮ์ เมืองกุม ตั้งแต่ปี 1354 สุริยคติอิหร่าน เขาศึกษากับนักวิชาการศาสนา เช่น ยะดุลเลาะฮ์ โดซโดซานี , ซัยยิด อะลี มุฮักกิก ดามาด, อะลีอักบัร เมชกีนี , อะห์มัด เบเฮชตี, มุรตะฎอ มุเฏาะฮ์ฮะรี และฮุเซน นูรี ฮะมะดานี [1] ราอีซียังศึกษาในบทเรียนระดับสูง (ดัรซ์ คอริจญ์ กับซัยยิดมุฮัมมัดฮะซัน มัรอะชี ชุชตะรี , ซัยยิดมะฮมูด ฮาเชมี ชาห์รูดี , ออกอ มุจญ์ตะบา เตห์รอนี และ อยาตุลลอฮ์ คาเมเนอี [2]
เขาได้สำเร็จการศึกษาจากมัดดะรอซะฮ์ อาลีย์ ชะฮีดมุเฏาะฮ์ฮะรี ในสาขานิติศาสตร์และกฎหมาย(3) ในปี 1362ตามสุริยคติอิหร่าน เขาได้แต่งงานกับ ญะมีละฮ์ อะละมุลฮุดา บุตรสาวของซัยยิดอะฮ์มัด อะละมุลฮุดา (4)
ประสบการณ์จากการต่อสู้ ก่อนการปฏิวัติอิสลาม
ระอีซี ตามคำบอกเล่าของเขา กล่าวว่า เขาถูกทหารซาวัค จับกุมในช่วงหลายปี ก่อนการปฏิวัติอิสลาม เนื่องจากการเคลื่อนไหวในการต่อสู้ของเขา (5) นอกจากนี้ เขายังเข้าร่วมกับบรรดานักเรียนศาสนาเดินไปเยี่ยมบรรดานักการศาสนาที่ถูกลี้ภัยโดยรัฐบาลปาห์ลาวี เช่น การเข้าเยี่ยมอยาตุลลอฮ์ คาเมเนอี ณ เมืองอีรอนชะฮ์ร ซึ่งขณะนั้นเขาอยู่ในระหว่างการลี้ภัย (6) หลังจากที่มีการดูหมิ่นอิมามโคมัยนี (ร.ฮ) ในหนังสือพิมพ์อิลลาอาต เมื่อวันที่ 17 เดือนเดย์ 1356 และจุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวของประชาชน ราอีซี ได้เข้าร่วมในการชุมนุมประท้วง ซึ่งมักเริ่มต้นจากมัดดะรอซะฮ์ อยาตุลลอฮ์ บุรูญิรดี (มัดดะรอซะฮ์ ข่าน) เขาได้เข้าร่วมและมีบทบาทเป็นแกนนำของนักเรียนศาสนาคณะปฏิวัติ (7) นอกเหนือจากนี้ ในเดือนบะฮ์มัน ปี 1357 สุริยคติอิหร่าน เขายังได้เข้าร่วมในการรวมตัวของนักการศาสนา จากการประท้วงปิดสนามบินเพื่อป้องกันไม่ให้อิมามโคมัยนีเดินทางกลับยังประเทศอิหร่าน โดยเขาได้ปิดล้อมมหาวิทยาลัยกรุงเตหะราน ด้วยเช่นกัน (8)
การดูแลฮะรอมของอิมามริฎอ (อ.)
ในปี 1394 ตามสุริยคติอิหร่าน หลังจากการเสียชีวิตของอับบาส วาเอซ เฏาะบะซี ผู้นำสูงสุดสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน ได้ประกาศแต่งตั้งระอีซีให้เป็นผู้ดูแล ออสตอน กุดส์ ระซาวี [9] และเขารับผิดชอบในหน้าที่นี้ จนถึง เดือนฟัรวัรดีน 1398 [10] ในช่วงเวลาดังกล่าว ระอีซีให้บริการอย่างมากมายใน ออสตอน กุดส์ อาทิเช่น คือ การก่อสร้าง ซาอิรชะฮ์ร ที่สามารถรองรับผู้แสวงบุญได้ถึงสามพันคนต่อวัน และการก่อสร้างซาอิรซะรอ หลายแห่งรอบฮะรอมของอิมามริฎอ (อ.) [11] นอกจากนี้ แผนการส่งผู้แสวงบุญกลุ่มแรกของกลุ่มประชาชนที่ด้อยโอกาสไปยังเมืองมัชฮัด เพื่อซิยาเราะฮ์ การก่อสร้าง มีกอต อัรริฎอ (สถานที่สำหรับผู้แสวงบุญเพื่อพักผ่อน) บนเส้นทางที่นำไปสู่เมืองมัชฮัด และการดำเนินโครงการช่วยเหลือคนรับใช้ยุวชน เป็นหนึ่งในบริการอื่นๆ [12] อยาตุลลอฮ์ คาเมเนอีได้แต่งตั้งให้ระอีซี เป็นประธานดูแล ออสตอน กุดส์ เพื่อจัดการกิจการของผู้แสวงบุญของฮะรอมอิมามริฎอ การให้บริการผู้ที่อาศัยใกล้เคียง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง บรรดาคนยากจนและขัดสนของฮะรอมราซาวี การส่งเสริมการศึกษาอัลกุรอานและสำนักคิดอะฮ์ลุลบัยต์ในโลกอิสลาม การเรียกร้องผลประโยชน์จากผู้ยากไร้ ตามพื้นที่ต่างๆของอิหร่าน ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองทุนออสตอน กุดส์ และการให้บริการด้านเศรษฐกิจและการบริการต่างๆของออสตอน กุดส์ ราซาวี (13)
การเคลื่อนไหวทางการเมือง
อิบรอฮีม ระอีซี หลังจากการปฏิวัติอิสลามในอิหร่าน เขาเริ่มการเคลื่อนไหวทางกฏหมาย เมื่ออายุได้ 20 ปี กับตำแหน่งผู้พิพากษาเมืองคารัจญ์ และในช่วงเวลาหนึ่ง เขารับผิดชอบในตำแหน่งเป็น อัยการประจำเมืองฮะมะดานอีกด้วย [14] ท่ามกลาง ความรับผิดชอบอื่นๆ ของเขา สามารถที่จะกล่าวถึง ดังต่อไปนี้:
- อัยการกรุงเตหะราน ระหว่างปี 1368 ถึง 1373 [15]
- ประธานองค์การตรวจสอบกลางของประเทศ ระหว่างปี 1373 ถึง 1383 [16]
- รองประธานสภาตุลาการสูงสุด ระหว่างปี 1383 ถึง 1393 [17]
- ผู้แทนประชาชนของจังหวัดคุรอซานใต้ ในสภาผู้ชำนาญการ ตั้งแต่ปี 1385
- อัยการของศาล เฉพาะสำหรับนักการศาสนา ระหว่างปี 1391 ถึง 1400 [18]
- อัยการสูงสุดของประเทศ ตั้งแต่ ปี 1393 ถึง 1394 [19]
- สมาชิกของสภาวิจัยผลประโยชน์แห่งชาติ ตั้งแต่ ปี 1396
- ประธานสภาตุลาการสูงสุด ตั้งแต่ปี 1397[20] ถึง 1400[21]
- ประธานาธิบดีแห่งอิหร่าน ตั้งแต่ ปี 1400 (22)
- เป็นสมาชิกสภากลางของสมัชชานักการศาสนาผู้ต่อสู้ ในปี 1376 ตามคำแนะนำของอยาตุลลอฮ์ มะห์ดะวี คะนี [23]
การสอนหนังสือและผลงานทางวิชาการ
อิบรอฮีม ระอีซี ระหว่างดำรงตำแหน่งผู้ดูแล ออสตอน กุดส์ ในเมืองมัชฮัด เขาได้ทำการสอนบทเรียนนิติศาสตร์ชั้นสูง นอกจากนี้ เขายังสอนตำรานิติศาสตร์ กฏเกณฑ์นิติศาสตร์ กฏหมาย และนิติศาสตร์เศรษฐกิจ ในสถาบันศาสนาเฮาซะฮ์ อิลมียะฮ์ กรุงเตหะราน และมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยอิมามศอดิก (อ.) และมหาวิทยาลัยชะฮีดเบเฮชตี (24)
หนังสือ ตักรีรบทเรียนกฏเกณฑ์นิติศาสตร์ (3 เล่มในหมวดตุลาการ เศรษฐกิจ และภาคอะมั้ลอิบาดะฮ์) มรดกของผู้ที่ไม่มีผู้สืบทอดมรดก ความขัดแย้งระหว่างนิติศาสตร์และกฏหมาย ล้วนเป็นผลงานทางวิชาการของซัยยิดอิบรอฮีม ระอีซี (25) นอกจากนี้ หนังสือต่างๆในหัวข้อ กฏหมาย เศรษฐกิจ นิติศาสตร์ ความยุติธรรมทางสังคม และวิถีชีวิต ยังได้รับการจัดพิมพ์จากเขาอีกด้วย(26)
อุบัติเหตุทางอากาศและเสียชีวิต
เมื่อวันที่ 30 อุรดีเบเฮชต์1403 (19 พฤษภาคม 2024 )เฮลิคอปเตอร์ที่โดยสาร ประธานาธิบดี ซัยยิดอิบรอฮีม ระอีซี ซึ่งเดินทางไปยังจังหวัดอาเซอร์ไบจานตะวันออก เพื่อเปิดโครงการก่อสร้าง ได้ประสบอุบัติเหตุระหว่างทางกลับ ระหว่างวัรซะกอน และ ญุลฟา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน ฮุเซน อะมีรอับดุลลอฮิยอน และ ซัยยิดมุฮัมมัดอะลี อาลิฮาเชม ผู้แทนผู้นำสูงสุดในจังหวัดอาเซอร์ไบจานตะวันออก ก็ร่วมโดยสารในเฮลิคอปเตอร์ลำนี้ด้วย (27) หลังจากการเผยแพร่ข่าวนี้ ประชาชนชาวอิหร่านกลุ่มหนึ่งได้ทำการขอพรจากพระเจ้า ณ สถานที่สาธารณะ และทางศาสนา เช่น ฮะรอมอิมามริฎอ (28) ฮะรอมท่านหญิงมะอ์ศูมะฮ์ (29) และฮะรอมชาห์เชร็อฆ เพื่อขอความปลอดภัยให้กับประธานาธิบดีอิหร่าน (30) และเมื่อวันที่ 31 อุรดีเบเฮชต์ ได้มีการแจ้งข่าวว่า พบซากเฮลิคอปเตอร์ลำที่โดยสารประธานาธิบดีพร้อมคณะร่วมทางของเขาแล้ว และสำนักข่าวต่างๆรายงานถึงการเสียชีวิตของ ซัยยิดอิบรอฮีม ระอีซี พร้อมคณะร่วมทางของเขาทั้งหมด [31]
ส่วนหนึ่งของสาส์นแสดงความเสียใจของผู้นำสูงสุดการปฏิวัติอิสลาม :
ระอีซี ที่เคารพรัก ผู้ที่ไม่รู้จักความเหนื่อยล้า ประชาชาติอิหร่านได้สูญเสียผู้รับใช้อย่างจริงใจ บริสุทธิ์ใจ และทรงคุณค่า ในเหตุการณ์อันน่าสลดใจยิ่งนี้ สำหรับเขาแล้ว สวัสดิภาพและความพึงพอใจของประชาชนบ่งบอกถึงความพึงพอใจของพระผู้เป็นเจ้าที่อยู่เหนือความต้องการในทุกสิ่ง
ฉะนั้น ความรำคาญใจของเขาจากความอกตัญญูและการเหน็บแนมของเหล่าผู้ประสงค์ร้ายบางคน ไม่ได้เป็นอุปสรรคขวางกั้นในการทำงาน ทั้งกลางวันและกลางคืน สำหรับความก้าวหน้าและการปรับปรุงกิจการต่างๆของเขา (32)
ในวรรณกรรมของสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน ผู้ที่เสียชีวิตระหว่างการปฏิบัติภารกิจ ถือเป็นชะฮีด ด้วยเหตุนี้เอง ระอีซี พร้อมคณะผู้ร่วมทางของเขา จึงถูกเรียกว่า ชะฮีดแห่งการรับใช้(33)
ผลสะท้อนและปฏิกิริยาต่างๆ
การอสัญกรรมของระอีซี มีผลสะท้อนและปฏิกิริยาที่แตกต่างกัน ฮะรอมอิมามริฎอ ได้ยกเลิกรายการที่เตรียมไว้สำหรับวันประสูติของอิมามริฎอ (อ.)(34) นอกจากนี้ ยังมีการเปลี่ยนธงสีเขียวของฮะรอม เป็นธงสีดำ (35) นอกจากนี้ ในวันที่ 1 โครดอด (21 พ.ค) ชั้นเรียนทั้งหมดในสถาบันศาสนาของอิหร่านก็ถูกปิด (36) และมีการรวมตัวของบรรดานักการศาสนา ณ โรงเรียนฟัยซีเยห์ (37)
อยาตุลลอฮ์ คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดการปฏิวัติอิสลาม ได้ส่งสาส์นแสดงความเสียใจ ถือว่า ระอีซี เป็นนักวิชาการ มุญาฮิด ผู้ต่อสู้ และการอสัญกรรมของเขาในฐานะเป็นชะฮีด และประกาศไว้อาลัยต่อสาธารณะเป็นเวลาห้าวัน [38] บุคคลสำคัญทางการเมืองและศาสนา รวมถึงสถาบันมัรญิอ์ตักลีด สำนักงานอยาตุลลอฮ์ ซีสตานี นักนิติศาสตร์ ที่อาศัยอยู่ในเมืองนะญัฟ และประธานาธิบดีของประเทศต่างๆ ร่วมแสดงความเสียใจต่อการอสัญกรรมของประธานาธิบดีอิหร่าน โดยรวมแล้ว มีผู้นำและเจ้าหน้าที่ของประเทศต่างๆ มากกว่า 50 คน (38) แสดงความเห็นอกเห็นใจต่อประชาชนและเจ้าหน้าที่ทั้งหลายของอิหร่าน นอกจากนี้ ประเทศเลบานอน ซีเรีย (39) ประกาศไว้อาลัยเป็นเวลา 3 วัน รวมทั้งประเทศไทยด้วย ขณะที่ ประเทศทาจิกิสถาน ประกาศไว้อาลัยเป็นเวลา 2 วัน (40) และประเทศอินเดีย (41) ปากีสถาน (42) ตุรกี (43) และอิรัก ประกาศไว้อาลัยเป็นเวลาหนึ่งวัน ธงของสหประชาชาติและประเทศสมาชิกทั้งหมดขององค์กรนี้ในกรุงเวียนนาก็ถูกลดธงครึ่งเสาเพื่อแสดงความเคารพด้วยเช่นกัน (44)
นอกจากนี้ สมาชิกของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ [45] และสมาชิกของการประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยความมั่นคงทางนิวเคลียร์ในกรุงเวียนนา [46] ได้ยืนสงบนิ่งสักครู่ ในช่วงเริ่มต้นการประชุมเพื่อเป็นการแสดงความเคารพ
พิธีการแห่ศพและการฝังศพ
พิธีการแห่ศพของประธานาธิบดีระอีซี และคณะผู้ติดตาม ผู้ล่วงลับของเขา จัดขึ้นที่ เมืองทาบริซ เมื่อวันที่ 1 เดือนโครดอด 1403 (21 พ.ค. 2024) [47] และเมืองกุม ถูกจัดขึ้น วันที่ 2 โครดอด (22 พ.ค.) อยาตุลลอฮ์ คาเมเนอี ได้ทำการนมาซมัยยิตให้กับบรรดาศพของพวกเขา ณ มหาวิทยาลัยกรุงเตหะราน (48)
พิธีแห่ศพยังมีการจัดขึ้น เมื่อวันที่ 2 โครดอด ณ กรุงเตหะรานโดยมีประชาชนจำนวนมากมายเข้าร่วมด้วย [49] นอกจากนี้ พิธีไว้อาลัยสำหรับบุคคลสำคัญทางการเมืองและศาสนาของประเทศต่างๆ ยังจัดขึ้นในช่วงเย็นของวันนี้ ณ หอประชุมสุดยอด โดยมีผู้นำรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ 90 คนเข้าร่วมในพิธีนี้ (50)
พิธีแห่ศพ ยังมีการจัดขึ้น ณ เมืองบิรจานด์และเมืองมัชฮัด ในวันที่ 3 โครดอด จากนั้น ร่างของเขาจึงนำมาฝังไว้ใน ฮะรอมของอิมามริฎอ (อ.) (51)