ข้ามไปเนื้อหา

การแต่งงานชั่วคราว

จาก wikishia

การแต่งงานชั่วคราวหรือมุตอะฮ์ (ภาษาอาหรับ : زواج المتعة) หมายถึง การแต่งงานในช่วงเวลาหนึ่งและไม่ถาวร บรรดามุสลิมต่างเห็นด้วยว่า การแต่งงานประเภทนี้ได้รับอนุญาตในยุคสมัยของศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) ตามทัศนะของอะฮ์ลิสซุนนะฮ์ ซัยดียะฮ์ อิสมาอีลียะฮ์ และอะบาฎียะฮ์ เห็นว่า กฎเกณฑ์ความถูกต้องตามหลักศาสนบัญญัติของการแต่งงานชั่วคราวได้ถูกยกเลิกในสมัยของศาสดา และการแต่งงานประเภทนี้ได้ถูกห้าม แต่ทว่า อิมามียะฮ์ เชื่อว่า ศาสดาไม่เคยยกเลิกกฎเกณฑ์นี้ และถือเป็นการปฏิบัติที่ได้รับอนุญาตในสมัยของเขาและในสมัยของการเป็นเคาลีฟะฮ์ของอะบูบักร์

ตามรายงานบางส่วนที่รายงานในแหล่งข้อมูลอะฮ์ลิสซุนนะฮ์ เช่นกัน เขียนว่า อุมัร อิบนุล ค็อฏฏ็อบเป็นคนแรกที่ประกาศว่า เป็นที่ต้องห้ามของการแต่งงานประเภทนี้ ขณะที่บรรดานักนิติศาสตร์อิมามียะฮ์ได้ออกคำฟัตวาเกี่ยวกับความถูกต้องตามศาสนบัญญัติของการแต่งงานชั่วคราว โดยอ้างอิงจากโองการมุตอะฮ์และริวายะฮ์ต่างๆของศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) และบรรดาอิมาม (อ.) และได้อธิบายหลักปฏิบัติของมันอีกด้วย

ตามหลักฉันทามติของนักนิติศาสตร์ชีอะฮ์ ระบุว่า ในการแต่งงานชั่วคราว จะต้องกำหนดระยะเวลาของการแต่งงานและจำนวนของสินสอด ซึ่งในการแต่งงานชั่วคราวนั้น ไม่เหมือนการแต่งงานแบบถาวร ไม่มีการหย่าร้าง แต่การแยกทางจะเกิดขึ้นเมื่อระยะเวลาของการแต่งงานสิ้นสุดลงหรือชายคนหนึ่งมอบระยะเวลาให้ฝ่ายหญิง หลังจากระยะเวลาของการแต่งงานสิ้นสุดลงหรือชายคนหนึ่งมอบระยะเวลาให้ฝ่ายหญิง หากมีการมีเพศสัมพันธ์เกิดขึ้นแล้ว ฝ่ายหญิงจะต้องปฏิบัติตามระยะเวลาสองรอบเดือน

ความหมายและสถานภาพ

การแต่งงานชั่วคราว หมายถึง การอ่านอักด์การแต่งงานในระยะเวลาหนึ่ง (ไม่ถาวร) [๑] การแต่งงานชั่วคราว เป็นเรื่องที่มีข้อพิพาทระหว่างมัซฮับชีอะฮ์และอะฮ์ลิสซุนนะฮ์ [๒] นักนิติศาสตร์ชีอะฮ์ทุกคน ถือว่า การแต่งงานประเภทนี้ เป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องตามหลักศาสนบัญญัติ [๓] พวกเขาได้หารือถึงอะฮ์กามในบทหลักปฏิบัติเกี่ยวกับการแต่งงาน [๔]

ในริวายยะฮ์ต่างๆที่รายงานจากบรรดาอิมามของชีอะฮ์ (อ.) มีผลรางวัลสำหรับการปฏิบัติการแต่งงานชั่วคราว [๕] แน่นอนว่า มีริวายะฮ์บางส่วนระบุว่า พวกเจ้าไม่ควรยืนกรานเรื่องการแต่งงานชั่วคราว [๖] จากริวายะฮ์ต่างๆ บรรดานักนิติศาสตร์อิมามียะฮ์ไม่เพียงแต่ได้ออกคำฟัตวาว่า การแต่งงานชั่วคราวได้รับอนุญาตเท่านั้น แต่ยังถือว่า การปฏิบัตินี้เป็นการกระทำที่เป็นมุสตะฮับ อีกด้วย [๗] แน่นอนว่า มุรตะฎอ มุเฏาะฮ์ฮะรี เชื่อว่า การเน้นย้ำและให้กำลังใจในประเด็นนี้ คือ การฟื้นฟูจารีตที่ถูกละทิ้ง ไม่ใช่เพื่อการส่งเสริมความใคร่และ... [๘] เกี่ยวกับประโยชน์ของการแต่งงานชั่วคราว พวกเขากล่าวว่า เป็นทางออกสำหรับปัญหาทางเพศอย่างมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเยาวชนคนหนุ่มสาวและผู้ที่ไม่สามารถแต่งงานแบบถาวรได้ด้วยเหตุผลใดก็ตาม [๙] นอกจากนี้ยังถือเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการต่อสู้กับการค้าประเวณีและความชั่วร้ายทางสังคมอื่นๆ อีกด้วย [๑๐]

ประมวลกฎหมายแพ่งของสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านยังยอมรับการแต่งงานชั่วคราว และบทที่ ๖ ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ [๑๑]

ทัศนะของสำนักคิดอิสลามเกี่ยวกับการแต่งงานชั่วคราว

บรรดานักวิชาการมุสลิมมีความเห็นไม่ตรงกันเกี่ยวกับความชอบธรรมตามศาสนบัญญัติของการแต่งงานชั่วคราว ชีอะฮ์อิมามียะห์ถือว่า การแต่งงานชั่วคราวเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามหลักศาสนบัญญัติ แต่สำนักคิดอื่นๆ เช่น อะฮ์ลิสซุนนะฮ์ [๑๒] ซัยดียะฮ์ [๑๓] อิสมาอีลียะฮ์ [๑๔] และอะบาฎียะฮ์ [๑๕] ไม่ถือว่า การแต่งงานชั่วคราวเป็นสิ่งที่ได้รับอนุญาต

ชะฮีดษานี กล่าวว่า นักนิติศาสตร์อิมามียะฮ์ทุกคนถือว่า การแต่งงานชั่วคราวเป็นสิ่งที่อนุญาตให้กระทำได้ [๑๖] เพื่อพิสูจน์ความถูกต้องตามหลักศาสนบัญญัติของการแต่งงานชั่วคราว พวกเขาจึงอ้างอิงโองการจากอัลกุรอาน รวมถึงโองการมุตอะฮ์ [๑๗] นอกจากนี้ พวกเขายังกล่าวอีกว่า มีการริวายะฮ์จำนวนมากมายจากศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) และบรรดาอิมามของชีอะฮ์ ที่ยืนยันความถูกต้องตามศาสนบัญญัติของการแต่งงานชั่วคราว [๑๘] มัซฮับและสำนักคิดอิสลามอื่นๆ ก็เชื่อว่า การแต่งงานชั่วคราวเป็นสิ่งที่อนุญาตให้กระทำได้ในยุคสมัยของศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) แต่แล้วหลังจากนั้น กฎเกณฑ์ของมันก็ถูกยกเลิกและเป็นที่ต้องห้าม [๑๙]

กฎเกณฑ์เรื่องการแต่งงานชั่วคราวถูกยกเลิกไปแล้วใช่หรือไม่ ?

บรรดานักวิชาการมุสลิมมีมติเอกฉันท์ว่า การแต่งงานชั่วคราวได้รับอนุญาตให้กระทำในยุคสมัยของศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) [๒๐] ในบางแหล่งข้อมูลด้านฮะดีษของอะฮ์ลิสซุนนะฮ์ มีการอ้างคำพูดของอุมัร อิบนุล ค็อฏฏอบ เคาะลีฟะฮ์ที่สอง ซึ่งระบุว่า การแต่งงานชั่วคราวได้รับอนุญาตให้กระทำในยุคสมัยของศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) และตัวเขาเองก็สั่งต้องห้ามด้วย [๒๑] ในระหว่างนั้น มีคำกล่าวของเขา ที่ระบุว่า มุตอะฮ์ทั้งสองประเภทได้รับอนุญาตให้กระทำในยุคสมัยของศาสดาอิสลาม แต่ฉันได้สั่งห้ามพวกเขาและลงโทษผู้ที่ปฏิบัติเช่นนี้ ประเภทหนึ่ง คือ การแต่งงานชั่วคราว (มุตอะฮ์) และอีกประเภทหนึ่ง คือ การแต่งงานชั่วคราวในพิธีฮัจญ์ [๒๒] จากคำกล่าวเหล่านี้ บรรดาอิมามียะฮ์ เชื่อว่า การแต่งงานชั่วคราวนั้นถูกยกเลิกและต้องห้ามโดย อุมัร อิบนุล ค็อตต็อบ เป็นครั้งแรก [๒๓] และถือว่า การกระทำของเขาเป็นอุตริกรรมใหม่ในศาสนาและเป็นการอิจญ์ติฮาดในทางตรงกันข้ามกับนัศ และการต่อต้านศาสนบัญญัติของศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) [๒๔] อัสเกาะลานี (๗๗๓–๘๕๒ ฮ.ศ.) หนึ่งในนักวิชาการอะฮ์ลิสซุนนะฮ์ ได้กล่าวไว้ว่า การแต่งงานชั่วคราวได้รับอนุญาตให้กระทำได้ในยุคสมัยของศาสดา และหลังจากนั้นก็ได้รับอนุญาตและเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติตลอดช่วงเวลาของการเป็นเคาะลีฟะฮ์ของอะบูบักร์และส่วนหนึ่งของการเป็นเคาะลีฟะฮ์ของอุมัร อิบนุล ค็อฏฏ็อบ แต่ในที่สุด ช่วงบั้นปลายการมีชีวิตของอุมัร เขาประกาศว่า การแต่งงงานชั่วคราวเป็นที่ต้องห้าม (๒๕ )

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการอะฮ์ลิสซุนนะฮ์ส่วนใหญ่ได้อ้างถึงริวายะฮ์บางส่วนในแหล่งข้อมูลด้านฮะดีษ [๒๖] และพวกเขากล่าวว่า กฎเกณฑ์เกี่ยวกับการแต่งงานชั่วคราวนั้นถูกยกเลิกในยุคสมัยของศาสดามุฮัมมัดและโดยเขา [๒๗] กลุ่มของพวกเขายังเชื่ออีกด้วยว่า กฎเกณฑ์เกี่ยวกับการแต่งงานชั่วคราวนั้นถูกยกเลิกในสมัยของศาสดาพร้อมกับการประทานลงมาของโองการต่างๆ เช่น โองการที่ ๕ ถึง ๗ ของซูเราะฮ์อัลมุอ์มินูน [๒๘] พวกเขาเชื่อว่า ตามโองการเหล่านี้ ผู้ศรัทธา คือ บุคคลที่บริสุทธิ์ซึ่งไม่แสวงหาความสุขกับใครอื่น นอกจากภรรยาหรือทาสสาวของตน และผู้ที่แสวงหาความสุขทางเพศในรูปแบบอื่นๆ ได้ละเมิดข้อจำกัดของพระเจ้า การแต่งงานชั่วคราว ไม่ใช่หนึ่งในสองกรณีนี้ (ภรรยาและทาสสาว) ดังนั้น จึงถือเป็นการละเมิดข้อจำกัดของพระเจ้า [๒๙]

ในคำตอบของคำกล่าวนี้ พวกเขาได้กล่าวว่า โองการที่ ๕ ถึง ๗ ของซูเราะฮ์อัลมุอ์มินูนถูกประทานลงมาในมักกะห์ และโองการมุตอะฮ์ ซึ่งพวกเขาอ้างถึงเพื่อให้แต่งงานชั่วคราวได้รับอนุญาตให้กระทำ ถูกประทานลงมา หลังจากโองการเหล่านี้และในเมืองมะดีนะฮ์ และสิ่งที่ยกเลิกไม่ควรอยู่ก่อนหน้าสิ่งที่ถูกยกเลิก [๓๐] นอกจากนี้ ในการแต่งงานชั่วคราว ผู้หญิง ถือเป็นภรรยาที่ถูกต้องตามหลักศาสนบัญญัติของผู้ชายในช่วงเวลาที่ทั้งสองได้กำหนด ดังนั้น ความสัมพันธ์ในการสมรสของพวกเขา จึงไม่ถือเป็นการละเมิดข้อจำกัดของพระเจ้า [๓๑]

หลักอะฮ์กาม

วิธีการอ่านอักด์สำหรับการแต่งงานชั่วคราว :

ผู้หญิง กล่าวว่า : เซาวัจตุกะ นัฟซี อะลัล มะฮ์ริลมะอ์ลูม ฟิลมุดดะติลมะอ์ลูมะฮ์ (ฉันได้แต่งงานกับคุณโดยมีสินสอดตามกำหนด เป็นระยะเวลาที่กำหนด

ผู้ชาย กล่าวว่า : เกาะบิลตุ อัตตัซวีญะ อะลัล มะฮ์ริลมะอ์ลูม ฟิลมุดดะติลมะอ์ลูมะฮ์ (ฉันยอมรับการแต่งงานโดยมีสินสอดตามกำหนด เป็นระยะเวลาที่กำหนด [๓๒]

หลักอะฮ์กามบางประการเกี่ยวกับการแต่งงานชั่วคราวตามคำฟัตวาของนักนิติศาสตร์ของชีอะฮ์ มีรายละเอียด ดังต่อไปนี้ :

ในการแต่งงานชั่วคราว ระยะเวลาของการแต่งงานและจำนวนสินสอด จะต้องมีการกำหนดไว้ในการอ่านอักด์ [๓๓] ตามทัศนะที่รู้จักกันดีของบรรดานักนิติศาสตร์ หากระยะเวลาไม่ได้กำหนดในการอ่านอักด์การแต่งงานชั่วคราว การอ่านอักด์นั้น จะกลายเป็นการอ่านอักด์แบบถาวร [๓๔]

ตามทัศนะของนักนิติศาสตร์บางคน หากทั้งสองฝ่าย ไม่สามารถอ่านอักด์เป็นภาษาอาหรับได้ ถึงแม้ว่าพวกเขามีความสามารถที่จะแต่งตั้งบุคคลอื่นสำหรับการอ่านอักด์ก็ตาม ก็อนุญาตให้ทั้งสองฝ่ายอ่านอักด์เป็นภาษาอื่นได้ [๓๕] บางคนอื่นๆ กล่าวว่า ไม่ว่าในกรณีใดก็ตาม สามารถที่จะอ่านอักด์ในทุกภาษาได้ [๓๖]

การแต่งงานชั่วคราวระหว่างผู้ชายมุสลิมกับผู้หญิงจากชาวคัมภีร์นั้นถือว่า ถูกต้อง [๓๗] แต่ไม่ถูกต้องระหว่างผู้หญิงมุสลิมกับชายจากชาวคัมภีร์ [๓๘] นอกจากนี้ การแต่งงานชั่วคราวระหว่างผู้ชายหรือผู้หญิงมุสลิมกับคนที่ไม่ใช่มุสลิม ซึ่งไม่ใช่ชาวคัมภีร์ ถือเป็นสิ่งที่ต้องห้าม [๓๙]

การแต่งงานชั่วคราวกับหญิงสาวพรหมจารี เป็นสิ่งที่ไม่ชอบ(มักรูฮ์) และหากมีการแต่งงานเป็นรูปแบบหนึ่งของการทำให้พรหมจารีขาดหายไป ถือเป็นสิ่งที่มักรูฮ์ [๔๐]

ในการแต่งงานชั่วคราว หากมีการมีเพศสัมพันธ์ หลังจากช่วงเวลาการแต่งงานสิ้นสุดลง ผู้หญิงจะต้องปฏิบัติตามระยะเวลารอคอย หากผู้หญิงไม่ได้หมดประจำเดือน ระยะเวลารอคอยสำหรับผู้หญิงในการแต่งงานชั่วคราว คือ การมีรอบเดือน หากผู้หญิงไม่มีประจำเดือน (หากเธออยู่ในวัยที่มีประจำเดือนและไม่ได้มีประจำเดือน) คือ ๔๕ วัน และหากผู้หญิงมีประจำเดือน ตามความเห็นของนักนิติศาสตร์บางคน ระยะเวลารอคอยของเธอ คือ 2 รอบเดือน [๔๑]

หากในช่วงเวลาการอ่านอักด์การแต่งงานสิ้นสุดลง ก่อนที่จะมีเพศสัมพันธ์หรือชายคนนั้นมอบระยะเวลาให้ฝ่ายหญิง ผู้หญิงไม่จำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตามระยะเวลารอคอย [๔๒]

หากผู้ชายเสียชีวิตระหว่างการสมรสแบบชั่วคราว ถึงแม้ว่า จะยังไม่ได้มีเพศสัมพันธ์กันก็ตาม ผู้หญิงจะต้องปฏิบัติตามระยะเวลารอคอยความตาย ซึ่งกล่าวคือ สี่เดือนสิบวัน [๔๓]

การสมรสแบบชั่วคราว ไม่มีการหย่าร้าง แต่การแยกทางจะเกิดขึ้นเมื่อระยะเวลาสัญญาสิ้นสุดลงหรือผู้ชายมอบระยะเวลาดังกล่าวให้ฝ่ายหญิง [๔๔]

แหล่งอ้างอิง

บรรดานักวิชาการอิมามียะฮ์ ได้เขียนหนังสือและบทความเกี่ยวกับการแต่งงานชั่วคราวอย่างมากมาย นัจญ์มุดดีน เฏาะบะซี หนึ่งในคณะอาจารย์สถาบันศาสนาเมืองกุม ได้เขียนหนังสือที่ได้รับการแปลในหัวข้อ การแต่งงานชั่วคราวในพฤติกรรมและคำพูดของเศาะฮาบะฮ์ ในส่วนบรรณานุกรมของหนังสือเล่มนี้ มีการแนะนำผลงาน ๔๖ ชิ้นของนักวิชาการด้านอิมามียะฮ์ที่เขียนเกี่ยวกับการแต่งงานชั่วคราวและความชอบธรรมตามศาสนบัญญัติของการแต่งงานชั่วคราว [๔๕] ผลงานบางส่วน ได้แก่ :

คุลาเศาะตุลอีญาซ ฟิลมุตอะฮ์ : หนังสือเล่มนี้ ประกอบด้วย ๔ บทที่ตรวจสอบและอธิบายประเด็นของความชอบธรรมตามศาสนบัญญัติ ความสูงส่ง คุณภาพ และหลักอะฮ์กามเกี่ยวกับการแต่งงานชั่วคราว และการอภิปรายที่กระจัดกระจายเกี่ยวกับเรื่องนี้ [๔๖] บางคนได้ระบุว่า ผลงานนี้เป็นผลงานของเชคมูฟีด [๔๗] บางคนถือว่า เป็นผลงานของชะฮีด เอาวัล [๔๘] และบางคน ถือเป็นผลงานของมูฮักกิก อัลกะเราะกี [๔๙]

ซิวาญุลมุตอะฮ์ : เขียนโดย ซัยยิดญะอ์ฟัร มุรตะฎอ อามิลี ใน ๓ เล่ม ในผลงานนี้ ผู้เขียนได้เขียนเกี่ยวกับความชอบธรรมตามหลักศาสนบัญญัติและหลักอะฮ์กามบางประการเกี่ยวกับการแต่งงานชั่วคราว และยังกล่าววิพากษ์วิจารณ์และการตรวจสอบทัศนะของบรรดานักวิชาการอะฮ์ลิสซุนนะฮ์ เกี่ยวกับการห้ามการแต่งงานชั่วคราว อีกด้วย [๕๐]

อัซซิวาญ อัลมุวักก็อต ฟิลอิสลาม : เขียนโดย ซัยยิดมุรตะฎอ อัสกะรี ในผลงานนี้ ผู้เขียนได้ตรวจสอบความชอบธรรมตามหลักศาสนบัญญัติของการแต่งงานชั่วคราวในอัลกุรอานและซุนนะฮ์ โดยคำนึงถึงทัศนะต่างๆของบรรดานักวิชาการทั้งชีอะฮ์และอะฮ์ลิสซุนนะฮ์ [๕๑]