การวายชนม์ (วะฟาต) ของศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ)
การวายชนม์ (วะฟาต) ของศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) (ภาษาอาหรับ: وفاة النبي ) เป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี ๑๑ แห่งฮิจเราะฮ์ศักราช ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ชาวมุสลิมเกิดความแตกแยกกันและปัญหานี้ยังส่งผลกระทบอย่างมากต่อชะตากรรมของพวกเขา การกล่าวถึงประเด็นการวายชนม์ หรือการเป็นชะฮีดของท่านศาสดา อีกทั้งผลสะท้อนที่จะตามมา ถือเป็นหนึ่งในประเด็นที่สำคัญของประวัติศาสตร์อิสลาม อีกด้วยเช่นกัน มีริวายะฮ์ต่างๆจากแหล่งข้อมูลทางสายฮะดีษของชีอะฮ์และอะฮ์ลิสซุนนะฮ์ ได้รายงานว่า ศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) ได้ถูกวางยาพิษโดยหญิงชาวยิว และท่านเป็นชะฮีด แต่บางคนเชื่อว่า ท่านศาสดาเสียชีวิตโดยธรรมชาติ ซัยยิดญะอ์ฟัร มุรตะฎอ อามิลี นักวิชาการและนักวิจัยประวัติศาสตร์อิสลามกล่าวว่า ท่านศาสนทูตของพระเจ้า ถูกลอบสังหารหลายครั้ง และท่านได้เสียชีวิต เนื่องจากการถูกลอบวางยาพิษ
ในแหล่งข้อมูลทางประวัติศาสตร์ มีรายงานถึงเหตุการณ์ต่างๆที่สำคัญในช่วงวาระสุดท้ายของการดำเนินชีวิตของศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) :
เหตุการณ์กองทัพของอุซามะฮ์ เหตุการณ์น้ำหมึกและปากกา การรายงานฮะดีษอัษษะเกาะลัยน์ และการกำหนดตำแหน่งผู้สืบทอดของศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ)
ตามรายงานจากแหล่งข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ระบุว่า หลังจากการวายชนม์ของศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) ประชาชนชาวเมืองมะดีนะฮ์ โดยเฉพาะ ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (ซ.) บุตรสาวของเขา รู้สึกมีความเศร้าใจเป็นอย่างมาก อุมัร บิน ค็อฏฏ็อบ ได้ยืนยันว่า ท่านศาสดายังไม่เสียชีวิตและเขาข่มขู่ว่า จะสังหารผู้ที่กล่าวว่า ท่านศาสดาเสียชีวิตแล้ว จนกระทั่งอะบูบักร์ได้เข้ามาถึงและทำให้เขานิ่งสงบลง ด้วยการอ่านอายะฮ์ที่ ๑๔๔ จากซูเราะฮ์อาลิอิมรอน
บางคนถือว่า การกระทำของอุมัร เป็นแผนการล่วงหน้าในการนำอะบูบักร์ขึ้นสู่อำนาจ
ตามรายงานของบรรดานักประวัติศาสตร์ กล่าวไว้ด้วยว่า อิมามอะลี (อ.) ด้วยความช่วยเหลือจากบุคคลต่างๆ เช่น ฟัฎล์ บิน อับบาส และอุซามะฮ์ บิน ซัยด์ ได้จัดเตรียมการฝังศพของศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) และ ฝังไว้ในบ้านของเขา ในช่วงเวลาแห่งการฝังศพของศาสดา เหล่าแกนนำบางคนของกลุ่มอันศอรและชาวมุฮาญิรีนได้รวมตัวกัน ณ ซะกีฟะฮ์ของบะนีซะอีดะฮ์ และได้แต่งตั้ง อะบูบักร์ ขึ้นเป็นผู้สืบทอดของศาสดา ซึ่งขัดต่อคำสั่งเสียของศาสนทูตของพระเจ้า
การวายชนม์หรือการเป็นชะฮีด(มรณสักขี)ของท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) เกิดขึ้นใน วันที่ ๒๘ เดือนศอฟัร ตามรายงานที่เป็นที่รู้จักของชีอะฮ์ และในวันที่ ๑๒ เดือนเราะบีอุลเอาวัล ตามรายงานของอะฮ์ลิสซุนนะฮ์
สถานภาพ
ศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) ได้วายชนม์ ในปีที่ ๑๑ ฮ.ศ. [๑] และในเมืองมะดีนะฮ์ [๒] นักประวัติศาสตร์ทุกคนต่างเห็นพ้องกันว่า ศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) ได้วายชนม์ในวันจันทร์ (๓) ในบรรดาชีอะฮ์ เชคมุฟีดและเชคฏูซี ถือว่า วันที่ ๒๘ ศอฟัร เป็นวันที่ศาสดาแห่งอิสลามได้วายชนม์ [๔] และเชคอับบาส กุมมี ถือว่า นี่เป็นความคิดเห็นของบรรดานักวิชาการส่วนใหญ่ของชีอะฮ์ (๕) เราะซูล ญะอ์ฟะรียอน นักประวัติศาสตร์ชีอะฮ์ กล่าวว่า ไม่มีริวายะฮ์ที่รายงานเกี่ยวกับวันนี้เลย (๖) และบรรดาชีอะฮ์ก็ยอมรับในวันนี้ เนื่องจากพวกเขาได้ปฏิบัติตามเชคมุฟีดและเชคฏูซี [๗]
พิธีไว้อาลัยต่อการวายชนม์ของศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) ณ. ฮะรอมของอิมามอะลี (อ.) (เมื่อวันที่ ๒๘ ศอฟัร ๑๔๔๕ ฮ.ศ. ) [๘]
อะฮ์ลิสซุนนะฮ์ ได้รายงานถึงการวายชนม์ของศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) ในเดือนเราะบีอุลเอาวัล และในวันที่หนึ่ง (๙) วันที่สอง [ ๑๐] และกลุ่มหนึ่งกล่าวว่า วันที่สิบสองของเดือนนี้ (๑๑) และบางคนถือว่า คำกล่าวนี้ เป็นคำกล่าวที่ถูกรู้จักของอะฮ์ลิสซุนนะฮ์ (๑๒) อิรบิลี นักเขียนมะนากิบของชีอะฮ์ เขียนในหนังสือ กัชฟุลฆุมมะฮ์ รายงานฮะดีษจากอิมามบากิร (อ.) ว่า วันที่ศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) เป็นวันวะฟาต คือ วันที่สอง เดือนเราะบีอุลเอาวัล (๑๓ )แต่ทว่า เชคอับบาส กุมมี ได้ถือว่า เป็นการตะกียะฮ์ [๑๔] ดังที่นักวิชาการชีอะฮ์สองคน กล่าวคือ กุลัยนีย์ และมุฮัมมัด บิน ญะรีร เฏาะบะรี ได้ถือว่า เหตุการณ์การวายชนม์ของศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) เกิดขึ้นในวันที่ ๑๒ เราะบีอุลเอาวัล [๑๕]
แหล่งข้อมูลต่างๆ เช่น อัซซีเราะฮ์ อันนะบีวียะฮ์ เขียนโดย อิบนุ ฮิชาม (เสียชีวิต ๒๑๘ ฮ.ศ. ) [๑๖] อัฏเฏาะบะก็อต อัลกุบรอ เขียนโดย มุฮัมมัด บิน ซะอัด (เสียชีวิต ๒๓๐ ฮ.ศ. ) [๑๗] ตารีค ยะอ์กูบี เขียนโดย อะห์หมัด บิน อะบียะอ์กูบ ( เสียชีวิต ๒๘๔ ฮ.ศ. ) [๑๘] อัลอิรชาด เขียนโดย เชคมุฟีด (เสียชีวิต ๔๑๓ ฮ.ศ. ) [๑๙]และอัศเศาะฮีห์ มิน ซีเราะตุนนะบี อัลอะอ์ซอม เขียนโดย ญะอ์ฟัร มุรตะฎอ อามิลี (เสียชีวิต ๑๔๔๑ ฮ.ศ. ) รวมถึงประเด็นต่างๆที่เกี่ยวกับการวายชนม์ของศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) [๒๐]
ผลสะท้อนที่ตามมาหลังจากการวายชนม์ของศาสดามุฮัมมัด
เหตุการณ์นี้ ถือว่า มีผลกระทบอย่างชัดเจนและมีความสำคัญต่อชะตากรรมของชาวมุสลิมทั้งหลาย (๒๑) ทันทีหลังจากการวายชนม์ของศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) กลุ่มหนึ่งจากชาวมุฮาญิรีน และชาวอันศอร ได้มารวมตัวกัน ณ ซะกีฟะฮ์ บะนีซาอิดะฮ์ และได้เลือกอบูบักร์ ขึ้นเป็นเคาะลีฟะฮ์ [๒๒] นอกจากนี้ เหล่าผู้สนับสนุนเคาะลีฟะฮ์ ได้โจมตีบ้านของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ บุตรสาวของท่านศาสดา เพื่อเอาคำสัตยาบันจากท่านอะลี (๒๓) ในการโจมตีครั้งนี้ ทำให้ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ ได้รับความบาดเจ็บ [๒๔] ซึ่งตามความเชื่อของบรรดาชีอะฮ์ ทำให้ท่านหญิงเป็นชะฮีด (๒๕) ตามความเชื่อของบรรดาชีอะฮ์ กล่าวไว้ว่า หลังจากการวายชนม์ของศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) คำสั่งเสียของท่านศาสดาเกี่ยวกับการสืบทอดตำแหน่งของอิมามอะลี (อ.)ไม่ได้ถูกนำมาปฏิบัติ[๒๖] และข้อพิพาทเรื่องการสืบทอดตำแหน่งของเขา กลายเป็นความขัดแย้งอย่างลึกซึ้งในสังคมอิสลาม และเป็นการวางรากฐานสำหรับการเกิดสองนิกายอันยิ่งใหญ่ กล่าวคือ ชีอะฮ์และอะฮ์ลิสซุนนะฮ์ [๒๗]
ในประเทศต่างๆ ของโลก เนื่องในวันครบรอบการวายชนม์ของศาสนทูตของพระเจ้า (ศ็อลฯ) จะมีการจัดพิธีไว้อาลัย [๒๘]ในอิหร่าน ในวันที่ ๒๘ ศอฟัร เป็นวันหยุดราชการ ซึ่งเป็นวันครบรอบการวายชนม์ของท่านศาสดา และบรรดาชีอะฮ์ได้ร่วมกันไว้อาลัยแด่ท่านศาสดาในวโรกาสนี้ [๒๙]
เหตุการณ์การลอบวางพิษศาสดา
มีรายงานอยู่สองประเภท ที่รายงานว่า ท่านศาสดาได้เสียชีวิตตามธรรมชาติหรือเขาถูกลอบวางยาพิษ [๓๐] บางคนเชื่อว่า การวายชนม์ของศาสนทูตของพระเจ้า มีสาเหตุมาจากปัจจัยทางธรรมชาติ [๓๑] แต่ในหนังสืออัล-กาฟีย์ ได้รายงานฮะดีษจากอิมามศอดิก (อ.) [๓๒] หนังสือบะศออิรุดดะเราะญาต เป็นหนังสือสายฮะดีษของชีอะฮ์ [๓๓] และในหนังสือเฏาะบะกอต อิบนุซะอัด เป็นหนังสือประวัติศาสตร์ในศตวรรษที่ ๓ แห่งฮิจเราะฮ์ศักราช มีรายงานว่า ท่านศาสดามีอาการเจ็บป่วยในช่วงบั้นปลายชีวิต อันเป็นผลมาจากการรับประทานเนื้อแกะที่อาบยาพิษ หลังจากการพิชิตค็อยบัร ซึ่งหญิงชาวยิวคนหนึ่งได้นำมันมาให้ท่านศาสดาและบรรดาเศาะฮาบะฮ์ของเขา (๓๔)
เชคมุฟีด (๓๕) เชคฏูซี (๓๖) อัลลามะฮ์ฮิลลี (๓๗) และบรรดานักเขียนบางส่วนของแหล่งข้อมูลของอะฮ์ลิสซุนนะฮ์ เช่น เศาะฮีห์อัลบุคอรี (๓๘) ซุนันอัดดาเราะมี (๓๙) และอัลมุสตัดร็อก อะลัศเศาะฮีฮัยน์ (๔๐) ได้กล่าวรายงานถึงการวายชนม์ของท่านศาสดา (ศ็อลฯ) เนื่องด้วยการวางยาพิษ ญะอ์ฟัร มุรตะฎอ อามิลี นักประวัติศาสตร์ชีอะฮ์ ได้รวบรวมรายงานต่างๆที่มาจากแหล่งข้อมูลของชีอะฮ์และอะฮ์ลิสซุนนะฮ์ เกี่ยวกับความพยายามในการลอบสังหาร (๔๑) และเขาเชื่อว่า เป็นการวางยาพิษและการเป็นชะฮีดของท่านศาสดา (๔๒) เขาถือว่า ศัตรูภายในบางคนเป็นสาเหตุของการลอบวางยาพิษของท่านศาสดา (๔๓) ดังที่กล่าวไว้ในหนังสือตัฟซีร อัยยาชี รายงานจากอิมามศอดิก (อ.) กล่าวว่า ภรรยาทั้งสองคนของท่านศาสดา เป็นปัจจัยหลักในการลอบวางยาพิษของท่านศาสดา (๔๔)
เหตุการณ์ละดูด
เหตุการณ์ละดูด ซึ่งบางคนถือว่า เป็นเหตุการณ์ที่ถูกกุขึ้นมา (๔๕) และบางส่วนถือว่า เป็นความเชื่อที่งมงาย (๔๖) เป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่ทำให้ศาสดามีอาการเจ็บป่วยด้วยเช่นกัน ในเศาะฮีห์อัลบุคอรีและเฏาะบะกอต อิบนุ ซะอัด รายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮ์ ว่า ในวาระสุดท้ายของชีวิตของท่านศาสดา เมื่อเขากำลังจะเสียชีวิตเนื่องจากอาการป่วยอย่างหนัก พวกเขาก็เท ละดูด (ยารสขมสำหรับผู้ป่วยโรคปอดบวม) เข้าไปในปากของท่านศาสดา แต่ศาสดาได้ชี้ว่า พวกเขาไม่ควรที่กระทำเช่นนี้ เมื่อท่านศาสดามีอาการดีขึ้น ท่านจึงสั่งให้เทยาเข้าไปในปากของทุกคนที่อยู่ในที่ประชุม ยกเว้น อับบาส ลุงของท่าน (๔๗)นัจญ์มี นักวิจัยชีอะฮ์ ได้เสนอแนะว่า ผู้ปลอมแปลงฮะดีษนี้กำลังหาทางเพื่อยืนยันการกระทำของอุมัร อิบนุ ค็อฏฏ็อบ ในเหตุการณ์น้ำหมึกและปากกา ซึ่งมีผู้กล่าวหา ท่านศาสดา เป็นคนเพ้อเจ้อ (๔๘)
การฝังศพศาสดา
อิบนุ ซะอัด รายงานว่า หลังจากการวายชนม์ของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ศ็อลลัลลอฮฺ) ผู้คนต่างเศร้าโศกเสียใจเป็นอย่างมาก (๔๙) ฟาฏิมะฮ์ (ซ.) บุตรสาวของเขาก็ร้องไห้ด้วยเสียงร้องที่ว่า โอ้พ่อจ๋า และหลังจากการวายชนม์ของท่านศาสดา จะไม่มีใครเห็นท่านหญิงยิ้มอีกเลย [๕๐] ในนะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ อิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า หลังจากการวายชนม์ของท่านศาสนทูตของพระเจ้า (ศ็อลฯ) ประตูและผนังก็ร่ำไห้ ขณะที่ฉันกำลังทำฆุซุลมัยยิตให้เขา บรรดามะลาอิกะฮ์ได้ช่วยเหลือฉันและทำนมาซให้เขา และฉันได้ยินเสียงอันแผ่วเบาของพวกเขาในนมาซของพวกเขา (๕๑)
ตามรายงานจากแหล่งข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ระบุว่า ศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) เสียชีวิตในอ้อมแขนของท่านอะลี (อ.) (๕๒) และเขาได้ทำฆุซุลมัยยิตให้ศาสดา (ศ็อลฯ) ด้วยความช่วยเหลือของ ฟัฎล์ บิน อับบาส และอุซามะฮ์ บิน ซัยด์ และบุคคลอื่น ๆ บนเสื้อผ้าของเขาและห่อผ้ากะฝั่น (๕๓) ตามคำแนะนำของท่านอะลี (อ.) (๕๔) ประชาชนเป็นกลุ่มๆได้เข้าไปในบ้านของท่านศาสดาและนมาซให้ท่านศาสดาโดยที่ไม่ได้ปฏิบัติตามผู้ใดเลยและโปรแกรมนี้ยังคงดำเนินต่อไป จนถึงวันรุ่งขึ้น (๕๕) บนพื้นฐานของบางริวายะฮ์ รายงานว่า สถานที่ฝังศพของท่านศาสดา มีการแนะนำสถานที่ต่างๆ แต่ด้วยการยืนยันของท่านอะลี กล่าวคือ พระผู้เป็นเจ้าทรงประสงค์ให้ร่างของท่านศาสดาฝังในสถานที่ที่บริสุทธิ์ที่สุด พวกเขาทั้งหมดต่างเห็นพ้องต้องกัน และร่างของท่านศาสดาถูกนำไปฝังไว้ในสถานที่ที่ท่านเสียชีวิต (บ้านของเขาและสถานที่ที่ท่านหญิงอาอิชะฮ์อาศัยอยู่) (๕๖) อะบูอะบัยดะฮ์ ญัรรอห์ และซัยด์ บิน ซะฮ์ล์ (๕๗) เป็นผู้ขุดหลุมฝังศพและอะลี (อ.)ด้วยการช่วยเหลือของฟัฎล์ บิน อับบาส และอุซามะฮ์ บิน ซัยด์ ได้นำร่างของศาสดาฝังในหลุมฝังศพ (๕๘)
ปัญหาตำแหน่งผู้สืบทอด
สิทธิตำแหน่งผู้สืบทอด และการเป็นผู้นำในการปกครองบรรดามุสลิม หลังจากการวายชนม์ของศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) เป็นปัญหาที่สำคัญอย่างมากที่สุดและเป็นปัจจัยหลักในการสร้างความแตกแยกระหว่างชาวมุสลิมทั้งหลาย (๕๙)
ด้วยเหตุนี้เอง จึงเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งก่อนการวายชนม์ของท่านศาสดาและหลังจากการวายชนม์ของท่าน ถือเป็นเหตุการณ์ที่มีความละเอียดอ่อนอย่างมาก อีกทั้งยังมีการเมืองที่แอบแฝงอยู่ด้วย (๖๐)
บนพื้นฐานการวิเคราะห์จากแหล่งข้อมูลของชีอะฮ์ ถือว่า ศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) พยายามที่ยืนหยัดตำแหน่งเคาะลีฟะฮ์ของอิมามอะลี หลังจากที่มีการประกาศในเหตุการณ์เฆาะดีรคุม ขณะที่ฝ่ายต่อต้านต้องการที่จะให้การเป็นเคาะลีฟะฮ์ของอิมามอะลีออกห่าง ด้วยการเป็นสมาชิกในกองทัพของอุซามะฮ์ (๖๑( และมีพินัยกรรมสั่งเสียหลังจากตน (๖๒) ทั้งยังเน้นย้ำในฮะดีษอัษษะเกาะลัยน์ (๖๓)โดยมีการแนะนำตัวแทนหลังจากเขา (๖๔) และเป็นอุปสรรคไม่ให้อะบูบักร์นำนมาซในรูปแบบญะมาอะฮ์ (๖๕)
ตามรายงานทางประวัติศาสตร์ ระบุว่า วิสัยทัศน์ของบรรดาเศาะฮาบะฮ์ที่เกี่ยวกับปัญหาผู้สืบทอดตำแหน่งหลังจากศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) มีสองทัศนะด้วยกัน
กลุ่มหนึ่งกล่าวว่า ท่านศาสดาไม่ได้แต่งตั้งผู้ใดเป็นผู้สืบทอดของท่าน พวกเขาจึงไปรวมตัวที่ ซะกีฟะฮ์ บะนีซาอิดะฮ์ แล้วเลือกอะบูบักร์เป็นเคาะลีฟะฮ์ (๖๖)
อีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งส่วนมากมาจากเผ่าบะนีฮาชิม กล่าวว่า ตามคำกล่าวของท่านศาสดา เชื่อว่า ท่านศาสดาได้แต่งตั้งท่านอะลี เป็นผู้สืบทอดของท่าน ด้วยสาเหตุนี้ พวกเขาจึงไม่ให้คำสัตยาบันกับอะบูบักร์ ในช่วงเวลาหนึ่ง (๖๗)
ความแตกต่างของสองกลุ่มนี้ เป็นเหตุให้มีการปะทะกันในเมืองมะดีนะฮ์และมีการโจมตีบ้านของท่านอะลี อีกด้วย (๖๘)
ตามบางรายงาน ระบุว่า ท่านอะลีไม่ได้ให้คำสัตยาบันกับอะบูบักร์ จนกระทั่งท่านหญิงฟาฏิมะฮ์เป็นชะฮีด (๖๙)
รายงานจากหนังสือ ซะลีม บิน ก็อยส์ แบะแหล่งข้อมูลอื่นๆ ระบุว่า กลุ่มหนึ่งในช่วงการมีชีวิตของศาสดา สำหรับการกำหนดภารกิจของผู้สืบทอด ได้ทำสนธิสัญญาร่วมกัน ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวในแหล่งข้อมูลนี้ถูกเรียกว่า เศาะฮีฟะฮ์ มัลอูนะฮ์ (๗๐)
ผลงานประพันธ์
ในประเด็นการวายชนม์ของเศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) มีผลงานเขียนที่เป็นอิสระบางส่วนซึ่งส่วนมากเขียนโดยผู้เขียนชาวอะฮ์ลิสซุนนะฮ์ เช่น
วะฟาตุนนะบีย์ เขียนโดย อับดุลวาฮิด อัลมุซ็อฟฟัร เหตุผลการวายชนม์ ความเจ็บป่วยของศาสดา ระยะเวลาและสาเหตุของมัน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลาการวายชนม์ การจัดเตรียมและการฝังศพ และการไว้อาลัยให้ท่านศาสดา เป็นหัวข้อที่กล่าวถึงในผลงานนี้[๗๑]
วะฟาตุนนะบีย์ เขียนโดย เชคฮุเซน อัดดะรอซี อัลบะห์รอนี ซึ่งจัดพิมพ์โดยสถาบันอัลบะลาฆ ในกรุงเบรุต[๗๒]
วะฟาตุเราะซูลิลลฮ์ เมาฎิอิก็อบริฮี เขียนโดยนะบีล อัลฮะซะนี ซึ่งในผลงานนี้ เขาได้ชี้ให้เห็นว่า ศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) เสียชีวิตอย่างไร สถานที่ฝังศพของท่าน และความแตกต่างที่เกิดขึ้นระหว่างอัศฮาบในเรื่องนี้ (๗๓)
วะอัซมะลัต อัลมะดีนะฮ์ วะฟาตุนนะบี เขียนโดย นัซซาร อันนะลาวานี อัซเกาะลานี อับดุลกอดีร ได้รับการจัดพิมพ์ในกรุงเบรุต โดยดารุลมินฮาจ ปีที่ ๑๔๒๔ ฮ.ศ. (๗๔)
ซะลูตุลกะอีบ บิวะฟาติลฮะบีบ (ศ็อลฯ) เขียนโดย อิบนุ นาศิรุดดีน ค้นคว้าโดย ศอลิห์ ยูซุฟ มะอ์ตูก ผลงานนี้เกี่ยวกับเหตุการณ์หลังจากการวายชนม์และการไว้อาลัยให้ศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ ) โดยบรรดามะลาอิกะฮ์ การทำฆุซุลมัยยิตโดย ท่านอะลี บิน อะบีฏอลิบ และเกี่ยวกับประเด็นบุตรและภรรยาของศาสดา (๗๕)