ฆุซุลมัยยิต
ฆุซุลมัยยิต (ภาษาอาหรับ: غسل الميت) (การอาบน้ำให้คนตาย) ถือเป็นฆุซุลที่เป็นวาญิบ และการอาบน้ำให้ผู้ตายนั้นมีมารยาทอันเฉพาะเจาะจง
ฆุซุล(การอาบน้ำชำระร่างกาย)นี้ จะต้องกระทำด้วยกัน 3 ครั้ง 1.ฆุซุลด้วยน้ำผสมใบพุทรา 2.ฆุซุลด้วยน้ำผสมพิมเสน 3.ฆุซุลด้วยน้ำเปล่า
ในกรณีที่ไม่สามารถหาใบพุทราและพิมเสนได้ ให้กระทำฆุซุลมัยยิตด้วยน้ำเปล่าทั้ง 3 ครั้ง และในกรณีที่ไม่สามารถทำฆุซุลด้วยน้ำเปล่าได้ ให้ทำตะยัมมุมแทนฆุซุลมัยยิต
ฆุซุลมัยยิต สำหรับผู้ตายที่เสียชีวิตตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไปถือว่า เป็นวาญิบ แต่กรณีนี้ยกเว้น สำหรับมัยยิตที่เป็นชะฮีด ซึ่งสามารถนำศพของเขาไปฝังโดยปราศจากฆุซุลมัยยิตได้
ฆุซุลมัยยิต เป็นวาญิบกิฟาอีย์ และการรับค่าจ้างสำหรับฆุซุลนี้ เป็นการกระทำที่ต้องห้าม
ความสำคัญและสถานภาพ
ฆุซุลมัยยิต เป็นวาญิบกิฟาอีย์ หลังจากที่มุสลิมคนหนึ่งได้เสียชีวิต จะต้องมีผู้หนึ่งผู้ใดทำฆุซุลให้กับเขา และการนำศพของเขาไปฝังก่อนกระทำฆุซุล ถือว่าไม่อนุญาต(1) ด้วยเหตุนี้เอง ในสุสานต่างๆจึงมีสถานที่ไว้เฉพาะสำหรับการทำฆุซุลมัยยิต(2) ซึ่งเรียกสถานที่นั้นว่า สถานที่อาบน้ำมัยยิต(3) และเรียกผู้ที่อาบน้ำให้มัยยิตว่า ฆ็อซซาล หรือผู้ชำระล้างมัยยิต(4)
ในหนังสือฮะดีษและหนังสือฟิกฮ์ ได้มีบทหนึ่งที่เกี่ยวกับหลักการปฏิบัติสำหรับผู้ตาย(5) ในหนังสือวะซาอิลุชชีอะฮ์ ได้รายงานฮะดีษเกี่ยวกับฆุซุลมัยยิตถึง 175 ฮะดีษ (6) และในริวายะฮ์ที่เกี่ยวกับฆุซุลมัยยิต ถือว่า การทำฆุซุลให้มัยยิต จะเป็นสาเหตุทำให้ผู้ที่ทำฆุซุล ออกห่างจากไฟนรกและเขาจะได้รับนูร(แสงสว่าง)เพื่อที่จะเข้าไปในสรวงสวรรค์(7) และยังมีริวายะฮ์จากอิมามบากิร(อ.) ที่กล่าวว่า การทำฆุซุลมัยยิตที่เป็นผู้ศรัทธา จะเป็นสาเหตุให้ความผิดบาปที่ไม่ใช่บาปใหญ่จะถูกขจัดออกไปจากผู้ที่ทำฆุซุลถึง 1 ปี ด้วยกัน(8)
มัยยิต(ผู้ตาย) ก่อนที่จะทำฆุซุล ร่างกายของเขาเป็นนะญิซ และการสัมผัสศพของผู้ตาย หลังจากที่ร่างกายเย็น เป็นวาญิบที่จะต้องทำฆุซุลมัซซุลมัยยิต(การอาบน้ำเมื่อสัมผัสมัยยิต) แต่หลังจากที่ทำฆุซุลมัยยิตแล้ว ตัวของนะญิซได้ถูกขจัดออกไปและไม่เป็นสาเหตุที่จะต้องทำฆุซุลมัซซุลมัยยิต(9)
วิธีการ
ทารกที่ในครรภ์ที่แท้งแล้วเสียชีวิต หากอายุครรภ์ยังไม่ถึง 4 เดือน ไม่จำเป็นที่จะต้องทำฆุซุลมัยยิต แต่หากว่า มีอายุ 4 เดือนขึ้นไป จำเป็นที่จะต้องทำฆุซุลมัยยิต
ตามคำฟัตวาของบรรดามัรญิอ์ตักลีด จะต้องทำฆุซุลมัยยิต ด้วยกัน 3 ครั้ง
1.ฆุซุลด้วยน้ำผสมใบพุทรา 2.ฆุซุลด้วยน้ำผสมพิมเสน 3.ฆุซุลด้วยน้ำเปล่า
ฆุซุลมัยยิต ก็เหมือนกับฆุซุลประเภทอื่นๆที่จะต้องมีเนียต หลังจากนั้นให้ปฏิบัติตามด้วยการเรียงตามลำดับ โดยเริ่มจากศีรษะ ต้นคอ ร่างกายซีกขวาและหลังจากนั้นร่างกายซีกซ้าย (10)
ในกรณีที่ไม่สามารถหาใบพุทราและพิมเสนได้ ให้ทำฆุซุลมัยยิตด้วยน้ำเปล่า แต่มีทัศนะที่แตกต่างว่า จะต้องฆุซุลเพียงครั้งเดียว หรือ ฆุซุลทั้งสามครั้ง (11) และเช่นเดียวกัน ในกรณีที่ไม่สามารถทำฆุซุลด้วยน้ำได้ จะต้องทำตะยัมมุม แทนการทำฆุซุลมัยยิต และยังมีทัศนะที่แตกต่างระหว่างการทำตะยัมมุมเพียงครั้งเดียวหรือจำต้องทำตะยัมมุมทั้งสามครั้ง(12)
ข้อยกเว้น
ตามคำฟัตวาของบรรดาฟุกอฮาของชีอะฮ์ ถือว่า ชะฮีด(ผู้พลีชีพ) ที่เสียชีวิตในสมรภูมิรบ ไม่ต้องทำฆุซุลมัยยิต(13) แต่ทว่า สำหรับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บในสมรภูมิและเสียชีวิตหลังจากสงคราม จะต้องทำฆุซุลมัยยิตให้กับเขา(14)
ซัยยิดมุฮัมมัดกาซิม ฏอบาฏอบาอี ยัซดี ถือว่า ชะฮีดในสมรภูมิรบ คือ บุคคลที่ถูกสังหารในสนามรบโดยได้รับอนุญาตจากอิมาม ผู้บริสุทธิ์ หรือตัวแทนพิเศษของเขา และยังเป็นบุคคลที่ถูกสังหารเพื่อรักษาการดำรงอยู่ของอิสลามในยุคแห่งการเร้นกาย[15]
ผู้ที่ถูกตัดสินลงโทษด้วยการขว้างปาหิน ไม่จำเป็นต้องอาบน้ำฆุซุลมัยยิต หลังจากที่ถูกสังหาร แต่ก่อนหน้านี้ เขาจะต้องอาบน้ำฆุซุลตามพิธีกรรม [16]
ทารกในครรภ์ที่แท้ง ไม่จำเป็นต้องอาบน้ำฆุซุลมัยยิต ก่อนอายุสี่เดือน แต่หากทารกในครรภ์มีอายุได้สี่เดือน ก็จะต้องอาบน้ำฆุซุลมัยยิต [17]
บทบัญญัติอื่นๆ
ผู้ที่อาบน้ำฆุซุล เขาจะต้องเป็นมุสลิม เป็นชีอะฮ์อิมามสิบสอง เป็นผู้ที่บรรลุนิติภาวะและมีสติปัญญาครบถ้วน(18) และเช่นเดียวกัน หากผู้ตายเป็นผู้ชาย จะต้องให้ผู้ชายด้วยกันอาบน้ำฆุซุลมัยยิต และหากเป็นผู้หญิง ก็จะต้องให้ผู้หญิงเป็นผู้อาบน้ำฆุซุลมัยยิต(19) แน่นอนว่า กฏดังกล่าวนั้น ยกเว้นสำหรับบุคคลที่เป็นมะฮ์รอมทั้งสามีและภรรยา แม้ว่า จะเป็นที่ยอมรับตามหลักอิฮ์ติยาฏก็ตามว่า ในกรณีที่ไม่มีบุคคลเพศเดียวกัน สามารถที่จะอาบน้ำฆุซุลใต้เสื้อผ้าให้กันและกันได้อีกด้วย(20)
ตามคำฟัตวาส่วนมากของบรรดามัรญิอ์ตักลีด ถือว่า การรับค่าจ้างสำหรับการอาบน้ำฆุซุลมัยยิต เป็นที่ฮะรอม(ต้องห้าม) และตามฟัตวาของบางคนยังถือว่า ในกรณีที่อาบน้ำฆุซุลไม่มีเจตนาเพื่อแสวงหาความใกล้ชิดต่ออัลลอฮ์ การอาบน้ำฆุซุลนี้ เป็นโมฆะ และแน่นอนว่า การรับค่าจ้างสำหรับการจัดเตรียมอุปกรณ์และการทำความสะอาด ถือว่า เป็นที่อนุญาต (21)
สำหรับบุคคลที่ต้องโทษประหารชีวิต ก่อนที่จะถูกประหารชีวิต เขาต้องอาบน้ำฆุซุลมัยยิตด้วยตัวของเขาเอง และไม่จำเป็นที่จะต้องอาบน้ำฆุซุลมัยยิตให้กับเขา(22)
การอาบน้ำฆุซุลมัยยิต ในรูปแบบอิรติมาซีย์ ถือว่าไม่ถูกต้อง(23)
ก่อนการอาบน้ำฆุซุลมัยยิต จะต้องทำความสะอาดสิ่งที่เป็นนะญิซ ให้ออกจากร่างกายของเขา ซึ่งแน่นอนว่า การทำความสะอาดบางส่วนของร่างกายของเขา ก่อนที่จะอาบน้ำฆุซุลมัยยิต ถือเป็นการเพียงพอ(24)
ผู้ที่อาบน้ำฆุซุลมัยยิต จะต้องได้รับอนุญาตจากผู้ปกครอง(วะลีย์)ของผู้ตาย(25)
การอาบน้ำฆุซุลให้คนตายที่เป็นผู้ปฏิเสธ ถือว่า ไม่เป็นที่อนุญาต(26)
เป็นมุสตะฮับที่จะให้ศีรษะของผู้ตาย ควรสูงกว่าเท้าของเขา และร่างกายของเขาควรหันหน้าไปทางกิบละฮ์ เช่นเดียวกับในสภาวะใกล้ตาย[27] การเช็ดศพให้แห้งหลังจากอาบน้ำฆุซุลด้วยผ้าที่สะอาด
ผู้ที่อาบน้ำให้ร่างกายของผู้ตาย ควรกล่าวซิกร์และขออภัยโทษให้กับผู้ตาย ขณะอาบน้ำ และกล่าวประโยค รับบิ อัฟวะกะ อัฟวัก หลายครั้ง [28] หากผู้ที่อาบน้ำศพ เห็นว่ามีสิ่งผิดปกติ ก็ไม่ควรที่จะบอกใคร[29]
หากผู้ตายกลับมามีชีวิตอีกครั้ง หลังจากอาบน้ำฆุซุลแล้ว ฆุซุลของเขาไม่เพียงพอจากวุฎูอ์ [30]
การฆุซุลมัยยิตของบรรดาอิมาม(อ.)
ตามริวายะฮ์จำนวนหนึ่ง รายงานว่า อิมามหลังจากอิมามคนก่อน จะเป็นผู้ที่อาบน้ำฆุซลฺให้กับเขา (31)และในหนังสือฮะดีษในบทหนึ่ง กล่าวว่า อันที่จริงอิมามจะไม่ได้อาบน้ำฆุซลฺ เว้นแต่ อิมามด้วยกัน ซึ่งมีริวายะฮ์ที่เฉพาะในประเด็นนี้(32) หลังจากการเสียชีวิตของอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) อิมามฮุเซน จะย้อนกลับมา (ร็อจญ์อะฮ์) และเป็นผู้อาบน้ำฆุซลฺและนมาซมัยยิตให้อิมามมะฮ์ดี(อ.ญ.)(33)